นายกฯ สั่งกรมชลฯ ระบายน้ำในเขื่อน เตรียมรับมือสถานการณ์
นายกรัฐมนตรี ระบุ แผนบริหารน้ำปี 55 พื้นที่ขวางทางน้ำ ต้องเปิดทางให้น้ำไหลลงคลอง ทั้งฝั่งตะวันออก-ตะวันตก ย้ำ ต้องหาพื้นที่แก้มลิง 2 ล้านไร่รับน้ำ
วันที่ 31 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงมาตรการระยะสั้นในการรับมือกับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า จะต้องดำเนินการไล่ตั้งแต่การระบายน้ำ ซึ่งได้สั่งให้กรมชลประทานระบายน้ำในเขื่อนแล้ว ขณะที่การเตือนภัยได้มอบหมายให้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมข้อมูลสำหรับการเตือนภัย ซึ่งกำลังจะมีแผนออกมา ทั้งนี้ เพื่อแจ้งเตือนข่าวสารสำหรับประชาชน ส่วนการระบายน้ำลงสู่คูคลองได้สั่งให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบในการขุดลอกท่อคูคลอง คาดว่าจะดำเนินแล้วเสร็จทันก่อนที่หน้าฝนจะมา
ขณะที่การระบายน้ำและการจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะต้องมีการจัดทำพื้นที่แก้มลิงให้มากเพียงพอ สำหรับระบายน้ำลงสู่แก้มลิง ทั้งนี้ จะดำเนินการขุดลุ่มน้ำหรือแก้มลิงควบคู่ไปกับการหาพื้นที่รับน้ำ ซึ่งหากได้พื้นที่ที่ชัดเจนรัฐบาลจะประกาศให้ทราบ อย่างไรก็ตาม การขุดแก้มลิงอาจจะไม่แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพราะพื้นที่รับน้ำที่ได้มีการพูดคุยกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) รัฐบาลต้องหาพื้นที่รับน้ำประมาณ 2 ล้านไร่ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงแนวคันกั้นน้ำต่าง ๆ
"ปีที่ผ่านมาทุกจังหวัดล้วนปกป้องแต่จังหวัดของตนเอง ฉะนั้น ในวันนี้พื้นที่ที่ขวางทางน้ำคงต้องเปิดทางให้น้ำไหลผ่านลงคลอง ทั้งปลายฝั่งตะวันออกและตะวันตก" นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า ทั้งนี้ ในระดับพื้นที่ได้ย้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับการเตรียมแผนการเตือนภัยและปกป้องในทุกจังหวัด การปรับระดับน้ำจะต้องศึกษาถึงปริมาณน้ำขั้นต่ำสุดที่สามารถรับได้ โดยคำนึงถึงการเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งเพื่อการเกษตรและการระบายน้ำเป็นหลัก ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้งนั้นจะดำเนินการตามมาเป็นลำดับ
ส่วนการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทที่ยังมีปัญหาอยู่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งเยียวยาให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับเงินเยียวยาอย่างรวดเร็ว และจะมีทีมงานของสำนักนายกรัฐมนตรีตรวจสอบจำนวนที่แจ้งมา
"จังหวัดใดเหลือมากที่สุดจะมีคณะกรรมการติดตาม เร่งจ่ายค่าเยียวยาให้ครบถ้วน โดยจะประสานงานไปทางผู้ว่าราชการจังหวัดให้ประสานงานต่อไปยังท้องถิ่น เพื่อให้มีการสำรวจโดยเร็วที่สุด ประชาชนจะได้ไม่เดือดร้อน"