เลขาฯ กยน.กางปฏิทินโชว์เอกชน ขีดเส้นคลอดแผนบริหารจัดการเขื่อน-พท.รับน้ำนอง
“ดร.โสภณ” ลั่นป้องกันน้ำท่วม ไม่ใช่ของฟรี แนะเก็บภาษีน้ำท่วม ด้านนักธุรกิจ เผยรง.หลายแห่งยังไม่เดินเครื่องจักร เหตุกังวลถานการณ์น้ำปี 55 พร้อมถามหาความชัดเจนแนวทางป้องกัน เริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ หน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพ
วันที่ 25 มกราคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ มีการจัดเสวนาเรื่อง “เจาะลึก 6 มาตรการเร่งด่วนบริหารจัดการน้ำ” โดยนายมังกร ธนสารศิลป์ รองประธานคณะทำงานอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานการลงทุนและตลาดทุน กล่าวถึงปัญหาของภาคอุตสาหกรรมในขณะนี้ว่า มีความกังวลในเรื่องของสถานการณ์น้ำ ปีนี้จะท่วมอีกหรือไม่ โรงงานหากจะอยู่ในพื้นที่เดิมจะต้องมีวิธีการอย่างไร กำแพงหรือเขื่อนควรสูงแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมมีแต่แผนป้องกันไฟ สารเคมีรั่วไหลเท่านั้น ต่อไปคงต้องมีแผนหนีน้ำด้วย
“โรงงานบางส่วนในขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการฟื้นฟูมากนัก เนื่องจากรอความชัดเจนในเรื่องการป้องกันต่างๆ อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องของแรงงาน ขาดช่างที่จะเข้ามาซ่อมแซมเครื่องจักร การแก้ปัญหาในกรณีของโรงงานที่มีบริษัทแม่ในต่างประเทศ จึงใช้วิธีส่งกลับไปให้บริษัทแม่ผลิต เพื่อรักษาลูกค้า” นายมังกร กล่าว และว่า สำหรับแผนการจัดการน้ำเร่งด่วนของรัฐบาลขณะนี้เกิดคำถามว่า แต่ละแผนจะดำเนินการเมื่อไหร่ หน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพ ภาคธุรกิจจะได้วางแผนดำเนินการต่อไปได้ นอกจากนี้ในรายละเอียดของการดำเนินงานต่างๆ นั้น จะต้องมีการสื่อสารที่ดี ต่อเนื่องเป็นระยะ
สำหรับในเรื่องของกองทุนประกันภัย ที่รัฐกำหนดให้มีทุนประเดิม 50,000 ล้านบาทนั้น นายมังกร กล่าวด้วยว่า ยังไม่เพียงพอ รัฐควรขยายกรอบวงเงินให้ถึง 20,000 ล้านบาท เพราะตัวเลขดังกล่าวเป็นแค่การกำหนดกรอบวงเงินเฉยๆ แต่ทั้งนี้ จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นได้
ขณะที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมว่า จะต้องมีการสร้างฟลัดเวย์ ขุดแม่น้ำเจ้าพระยาสายที่ 2-3 เพื่อเพิ่มช่องทางในการผลักดันน้ำลงสู่ทะเล สร้างเขื่อนบริเวณโดยรอบใจกลางเมือง ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ส่วนการน้ำพื้นที่น้ำท่วมเป็นประจำมาทำเป็นพื้นที่รับน้ำและจ่ายค่าชดเชยนั้น อาจเป็นการเสียค่าโง่ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพื้นที่เมือง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง ต้องมีการลงทุนก่อสร้าง การเก็บภาษีน้ำท่วมจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะคนที่ไม่ถูกน้ำท่วมต้องจ่ายหนัก
“อัตราการเก็บภาษี อาจกำหนดเงินไว้ที่เดือนละ 1,000 บาท ในลักษณะเช่นเดียวกับการจ่ายค่าเก็บขยะเป็นประจำทุกเดือน เพราะอยู่ดีการป้องกันน้ำท่วมจะไปได้ของฟรีคงไม่ได้”ดร.โสภณ กล่าว และว่า สำหรับในเรื่องของราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์นั้น พบว่า ในพื้นที่บางบัวทอง ราคาคงไม่ตก เพราะจะมีการรถไฟฟ้าสายสีม่วง อีกทั้งยังพบว่าราคาที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้น 10% ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาในปีนี้ก็ขยับเพิ่มขึ้นอีก 10% เช่นกัน
นายชูลิต วัชรสินธุ์ กรรมการบริหาร บริษัท ปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า ในปัจจุบันปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่เราไม่เคยพูดถึงกันเลย คือเรื่องการบุกรุกลำน้ำ ดังนั้น ภาครัฐจะดำเนินการอย่างไร เพราะขณะนี้ทุกคลองมีเจ้าของทั้งหมด ส่วนในเรื่องของการใช้งบประมาณนั้น บ้านเรายังมีความผิดพลาด เนื่องจากการใช้งบประมาณเน้นในเรื่องของการสร้างมากกว่าการบำรุงรักษา
ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการ กยน. และผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมาพบว่า โครงสร้างต่างๆ สามารถทำงานได้เพียงแค่ 40% โจทย์ของเราคือ ทำอย่างไรให้โครงสร้างทำงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 80% อีกทั้งจะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อรองรับอัตราการไหลของน้ำ 6,000 ลบ.ม.ต่อวินาทีที่ไหลบ่าเข้ามาในพื้นที่ภาคกลาง ทั้งนี้ แม้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ยังระบุถึงทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยในอีก 4 ข้างหน้า ที่เน้นการพัฒนาโครงสร้าง พัฒนาระบบเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง ดังนั้น ถึงเวลาต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ดร.รอยล กล่าวถึงพื้นที่น้ำท่วมในปีที่ผ่านมาว่า มีพื้นที่ทั้งสิ้น 80 ล้านไร่ หากทุกคนแก้ปัญหาด้วยการสร้างคันกันน้ำทั้งหมด โดยไม่มีการระบายน้ำออก หรือเบี่ยงน้ำควบคู่ไปด้วย แม้ในปีนี้น้ำจะมีปริมาณน้อยกว่าเดิม แต่ความรุนแรงที่ไหลบ่าลงมา หากบางโฉมศรีไม่แตก ชัยนาท อยุธยา ปทุมธานีไม่แตก ถามว่าใครจะแตก ดังนั้น ในเรื่องแผนผังเมือง หากมองแต่เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยไม่คำนึงถึงแผนผังความสูงต่ำของพื้นที่ การบริหารน้ำก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้
“การบริหารน้ำนั้น หากจะไม่มีการผ่านนำเข้าในพื้นที่กรุงเทพฯเลย คงเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งหากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีจะพบว่า น้ำที่จะเข้าท่วมกรุงเทพมีปริมาณเพียง 200 ลบ.ม.เท่านั้น โดยในพื้นที่ตอนบน เช่น บึงบอระเพ็ด ที่มีพื้นที่ลดลงจาก 100,000 กว่าไร่ เหลือเพียง 30,000 ไร่ เราจะแก้ไขอย่างไรเพื่อน้ำมาใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ขณะที่พื้นที่แก้มลิงบริเวณทุ่งรังสิต ตั้งแต่คลอง 7-13 ซึ่งยังเป็นพื้นที่ร่องสวนอยู่ จะบริหารน้ำออกน้ำเข้าอย่างไร ที่ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ นอกจากนี้การบริหารน้ำโดยแบ่งน้ำไปทางท่าจีน การใช้คลองแนวดิ่งก็ช่วยกระจายน้ำออกไปในทิศทางต่างๆได้ ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาเราผ่านให้น้ำผ่านเข้ามาในคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองบางซื่อเพียง 100 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น ขณะที่ขีดความสามารถอยู่ที่ 300 ลบ.ม.ต่อวินาที ในทัศนะส่วนตัว จึงอยากให้น้ำผ่านน้ำเข้ามามากขึ้น”
ทั้งนี้ ดร.รอยล กล่าวด้วยว่า การบริหารที่ดีนั้น คือการบริหารที่ใช้เงินน้อย เพราะจะทำให้เกิดความประณีตมากขึ้น อีกทั้งการแก้ปัญหาเรื่องน้ำทุกครั้ง มักมองไปที่กรมชลประทาน ทั้งที่ลืมไปว่า พื้นที่เกษตรทั้งหมด 154 ล้านไร่ทั่วประเทศ เป็นพื้นที่ชลประทานแค่ 27 ล้านไร่เท่านั้น การแก้ปัญหาเรื่องน้ำต้องแก้ปัญหาในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งมีพื้นที่เกือบ 80%
ส่วนนายวิเชียร ชวลิต เลขาธิการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวถึงแผนระยะยาวของ กยน. ว่า จะต้องมีการควบคุมน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม โดยจะต้องมีอ่างเก็บน้ำ แหล่งเก็บน้ำเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่าง แต่จะสร้างเป็นอะไรนั้น จะต้องนำไปศึกษาอีกครั้งว่า วิธีใดจะสามารถบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมได้ ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้น ในปี 2555 มีทั้งสิ้น 6 แผนงาน อาทิ ซ่อมแซมประตู สร้างคันกั้นน้ำ อาคารบังคับน้ำ ขุดลอกคูคลอง ซึ่งโครงการที่มีแบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รัฐจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ทันในปีนี้ ส่วนที่ไม่ทันจะนำไปบรรจุไว้ในแผนระยะยาว นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบริหารจัดการระบบระบายน้ำที่เชื่อมโยงทั้งประเทศ ระบบเตือนภัย คลังข้อมูล รวมถึงการกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้ที่กระทรวงเกษตรฯ ไปพิจารณา
“การบริหารจัดการน้ำนั้น จะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรต่างๆ มากขึ้น เช่น การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่อไปต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ขณะที่คันกันน้ำที่มีผลกระทบต่อประชาชนรอบๆ พื้นที่กรุงเทพฯ กยน. ก็มีแนวคิดที่ขยับแนวป้องกันน้ำท่วมขึ้นไปเหนือบริเวณชุมชนที่มีประชากรอยู่หนาแน่น” นายวิเชียร กล่าว และว่า สำหรับแผนบริหารจัดการเขื่อนนั้น จะได้ข้อสรุปในเดือนมกราคม ส่วนแผนอื่นๆ อาทิ แผนพื้นที่รับน้ำนอง แผนเผชิญเหตุนั้น จะได้ข้อเสนอในเดือนมีนาคม ซึ่ง กยน.จะรับข้อสรุปดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง ก่อนที่จะอนุมัติ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น จะนำเสนอให้ประชาชนรับทราบต่อไป