บริหารน้ำอย่าตื่นตระหนก “ดร.อภิชาติ” แนะมองระยะยาว แบ่งเค้กการใช้น้ำให้ชัดเจน
“อภิสิทธิ์” เฉ่งบริหารจัดการน้ำยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง - ปรามนักการเมืองอย่าป่วน-ทำแผนเขว ด้านเอ็นจีโอ ฉะ งบฯ 3.5 แสนล้านบาท ไม่มีรายละเอียดชัดเจน
วันที่ 21 มีนาคม ที่พรรคประชาธิปัตย์ จัดการเสวนาวิชาการ เนื่องในวันน้ำโลก (World Water Day) เรื่อง “จุดเปลี่ยนวิสัยทัศน์การบริหารจัดการน้ำประเทศไทย” โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้เราจะมีบทเรียนจากปีที่แล้วจำนวนมาก แต่วันนี้ภาพการเปลี่ยนแปลงในเชิงบริหารจัดการยังไม่ชัดเจนมากนัก ขณะที่การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ถ้าทำให้ครบถ้วนต้องใช้เวลามาก เพราะฉะนั้นโครงการระยะสั้นจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงความกังวลในเรื่องการบริหารน้ำในเขื่อนว่า ปีนี้มีการระบายน้ำไม่ให้เกิดความเสียหายอย่างปีที่แล้ว แต่กลับพบว่าอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาน้ำท่วม อีกทั้งการระบายน้ำให้อยู่ในระดับ 45% เท่ากับปีที่แล้ว ทั้งที่รัฐบาลพยายามบอกว่า น้ำท่วมเพราะเก็บน้ำไว้ที่ 45%
อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำ ควรต้องมีการจัดแบบจำลอง เพื่อประเมินขีดความสามารถในการรับน้ำ เมื่อน้ำออกทุ่งจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพราะปีที่แล้วเห็นชัดว่า หน่วยงานเราไม่คุ้นเคยกับสถานการณ์เช่นนี้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ เมื่อโครงสร้างขนาดใหญ่ยังไม่เสร็จ จึงต้องตัดสินใจในการกำหนดพื้นที่รับน้ำ ซึ่งสิ่งที่แปลกคือ การพิจารณาพื้นที่ต้องเริ่มจากเรื่องจริง ไม่ใช่ตั้งโจทย์ว่าต้องการให้ไปที่ไหน เพราะจะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ ทำได้ยากกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ ตนเห็นว่าพื้นที่รับน้ำนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับระบบบริหารจัดการให้น้ำเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ง่าย และเมื่อกำหนดกติกาได้แล้วจึงไปเจราจากับมวลชน
“การบริหารจัดการน้ำนั้นปีที่แล้ว การเมืองเข้ามาทำให้วุ่นวาย เพราะฉะนั้นปีนี้นักการเมืองอย่าไปทำให้ผิดแผน ไปเบียดให้ไปที่ที่ไม่ควรไป ซึ่งถ้าทำอย่างนี้ได้สังคมก็จะสบายใจ”
ขณะที่ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสาเหตุของน้ำท่วมปีที่แล้ว เนื่องจากปริมาณฝนมีมากและนาน การผันน้ำบริเวณชัยนาทเพื่อการเกษตร โครงการพื้นฐานในการป้องกันและระบายน้ำไม่เพียงพอ พัง อีกทั้งวิธีการมองน้ำยังไปยึดติดกับอดีต ระบบการเตือนภัยไม่ทันการณ์ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ทั้งในเชิงกายภาพ สังคมเศรษฐกิจ รามทั้งการเมือง เพราะต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น รัฐบาลมีปัญหาเรื่องระบบการรับประกันภัย
ส่วนการดำเนินการต่อจากนี้ รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า แผนในระยะเร่งด่วน การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การผันน้ำลงทะเลในกรุงเทพมหานคร ขณะที่รัฐบาลกับ กทม.ต้องตกลงกันมา กทม.จะรับน้ำมากสุดได้เท่าไหร่ ตรงนี้ก็ต้องร่วมกันตัดสินใจ ส่วนแผนระยะยั่งยืน การก่อสร้างโครงสร้างทั้งหลายต้องใช้ระยะเวลา ต้องผ่านกระบวนการการจัดทำอีไอเอ เอชไอเอ ทำให้บางโครงการต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่อย่างไรก็ตามถ้าดูจากแผนยั่งยืนจะพบว่า แผนต้นน้ำ จะฟื้นฟูป่าและการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อตัดยอดน้ำ แผนกลางน้ำ จะมีพื้นที่แก้มลิง ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยดูแล ขณะที่แผนปลายน้ำ จะการใช้ฟลัดเวย์หรือคาแนล สตีทเป็นออฟชั่นเสริม
“สิ่งเหล่านี้ชี้ว่า รัฐบาลมีแผนงาน ส่วนจะมีโครงการหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เนื่องจากรัฐบาลต้องจัดทำรายงานให้กับต่างประเทศ จึงมีความเร่งด่วนทางการเมือง ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศเห็นว่า ในเชิงโครงสร้างเรามีการเตรียมการอะไรบางอย่าง”
ดร.สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร หัวหน้ากลุ่มงานแบบจำลอง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากสถิติพบว่าแนวโน้มของฝนมีปริมาณค่อนข้างมากขึ้น ฝนตกผิดที่ผิดทาง ผิดฤดูกาล ขณะที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถคาดการณ์ฝนได้ 3-4 เดือน อีกทั้งยังบอกได้เพียงคราวๆ จะตกมาก ปกติ หรือน้อยเท่านั้น โดยจะนำข้อมูลที่ได้มาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ในอดีต
“การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ผู้ที่อยู่ต้นน้ำต้องเลิกเผาทำลายป่า เพราะการแก้ปัญหาเรื่องน้ำต้องมองภาพรวมทั้งระบบ ต้นน้ำ กลางน้ำทำได้ดี คนพื้นที่ตอนล่างก็ได้รับผลบุญ”
ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธา กล่าวว่า ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำนั้น ต้องใช้คนที่เป็นวิศวกรรมโยธาแหล่งน้ำเป็นหลักในการบริหาร อย่าปล่อยคนปลอดประสบประการณ์เข้ามาจัดการ เช่นเดียวกันในส่วนขององค์กรบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ไม่ใช่หมายความว่าให้นักการเมืองคนเดียวทำ แต่องค์กรดังกล่าวควรเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลต่างๆ อย่างไรก็ตาม แผนการบริหารจัดการน้ำของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ถือว่าสอบผ่าน 90% แต่ต้องทำรายละเอียดให้ชัด เอาวิชาการเป็น อย่าเล่นการเมืองหรือเอาอะไรเด๋อๆ ออกมา ซึ่งจุดนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการบริหารการจัดการน้ำอย่างแท้จริง
ด้าน ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในบ้านเราว่า ขณะนี้เป็นไปแบบตื่นตระหนกตกใจ มองแต่เฉพาะเรื่องน้ำท่วมเท่านั้น ทั้งที่การบริหารจัดการน้ำต้องมองภาพรวมและระยะยาว ขณะเดียวกันทุกรัฐบาลที่ผ่านมาพูดเรื่องน้ำหมด แต่การตัดสินใจการริเริ่ม หรือการที่เราจะผ่าวิกฤตไปได้ ผู้นำต้องมี political view ในการแก้ปัญหา ต้องมีวิสัยทัศน์ มุ่งมั่น อย่างไรก็ตามในเรื่องการบริหารจัดการน้ำนั้น บ้านเรายังติดอยู่ในวังวนของเรื่องภัยแล้ง น้ำท่วม ด้วยเพราะเหตุผลว่าประเทศเราประเทศเกษตรกรรม เกษตรกรเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุด ขณะที่ตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นปีที่แล้วมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท เป็นความเสียหายภาคการเกษตร 3 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นเราต้องมองภาพรวม เลิกหมกมุ่น
ดร.อภิชาติ กล่าวถึงข้อเสนอแนะว่า การบริหารจัดการน้ำเรื่องการจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในภาคต่างๆ ว่า เป็นเรื่องจำเป็น ต้องมีการแบ่งสมบัติในการใช้น้ำให้ชัดเจน จะใช้เพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม ระบบนิเวศน์ต้องทำให้ชัด
“การใช้งบประมาณในแต่ละปียังต้องมีการจัดทำแผนการใช้งบฯ เข้าสู่สภาฯ แต่น่าแปลกเรื่องการใช้น้ำ เราไม่เคยคิดว่าน้ำมีจำกัด ต้องทำงบประมาณประจำปีเช่นกัน ใครอยากใช้ก็ใช้ ปลูกข้าวปีละกี่ครั้งก็ได้ ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวก็ต้องใช้น้ำมากขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อทุกภาคส่วนใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ก็ควรต้องมองระยะยาว ทบทวนนโยบายการใช้น้ำ จัดสรรในแต่ละภาคส่วนให้ชัดเจน”
ส่วนนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ กล่าวว่า ในเรื่องของน้ำนั้น ชาวบ้านอยากมีส่วนร่วมในการคิด วางแผน ตัดสินใจ รวมทั้งอยากมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ แต่ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำยังขาดในมิติของการมีส่วนรวมไป อีกทั้งการประสานความร่วมมือ ยังกำหนดผ่านกระทรวงมหาดไทย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เชยมาก เพราะในระดับชาวบ้านมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ มีสภาเครือข่ายองค์กรชุมชน ซึ่งมีเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมมากกว่า
นายหาญณรงค์ กล่าวถึงการอนุมัติงบประมาณจำนวน 3.5 แสนล้านบาทในการบริหารจัดการน้ำว่า งบฯ ดังกล่าวมีจำนวนมหาศาล แต่แผนกลับไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ขณะที่การทุ่มเงินจำนวนมาก โดยระบุว่าน้ำจะมีโอกาสท่วมแค่ 0.1 % นั้น ก็ยังเป็นเรื่องนี้สังคมมีคำถามอยู่มากเช่นกัน