กรมชลฯ ปทุมธานี เล็งทำข้อตกลง กทม. ยอมรับน้ำในยามวิกฤต
อาจารย์ มธ. ชี้คนไม่มั่นใจการทำงานรัฐบาล หันพึ่งตนเอง แนะใช้หลัก ปชต.แบบมีส่วนร่วมในการบริหาร ผู้ว่าปทุมฯ เผยเร่งทำแผนรับมือน้ำท่วม 62 โครงการ ขุดลอก-กำจัดวัชพืช-ซ่อม 13 ปตร. จี้รัฐปรับการทำงานในยามวิกฤต
วันที่ 26 มีนาคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา “จังหวัดปทุมธานี กับการรับมือน้ำท่วม' 55” โดยมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการจัดการทรัพยากรน้ำ นายขจรศักดิ์ สิงโตกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และนายชูชาติ ศุภวรรธนางกูร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานปทุมธานี ร่วมเสวนา ณ ห้องสัมมนา 3 สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ.ศูนย์รังสิต
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวยอมรับม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สร้างขวางทางน้ำจากทางเหนือลงสู่ทะเล ฉะนั้นสิ่งที่ต้องคิดคือ จะต้องอยู่กับน้ำได้อย่างไร และจะนำน้ำไหลลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็วได้อย่างไร และรอบๆ มหาวิทยาลัยที่เคยเป็นคลองปัจจุบันก็ถูกถมที่ให้เป็นที่อยู่อาศัย ทางระบายน้ำก็ถูกบุกรุก ฉะนั้นความรับผิดชอบต่อสังคมต้องเกิดเพื่อผ่านสถานการณ์วิกฤต
“ขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุกคนสร้างเขื่อนกั้นกันหมด ซึ่งในส่วนของธรรมศาสตร์เองก็มีความคิดเช่นกันแม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยที่เรารอดแต่คนอื่นเดือดร้อน แต่หากพูดถึงในแง่ของความเสียหายหลายพันล้านบาททีเกิดขึ้น ก็ต้องอยู่ในภาวะที่ต้องป้องกันตัวเอง เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะจัดการอะไรบ้าง แต่ทั้งนี้การป้องกันและแก้ไขจะมองว่าจัดการเฉพาะตัวใครตัวมันก็คงไม่ได้ เพราะท้ายสุดแล้วก็จะเกิดความขัดแย้งในรูปแบบเดิม และก็จะไม่มีใครรอด”
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาหรือการจัดการคงต้องคิดในภาพรวมให้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่การรวมศูนย์ที่รัฐบาลหรือคณะกรรมการ กยน. เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการกระจายการทำงาน เช่น การรวมกันคิดในพื้นที่ที่เป็นเส้นทางน้ำผ่านว่าจะจัดการให้น้ำไหลลงทะเลอย่างรวดเร็วได้อย่างไร รวมถึงเจ้าของรับรู้และยินยอมให้พื้นที่ตนเป็นพื้นที่รับน้ำ ฉะนั้นเราเลี่ยงวิถีประชาธิปไตยไม่ได้ในการบริหาร และต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน
“ปัจจัยการพึ่งตนเองนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยที่ไม่ต้องรอภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ไม่เช่นนั้นสังคมจะกลายเป็นสังคมที่รอแต่ความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันประชาชนก็สามารถลงได้เลยในการเตรียมความพร้อม เพราะหากน้ำไม่ท่วม แต่ก็ยังมีวิกฤตอื่นที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์อีกมาก”
ด้าน รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาการบริหารจัดการและการบูรณาการมีปัญหา ยกตัวอย่างว่าในปี 2549 น้ำที่ผ่านจังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว แต่เราอยู่กันได้ในขณะที่ปีที่แล้วเราประสบปัญหาใหญ่ ซึ่งหากย้อนดูข้อมูลแล้วก็จะรู้ว่าเป็นเพราะเราทำตัวเอง ประเด็นหลักคือต่างคนต่างทำ ส่งผลให้งบประมาณบานปลายและต่อจากนี้คือ น้ำมานิดเดียวก็สามารถท่วมหนักได้
“ในส่วนของ กยน. ก็มีแผนออกมาว่า ฟลัดเวย์ขวาหรือฝั่งตะวันออก จะมีการขยายคลองชัยนาท-ป่าสัก ประมาณ 200 เมตร ขนานลงมากับคลองระพีพัฒน์ และคลอง 13 เพื่อลงทะเล แต่ฟลัดเวย์ซ้ายหรือฝั่งตะวันตกยังไม่ได้เคาะ เนื่องจากต้องหาทางเพื่อไม่ให้ผ่านชุมชน ทั้งนี้ในคณะกรรมการ กยน. เองก็ไม่ใช่ว่าความเห็นสอดคล้องกัน เรื่องต่างๆก็มีความเห็นที่ต่างกัน”
รศ.ดร.เสรี กล่าวต่อว่า ถ้าอีก 5 ปี รัฐบาลสามารถสร้างฟลัดเวย์ได้แผนระยะยาว ก็จะช่วยผันน้ำออกข้างละ 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งรับรองได้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมหนักอย่างนี้อีกแน่นอน แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ซึ่งรัฐบาลต้องให้ความมั่นใจ และต่อจิ๊กซอว์การจัดการในแต่ละพื้นที่ให้ติด เพื่อให้ได้ภาพรวมที่มีประสิทธิภาพ และไม่แน่ว่าการลงทุน 3.5 แสนล้านบาทอาจจะใช้เพียง 1.5 แสนล้านบาท แต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากัน
ด้าน นายชูชาติ กล่าวถึงแผนรับมือน้ำท่วมในปีนี้ ว่า ได้มีการทำประตูระบายน้ำเหนือคลอง 6 แล้วเพื่อตัดยอดน้ำที่จะเข้าจังหวัดปทุมธานี เข้าอำเภอหนองเสือ นอกจากนั้น กรมทางหลวงได้มีการวางแนวกั้นตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากจังหวัดนนทบุรีจนถึงแม่น้ำป่าสัก
“สำหรับแนวคิดคือ ยกคันถนนสูง 1-1.5 เมตร ตลอดแนวคันกั้นน้ำ ส่วนในบริเวณที่เป็นบ้านคน จะเว้นไว้และเสริมกระสอบทราย ซึ่งในส่วนที่น่าเป็นห่วงคือบริเวณเชียงรากและบางขัน เพราะยังไม่มีมาตรการรองรับ ทั้งนี้มีอุปสรรคเนื่องจากเป็นที่ดินของชาวบ้าน การจะเข้าไปทำงานอาจลำบาก”
นอกจากนี้ นายชูชาติ กล่าวด้วยว่า จะมีการบูรณาการแบบบังคับใช้ข้อตกลงกับสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานครเพื่อให้ยอมรับน้ำ ในกรณีที่น้ำในคลองชลประทานมีปริมาณมากและจำเป็นต้องปล่อยน้ำ ซึ่งต้องมีการข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย
ขณะที่ นายขจรศักดิ์ กล่าวถึงแผนป้องกันของจังหวัดปทุมธานีว่า ได้มีการเตรียมการจังหวัดเพื่อให้น้ำไหลลงทะเลอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางจังหวัดได้มีการเสนอโครงการให้กับรัฐบาลจำนวน 62 โครงการ งบประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งจะมีในส่วนของการขุดลอกคูคลอง การกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ การซ่อมประตูระบายน้ำ 13 ประตู ซึ่งจะให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
นอกจากนี้มีโครงการที่จะสร้างประตูน้ำเพิ่มอีกบานใกล้กับถนนติวานนท์ ซึ่งจะอยู่ระหว่างประตูน้ำจุฬาลงกรณ์กับปากคลองรังสิต เพื่อกั้นน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้ทะลักไหลเข้าประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ทั้งนี้ในการทำงานทั้งหมดต้องมีการประสานงานกับจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนปีที่ผ่านมา
“ขอความร่วมมือจากส่วนกลางว่า ในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตขอให้ส่วนกลางส่งกำลังคนมาช่วยในท้องที่ พร้อมกับเครื่องมือที่จะช่วยเหลือ ที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นแบบพิเศษ มิเช่นนั้นอาจไม่ทันการณ์”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดโครงการ “รักษ์ยูงทองงามเด่นเหนือนที” โดย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการคลัง กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายอย่างมาก เครื่องมือ อาคารและชุมชนโดยรอบก็ได้รับความเสียหาย แต่ก็ยังโชคดีที่รับเงินจากประกัน 1.3 พันล้านบาท และเงินจากรัฐบาลอีก 600 ล้านบาท แต่ยังต้องพัฒนาเพิ่มขึ้น จึงได้จัดโครงการนี้ เพื่อเป็นการระดมเงินทุนจากศิษย์เก่า ผู้มีจิตศรัทธา และองค์กรต่างๆ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูห้องเรียน และกายภาพของมหาวิทยาลัย