“ราษฎรรักษ์ป่า” เตือน “กิตติรัตน์” ใช้ปัญญาแก้ไขน้ำท่วม-น้ำแล้ง
“ราษฎรรักษ์ป่า” เชื่อ สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง ระบุ เป็นการใช้อำนาจ-ผลาญงบทำลายป่า เตือน “กิตติรัตน์” ใช้ปัญญาแก้ปัญหา
จากกรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาผลักดันให้เขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นเรื่องเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งนั้น
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า” จังหวัดแพร่ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวว่า สะท้อนถึงความไม่เข้าใจในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คิดแต่เรื่องการใช้เงินมหาศาล สร้างโครงการเม็กกะโปรเจ็ก เพื่อต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน แต่การกู้เงินเพื่อทำลายป่ากว่า 50,000 ไร่ จะสร้างความหายนะให้กับทรัพยากรธรรมชาติ นำไปสู่ปัญหาโลกร้อน การเกิดภัยพิบัติต่างๆ
ข้อเท็จจริงที่นายกิติรัตน์ไม่ได้พูดถึงคือ แม่น้ำปิงมีเขื่อนภูมิพล ความจุประมาณ 13,000 ล้าน ลบ.ม. แม่น้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์ ความจุประมาณ 9,000 ล้าน ลบ.ม. ยังปล่อยน้ำท่วมกรุงเทพฯ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริงอย่างที่กล่าวอ้าง ขณะที่เขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น มีความจุประมาณ 1,175 ล้าน ลบ.ม. สามารถช่วยกักน้ำได้ ประมาณ 600 ล้าน ลบ.ม. หรือ 45% ตามเงื่อนไขการรักษาระดับน้ำของเขื่อนเท่านั้น เขื่อนแก่งเสือเต้นจึงช่วยให้ปริมาณน้ำลดลงได้เพียงขนหน้าแข้ง ถามว่า คุ้มหรือไม่กับการทำลายป่ากว่า 50,000 ไร่ และผลาญงบประมาณแผ่นดิน 12,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังมีงานวิจัยขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the Uniteds Nations: FAO) ที่ระบุว่า เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถเยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8% รวมทั้งการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีที่ชี้ชัดว่า บริเวณพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก นั่นคือ รอยเลื่อนแพร่ ที่ยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ จึงเป็นความเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนในบริเวณดังกล่าว เปรียบเสมือนเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านตนเอง เนื่องจากสันเขื่อนที่สูงจากท้องน้ำถึง 72 เมตร หากมีการแตกหรือพังทลายจะส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์ได้ นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ระบุว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน
ทั้งนี้ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า เห็นว่า การผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นแต่เพียงการใช้อำนาจและเงินในการทำลายป่า ผลาญงบประมาณแผ่นดิน ผลาญทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเอาใจนักลงทุน ดังนั้น กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า จึงขอให้นายกิติรัตน์ ได้ใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา ทบทวนและยุติการกู้เงินมาทำลายป่า รวมทั้งยุติการสนับสนุนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อย่างเช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน ผลักดันการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการ 25 ลุ่มน้ำต่อไป
อย่างไรก็ตาม กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ได้ยื่นข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยมอย่างยั่งยืนต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้ว 2 ครั้งคือ เดือนกันยายน 2554 ระหว่างตรวจเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วม จ.แพร่ และการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.เชียงใหม่ในเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีดังนี้ 1.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตลอดจนกำหนดให้การฟื้นฟูป่าต้นน้ำเป็นวาระแห่งชาติ 2.ผลักดันการจัดการน้ำชุมชน ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ
3.ผลักดันให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดกลางประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม4.ผลักดันการกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ 5.ขุดลอกตะกอนแม่น้ำ ทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน 6.ฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม 7.จัดระบบชลประทานในลุ่มแม่น้ำยมให้มีประสิทธิภาพ 8.พัฒนาระบบประปา 9.สนับสนุนให้เกิดการฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ บ่อ หรือ สระน้ำในไร่นามากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น