“ดร.รอยล” ชี้ “แผนที่น้ำตำบล” ช่วยจัดการภัยพิบัติทั่วประเทศ
นักวิชาการน้ำ ชี้แผนที่น้ำ 3,500 ตำบลทั่ว ปท.เสร็จปี 57 ช่วยแก้ภัยพิบัติปูพรมพื้นที่ โชว์ชุมชนเข้าถึง “มีเดียบ็อกซ์” บริหารจัดการน้ำได้เอง เอ็นจีโอแนะแก้ กม.ทับซ้อนให้ท้องถิ่นจัดการน้ำเองได้
ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ถึงโครงการพัฒนาภูมิสารสนเทศน้ำระดับตำบล ว่าได้รับงบประมาณจากรัฐบาล 20 ล้านบาท เพื่อสำรวจและจัดทำแผนที่น้ำของชุมชนทั่วประเทศ โดยนำร่อง 500 ตำบลปีนี้ในพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย ดินถล่ม ภัยแล้ง ปี 2556 อีก 1,200 ตำบล ปี 2557 อีก 2,300 ตำบล รวม 3,500 ตำบล ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำภาพถ่ายดาวเทียมธีออสซ้อนทับข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อความแม่นยำของแผนที่ และยังช่วยติดตั้งโปรแกรมภาษาไทยให้กับระบบ
ดร.รอยล กล่าวต่อว่า ข้อดีของการจัดทำแผนที่น้ำระดับตำบล ทำให้ค้นพบแหล่งน้ำธรรมชาติในประเทศไทยที่ไม่เคยอยู่ในสารบบมากขึ้น รวมถึงสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในชุมชนให้ทันกับสถานการณ์ภัยธรรมชาติ เป็นการแก้ปัญหาน้ำตั้งแต่ระดับฐานราก ทั้งนี้ยังมีระบบแจ้งสถานการณ์น้ำ (มีเดียบ๊อกซ์) เพื่อเตือนภัยธรรมชาติ ซึ่งชุมชนสามารถติดตามข้อมูลจากส่วนกลางผ่านหน้าจอโทรทัศน์ทุก 15 นาที–1 ชั่วโมง เช่น ลมมรสุม ดินถล่ม สถานการณ์น้ำลำคลองหรือทะเล
“เรามุ่งเน้นให้ท้องถิ่นสำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงภัยแล้ง น้ำท่วม เพื่อส่งข้อมูลมายัง สสนก.รวบรวมเป็นข้อมูลกลางแสดงผลในมีเดียบอกซ์ แล้วให้คนในท้องถิ่นศึกษาและบริหารจัดการเอง โดยมี สสนก.และหน่วยงานรัฐเป็นที่ปรึกษา คาดหวังให้ตำบลมีการบริหารจัดการน้ำโดยใช้แผนที่นี้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมให้พื้นที่ประสบความสำเร็จเป็นพี่เลี้ยงตำบลอื่นหรือสร้างเครือข่าย หนึ่งในนั้นคือพื้นที่นำร่องใน อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ และ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา” ผอ.สสนก. กล่าว
ดร.รอยล ยังเสนอว่าปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศมากกว่า 154 ล้านไร่ แต่อยู่นอกเขตชลประทานถึง 130 ล้านไร่หรือ 80% ซึ่งยังไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ดีพอ หากจะแก้ปัญหาถูกจุดต้องสร้างโครงการน้ำครบวงจร ภาครัฐส่วนกลางต้องกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นเต็มที่ให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้หัก 10% จากงบประมาณปีละ 4 แสนล้านบาทมาบริหารจัดการน้ำ
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลุ่มภาคฐานทรัพยากร กล่าวว่าโครงการจัดทำแผนที่น้ำระดับตำบลเป็นแนวคิดที่ดีหากสามารถสานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาการจัดการน้ำชุมชนยังขาดความต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทานและลุ่มน้ำขนาดเล็กถูกละเลยในการบริหารจัดการนายหาญณรงค์ ยังกล่าวว่า หากต้องการให้โครงการเกิดประโยชน์กับท้องถิ่นอย่างแท้จริง จะต้องส่งเสริมให้แต่ละพื้นที่บริหารจัดการด้วยตนเอง และคิดเรื่องงงบประมาณอื่นที่จะเข้ามาช่วยสานต่อโครงการในระยะยาวด้วย จึงจะไม่ใช่โครงการที่มีแต่แผนงานที่ดี แต่ปฏิบัติสำเร็จยากเหมือนที่ผ่านๆมา
“กังวลว่าหากมีการสำรวจและจัดทำแผนที่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการขัดต่อบทกฎหมายต่างๆที่ยังไม่บูรณาการเข้าหากัน ส่งผลให้ยากแก่การจัดการ เช่น กฎหมายป่าไม้” นายหาญณรงค์ กล่าว