ป่าต้นน้ำ ถูกบุกรุกด้วยพื้นที่เกษตร “ดร.สมบัติ” ชี้เหตุคนได้ความรู้ไม่ครบถ้วน
“กรรมการ กยน.” ระบุ พื้นที่ป่าเหลือน้อยเต็มที่ เหตุเสียดินแดนให้กับพื้นที่การเกษตร หวั่น อนาคตกระทบความมั่นคงทางอาหาร เสนอคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน-ให้ความรู้ในการเพาะปลูก
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ดร.สมบัติ อยู่เมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “เกษตรอินทรีย์กับการปรับตัวท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อม” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า การมองทุกอย่างต้องมองเชิงระบบ มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับพื้นที่ เพราะจะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติได้ และหากมองระบบการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย จะพบว่า ในภาพรวมแบ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งจากการลงพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำน่านพบว่า วิถีเกษตรในปัจจุบัน ไม่ใช้ระบบนิเวศเป็นตัวนำ ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำในบริเวณดังกล่าว ถูกบุกรุกและแทนที่ด้วยพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก ขณะที่ต้นไม้หายไปจนภูเขาเกือบจะหัวโล้นแล้ว
“ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของชาวเขา หรือชาวเรา แต่ถ้าต้นน้ำไม่ได้รับการดูแล ทำให้ระบบนิเวศยั่งยืนอย่างแท้จริง ในระยะยาวลูกหลานจะลำบากมากต่อการมีอาหารที่ยั่งยืน ทั้งนี้ เพราะเราเร่งผลิตทุกอย่าง จนละเลยธรรมชาติ”
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว ดร.สมบัติ กล่าวว่า คงต้องย้อนกลับมาดูแลเรื่องการใช้ประโยชน์ของที่ดิน เพราะขณะนี้พื้นที่ป่าเหลือไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยพื้นที่การเกษตร ขณะเดียวกันจะต้องมีการให้ความรู้กับพื้นที่อย่างครบแพ็คเก็จ เพราะถ้าให้ความรู้ไม่ครบถ้วน หรือส่งเสริมเฉพาะบางเรื่อง ก็จะพบเห็นการปลูกข้าวโพด ข้าวบนภูเขาสูง ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็จะเกิดเป็นปัญหาผูกโยง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่าง
“ที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าพื้นที่ตรงไหนก็สามารถใช้ทำการเกษตรได้ ทำให้บ้านเราเสียดินแดนให้กับพื้นที่เกษตรไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ต้องให้ความรู้ความเข้าใจต่อสังคมว่า การใช้ที่ดิน พื้นที่ต้นน้ำเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การเข้าใจธรรมชาติ จำเป็นต้องมีคลังความรู้ที่สามารถหยิบข้อมูลไปใช้ได้ทันที”ดร.สมบัติ กล่าว