กนอ.เล็งพื้นที่ตั้งนิคมฯ ใหม่ ใกล้แนวชายแดน ไม่ทับฟลัดเวย์
ผช.ผู้ว่าการ กนอ. ยันกำแพงรอบนิคมฯ ปรับปรุงจากเขื่อนกั้นน้ำเดิม ไม่กระทบชุมชน เผยนิคมฯ เกิดใหม่จะไม่ทับทางน้ำผ่าน วิศวกร สนข. ย้ำสร้างฟลัดเวย์ไม่ง่าย 1-2 ปีก็ไม่ทัน แจง canel street ปีนี้ทำทันครึ่งเดียว
เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.วนิดา ตันประเสริฐ ผู้ช่วยผู้ว่าการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวในเวทีเสวนา "ฟลัดเวย์ ความหวังการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืน" ที่จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ณ ห้อง Meeting Room 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า กำแพงกั้นน้ำที่การนิคมกำลังก่อสร้างรอบนิคมฯ และสวนอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี ในขณะนี้หลายนิคมฯ ได้เดินหน้าก่อสร้างไปแล้ว เป็นการทบทวนหรือปรับปรุงเขื่อนกั้นน้ำที่มีอยู่เดิม และผ่านการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) ทุกขั้นตอนครบถ้วนก่อนดำเนินการ ซึ่งจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง
ทั้งนี้ การนิคมฯ ได้พิจารณาแนวทางสำรอง หากเขื่อนกั้นไม่สามารถก่อสร้างเสร็จทันหรือรับน้ำไม่อยู่ จะแก้ปัญหาโดยการนำบิ๊กแบ๊กแบบใหม่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ในการสงคราม ซึ่งมีความแข็งแรงกว่าเดิม และสามารถเติมถุงทรายได้มาวางทับบนเขื่อนคันดิน ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นระดับหนึ่งแก่นักลงทุนต่างชาติ
น.ส.วนิดา กล่าวต่อว่า ในอนาคตการนิคมฯ มีแนวคิดที่จะดำเนินการทบทวนเกณฑ์การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ มีหลักว่านิคมฯ ที่จะเกิดขึ้นใหม่ต้องไม่อยู่ในแนวฟลัดเวย์ โดยจะออกไปอยู่ในแนวชายแดนไทยมากกว่า ไม่ให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่กระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม
ฟลัดเวย์ หายาก ชดเชยสูง จ่ายทุกตารางนิ้ว
ขณะที่ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ วิศวกรโยธาชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าในโครงการวางระบบระบายน้ำ สร้างฟลัดเวย์และซ่อมแซมประตูระบายน้ำ เพื่อรองรับการระบายน้ำและป้องกันปัญหาน้ำท่วมว่า ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมในช่วงเวลาสั้นๆ จากปลายปีที่แล้ว ซึ่งมีเวลาเพียงไม่กี่เดือนจะสร้างฟลัดเวย์ให้เสร็จสิ้นคงไม่ได้ วิศวกรกรรมทางหลวงและกรมทางหลวงทั้งหมดเมื่อลงไปในพื้นที่ก็ลำบากใจ เพราะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยความรวดเร็ว
"ฟลัดเวย์ที่หลายคนพูดถึงต้องใช้เวลานาน หากจะให้เสร็จ 1-2 ปี เป็นไปไม่ได้ หากพูดอย่างนั้นเป็นการโกหกผู้ฟัง เพราะฟลัดเวย์ธรรมชาติไม่มีแล้ว ถ้าจะทำต้องเวนคืน ซึ่งลำบากมากเพราะเพียงแค่กว้าง 35 เมตร ตลอดแนว 100 กิโลเมตรยังเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องใช้เวลาและการชดเชยที่สูง จ่ายทุกตารางนิ้ว"
ดร.พิเชฐ กล่าวถึงพื้นที่ปลายน้ำที่ สนข.ดำเนินการอยู่ โดยหลักเพื่อป้องกันพื้นที่ปลายน้ำ ที่รัฐบาลตั้งใจจะปกป้องได้วางไว้ว่าจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2555 และส่งมอบโครงการในเดือนมกราคม 2556
"ฝั่งตะวันออกและตะวันตกของนิคมอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่อยู่ในเขตปกป้องแล้ว ยกเว้นสหรัตนนคร ทั้งหมดจะใช้ถนนเดิมที่มีอยู่ยกระดับขึ้น โดยใช้ระดับน้ำปีที่แล้วบวกไปอีก 50 ซ.ม."
ฝั่งตต.แม่น้ำท่าจีนทั้งหมดต้องถูกท่วม
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า แนวฟลัดเวย์ที่คิดได้ขณะนี้ คือ แม่น้ำท่าจีน เป็นฟลัดเวย์ตามธรรมชาติ ที่ต้องไปสื่อสารว่าฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนทั้งหมดต้องถูกน้ำท่วม ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ริมคลองเคยชินอยู่ทุกปี ในส่วนที่จะยกระดับ คือ แนวคลองพระยาบันลือ คลองพระพิมลราชาและคลองมหาสวัสดิ์ เป็นกำแพงโดยธรรมชาติที่ห่างจากคลองพอสมควร ไม่ใช่กำแพงคอนกรีตริมแม่น้ำ
ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่บางบัวทองที่มีหมู่บ้านจำนวนมากนั้น วิศวกรโยธาชำนาญการ สนข. กล่าวว่า กรมชลประทานจะสร้างแนวคอนกรีตป้องกันน้ำท่วม และเนื่องจากฝั่งตะวันตกระบบระบายน้ำไม่ดี ได้เริ่มขยายขนาดคลองและขึ้นคันทาง เพื่อจัดทำ canel street 2 ตัวบริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 4 และ 5 มีคลองตรงกลางส่งน้ำเข้ามาประมาณ 60 คิวเซก แต่ทำไม่ได้ตลอดทั้งเส้น เพราะได้งบประมาณปี 2555 จัดทำได้ประมาณครึ่งหนึ่ง รองบประมาณปี 2556 เพื่อให้ครบตลอดเส้น ฉะนั้น ปีนี้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ หากมีน้ำเข้ามาก็ใช้ได้ แต่ยังไม่สมประโยชน์ตามที่ต้องการ
ส่วนฝั่งตกของแม่น้ำเจ้าเพระยาเป็นพื้นที่ อบจ.นนทบุรีทั้งหมดนั้น ซึ่งไม่ยินยอมดีให้ทำการก่อสร้างกำแพง ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ปัญหาการสื่อสารกับประชาชนยังแก้ไม่ได้ หากน้ำล้นอาจต้องใช้กระสอบทราย สำหรับฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากทำ แต่เนื่องจากมาไกลเกินไป ไม่สามารถจะสร้างได้ในชั่วข้ามคืน ปัญหาฝั่งตะวันออกถูกทิ้งไว้หลาย 10 ปี ฉะนั้น ช่วงระยะเวลาสั้นๆ สิ่งที่สามารถทำได้ คือ ทำถนนระหว่างแนวกั้นคลอง 13 และ คลอง14 ย้ายแนวคันพระราชดำริใหม่ใต้คลองรังสิต และย้ายประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ไปใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น