เพิ่มประสิทธิภาพ “ดร.สมิทธ” หนุนย้ายศูนย์เตือนภัยพิบัติ กลับสำนักนายกฯ
ปธ.กรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยฯ เผยศูนย์เตือนภัยควรอยู่ใกล้นายกฯ เพิ่มความรวดเร็วในการสั่งการและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแนะ ผอ.ศูนย์เตือนภัยฯ ต้องเป็นผู้มีความรู้เรื่องภัยพิบัติทุกสาขา
ดร.สมิทธ ธรรมสาโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวกับศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ ถึงแนวคิดของ นายปลอดประสพ สุรัสวดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่จะดึงศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้กระจายมีอยู่ 2 ขา ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษ นำกลับมาขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งหมดภายในปีนี้ ว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะจะได้อยู่ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี ทำให้การสั่งการเตือนภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทำได้เร็วขึ้น
ดร.สมิทร กล่าวว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติถูกตั้งขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีแนวคิดเพื่อให้ศูนย์เตือนภัยอยู่ใกล้ๆ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถสั่งการและดำเนินการได้สะดวก การช่วยเหลือประชาชนก็จะได้รวดเร็วทันใจ
“ช่วงนั้นที่ตั้งศูนย์เตือนภัยเป็นระบบใหญ่ มีระบบที่ดีมาก ซึ่งเป็นศูนย์เตือนภัยระดับภูมิภาค มีเครื่องมือ มีโครงการ และแผนงานใหญ่โต กระทั่งต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายของรัฐที่ก่อตั้งกับนโยบายของรัฐบาลถัดมาไม่ตรงกัน จึงมีการยุบศูนย์เตือนภัยให้เล็กลง และย้ายไปอยู่ในสังกัดกระทรวงอื่น ห่างไกลจากนายกฯ ดังนั้น การดูแล การบังคับบัญชา และการสั่งการจึงช้า เนื่องจากกว่าจะผ่านขั้นตอนมาถึงตัวนายกรัฐมนตรี ยิ่งเมื่อเกิดภัยกว่าเรื่องจะถึงตัวนายกฯก็ช้า และไม่ทันการแล้ว” ดร.สมิทร กล่าว และว่า ประเทศอื่นที่เจริญแล้ว ให้ศูนย์เตือนภัยและระบบเตือนภัยอยู่ภายใต้อำนาจของนายกฯ ซึ่งสามารถสั่งการช่วยเหลือและประกาศเตือนภัยได้ทันที
ดร.สมิทร กล่าวถึงระบบเดิมที่ทำไว้ มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากผู้บริหารศูนย์ฯ นั้นเป็นนักวิชาการจากทุกหน่วยงานมารวมกันไว้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรฯ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมอยู่ในศูนย์เตือนภัยฯ ฉะนั้นสั่งการคำเดียวทุกหน่วยงานพร้อมที่จะทำงาน แต่เมื่อศูนย์เตือนภัยฯ ถูกยุบให้เล็กลง บทบาทน้อยลง รวมถึงงบประมาณและกำลังพลด้วยนั้น ดังนั้น การจะทำอะไรที่ผ่านมาจึงต้องยืมมือคนอื่นมาช่วย
“ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยฯ ต้องหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีความรอบรู้เกี่ยวกับงานวิชาการหรือภัยธรรมชาติทุกสาขา ซึ่งในสมัยก่อนการสรรหา ต้องมีการทดสอบความรู้รวมถึงภาษาต่างประเทศด้วย แต่ปัจจุบันไม่มีการสอบ ใครที่อยู่ใกล้นักการเมืองอยากมาเป็นก็เป็นได้ ฉะนั้นเวลาที่จะออกคำเตือนหรือสั่งการก็ไม่กล้า เพราะต้องรอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้วิเคราะห์เสียก่อน การทำงานจึงเป็นไปอย่างล่าช้า”
ทั้งนี้ ดร.สมิทร กล่าวด้วยว่า ศูนย์เตือนภัยฯ เป็นเพียงระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องใช้พระราชกิจจานุเบกษาในการจัดตั้ง ฉะนั้นเพียงผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็สามารถที่จะย้ายได้ทันที