"ปธ.สภาลุ่มน้ำท่าจีน" ชี้ แผนบริหารน้ำภาครัฐ ไม่ใช่เสื้อโหลตัดแล้วใส่ทั่วประเทศ
นายกฯ อบต. มั่นใจมีศักยภาพจัดการน้ำท่วม เชื่อให้ท้องถิ่นขุดลอกคูคลอง ใช้งบน้อยกว่าส่วนกลางกำหนด ด้าน ปธ.สภาลุ่มน้ำท่าจีน ระบุ แผนบริหารจัดการน้ำต้องคำถึงถึงระบบนิเวศเป็นสำคัญ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานปฏิรูป และมูลนิธิเอสซีจี นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่บางระกำ-ทวีวัฒนา และอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรับฟังแนวทางการบริหารจัดการน้ำจากเครือข่ายภาคประชาชน
เมื่อเดินทางถึงพื้นที่ตำบลบางระกำ จังหวัดนครปฐม นายณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางระกำ กล่าวถึงภาพรวมของตำบลบางระกำว่า เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่ปริมาณน้ำในปีก่อนมากกว่าปกติ จนกระทั่งไม่สามารถสัญจรได้ อบต. จึงเข้าไปมีบทในการจัดการภาวะวิกฤต ทั้งเรื่องการตั้งศูนย์อพยพ การทำอาหารแจกให้กับผู้ประสบภัย นอกจากนี้ยังร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นกู้วิกฤตน้ำ ไม่เช่นนั้นสถานการณ์น้ำคงลากยาวไปกว่านี้
นายณัฐวัฒน์ กล่าวถึงศักยภาพของ อบต.ในการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำในปี 2555 ว่า อบต. มีความพร้อมที่จะดำเนินการในหลายเรื่องด้วยตนเอง อาทิ การขุดลอกคูคลอง การจัดเก็บผักตบชวา สวะต่างๆ และยังเชื่อว่า จะสามารถบริหารจัดการได้ ภายใต้งบประมาณที่น้อยกว่าส่วนกลางกำหนด หากภารกิจนั้นมีการถ่ายโอนมาที่ท้องถิ่น
ด้านนายกมล เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานสภาลุ่มน้ำท่าจีนนครปฐม กล่าวถึงข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ปัญหาลุ่มน้ำจีนอย่างยั่งยืนว่า จะต้องมีการพัฒนาศักยภาพของแม่น้ำท่าจีนให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ จัดการใต้น้ำ เช่น ขุดลอกคูคลอง รวมถึงสร้างพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้การดำเนินการต่างๆ นั้นต้องคำนึงถึงระบบนิเวศเป็นสำคัญ
ขณะที่การกำหนดแผนของส่วนกลางนั้น นายกมล กล่าวว่า จะนั่งดูแผนที่อย่างเดียวไม่ได้ ต้องลงไปดูพื้นที่หน้างานด้วย เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการแตกต่างกัน ฉะนั้น ไม่ใช่ตัดเสื้อโหลแล้วใส่กันทั้งประเทศ
จากนั้นคณะฯ เดินทางต่อไปยังพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อติดตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน โดยใช้คลองแนวดิ่งและคลองธรรมชาติในการกระจายน้ำ ผลักดันน้ำลงสู่ทะเล
นางสาวชุติมา น้อยนารถ สมาชิกสภาลุ่มน้ำท่าจีน กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชน สภาลุ่มน้ำท่าจีนและกลุ่มอาสาพาน้ำลงทะเล ร่วมมือกันดูแลบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน โดยกลุ่มของตนนั้นจะดูแลรับผิดชอบพื้นที่บริเวณนครชัยศรีถึงสามพราน และเมื่อน้ำเข้าสู่พื้นที่ตอนล่าง ก็จะมีเครือข่ายอาสาดูแลต่อ
“การเข้ามาวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนนั้น หวังจะเพิ่มช่องทางในการน้ำนำสู่ทะเล เพราะถ้าน้ำลงทะเลได้เลย ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นน้อย โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรในจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีมูลค่าสูง”
ด้านนางสาววิภารัตน์ เอื้อพิทักษ์ กลุ่มอาสาพาน้ำลงทะเล ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงหลักการในการพาน้ำสู่ลงทะเลว่า ตามที่ศึกษาจากคำสอนของผู้เฒ่าผู้แก่พบว่า หัวใจสำคัญคือต้องมีการดึงน้ำในพื้นที่ตอนล่าง หรือบริเวณปากอ่าว เพื่อให้น้ำทางตอนบนไหลลงมาได้อย่างสะดวก แต่ปัญหาที่พบคือ น้ำทางพื้นที่ตอนบนไม่ไหลเข้ามาทางเติมในพื้นที่ตอนล่าง ซึ่งขณะนี้ก็พยายามหาสาเหตุอยู่
อย่างไรก็ตาม นางสาววิภารัตน์ กล่าวถึงความพยายามในการผลักดันให้ประชาชนในพื้นตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมตัวป้องกันน้ำท่วมด้วยว่า การทำงานต้องชี้ให้เห็นถึงความเสียหายของน้ำท่วม และถ้าไม่อยากนั่งรอถุงยังชีพ ก็ต้องลุกขึ้นมาร่วมมือกันช่วยเหลือตนเอง
“ที่ผ่านมาคนไทยถูกปลูกฝังให้นั่งรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ จะทำอะไรก็เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่เมื่อภาวะผู้นำในปัจจุบันเปลี่ยนไป จากผู้นำทางจิตวิญญาณกลายเป็นผู้นำทางการเมือง การมีส่วนร่วมจึงเป็นเรื่องสำคัญ”