คปท. ร้องสภาทนายความ ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนแบบจำลองค่าเสียหายคดีโลกร้อน
ชาวบ้านบ่นอุบ ถูกรัฐฟ้องคดีโลกร้อนเหยียบล้าน ทั้งที่ชีวิตไม่เคยจับเงินแสน ด้าน ปธ.กก.สิทธิฯ สภาทนาย ชี้ แบบจำลองค่าเสียหายคดีโลกร้อน ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ-ควรยกเลิก เผย รับเรื่องไว้ดำเนินการต่อไป เหตุเป็นสิทธิชุมชนตาม รธน.
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่สภาทนายความ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ร่วมกับเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายฯจากจังหวัดทางภาคใต้ อาทิ ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง ประมาณ 40 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายวสันต์ พานิช ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เพื่อขอให้ดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เพิกถอนคำสั่งการใช้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ (แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน)
นายสมนึก พุฒนวล กรรมการ คปท. กล่าวว่า การที่กรมอุทยานฯ ฟ้องร้องชาวบ้านที่ทำมาหากินตามวิถีเกษตร ดำเนินคดีทั้งทางอาญา แพ่ง โดยเฉพาะเมื่อกรมอุทยานฯ นำแบบจำลองค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาใช้ พบว่า มีการฟ้องร้องชาวบ้านในคดีโลกร้อน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่เป็นธรรม และทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก เพราะการเรียกร้องค่าเสียหายของกรมอุทยาน ทำให้ชาวบ้านต้องจ่ายค่าเสียหายตั้งแต่ 500,000-1,000,000 บาท
“ที่ผ่านมาชาวบ้านได้รวมตัวกัน เพื่อขอให้กรมอุทยานฯ รวมถึงกรมป่าไม้ยกเลิกการใช้แบบจำลองดังกล่าว แต่ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถยกเลิกได้ ซึ่งชาวบ้านมีความรู้สึกว่า การอยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้านนั้นเป็นวิถีชีวิต ไม่ได้ทำให้โลกร้อนแต่อย่างใด ดังนั้น จึงได้พยายามพิสูจน์ความจริง ผ่านการวิจัยของนักวิชาการที่ลงไปในพื้นที่ ซึ่งผลปรากฏว่าวิถีการเกษตรของคนในพื้นที่ ไม่ได้ทำให้โลกร้อน เพราะจากการวัดอุณหภูมิระหว่างพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ตลอด 24 ชั่วโมง พบว่า อุณหภูมิทั้งสองแห่งไม่แตกต่างกันมากนัก อีกทั้งวิถีการเกษตรในชุมชนท้องถิ่น ยังแตกต่างจากวิถีการเกษตรสมัยใหม่ที่รัฐบาลสนับสนุน”
นายสมนึก กล่าวต่อว่า สำหรับการกล่าวหาชาวบ้าน ซึ่งมีการเกษตรเป็นวิธีชีวิต และใช้แรงงาน เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงสังคมว่า ทำให้โลกร้อนนั้นร้ายแรงมาก เปรียบเหมือนกับว่าเป็นฆาตกร ที่ทำร้ายคนทั้งโลก อีกทั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวยังเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ เมื่อชาวบ้านมีความเห็นตรงกันว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม จึงขอให้สภาทนายเป็นธุระ ฟ้องร้องต่อกรมอุทยาน กรมป่าไม้ฯ ให้เพิกถอนแบบจำลองดังกล่าวต่อไป
นายเรวัตร อินทร์ช่วย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และในฐานะชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีโลกร้อน กล่าวว่าชาวบ้านชุมชนบ้านป่า ไม่สามารถรับรู้ในเรื่องคำพูดคำกล่าวทางกฎหมายมากนัก แต่ขณะนี้คำกล่าวหาคดีโลกร้อนดังกล่าว ทำให้วิถีของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปมาก ถูกมองเป็นจำเลยของสังคมโดยไม่รู้ตัว บางรายรับไม่ได้ถึงขั้นบ้านแตกสาแหรกขาด ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยเห็นน้ำตาชาวบ้าน เพราะที่ทำเป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น ฉะนั้น เรื่องดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไข เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ขณะที่นางสาวอุไร ชูทิ่ง ชาวบ้านจากหมู่บ้านยูงงาม ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง กล่าวว่าครอบครัวของตนมีที่ดินจำนวน 15 ไร่ชายเทือกเขาบรรทัด โดยได้บุกเบิกพื้นที่ชายเขาทำกินตั้งแต่ พ.ศ.2498 แต่ปัจจุบันไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าวได้ ทั้งที่ยางพาราและสะตอกำลังให้ผลผลิต เนื่องจากเกรงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม เพราะขณะนี้ก็ถูกกรมอุทยานฯ ฟ้องคดีโลกร้อนเป็นเงินประมาณ 900,000 บาท ทั้งที่ตลอดชีวิตไม่เคยได้จับเงินแสน
“บังเอิญว่าเราเป็นคนจน สมัยก่อนจึงต้องเข้ามาถ่างป่า บุกเบิกที่ดินทำกินบริเวณชายเขา แต่ปัจจุบันต่อให้จะย้ายไปทำกินในที่ดินพื้นล่างก็ไม่สามารถทำได้อยู่ดี เนื่องจากที่ดินมีราคาสูง”นางสาวอุไร กล่าว และว่า อยากให้รัฐออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน ในลักษณะที่สามารถตกทอดไปถึงทายาทได้ แม้จะห้ามไม่ซื้อขายเปลี่ยนมือก็สามารถยอมรับได้ ทั้งนี้ เพื่อชาวบ้านจะได้ทำกินโดยที่ไม่ต้องแอบ ทำตัวเหมือนกับโจร เมื่อต้องเข้าไปทำกินในที่ดินของตนเอง
ด้านนางกันยา ปันกิติ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า เกษตรกรนั้น เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเช่นกัน และแทนที่รัฐจะเข้ามาช่วยกลับฟ้องร้องชาวบ้านในคดีโลกร้อน ซึ่งหากไปดูจะพบว่า ชาวบ้านยังทำการเกษตรแบบใช้ควายไถนา บ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็เป็นแบบหลังคามุมจาก พื้น ผนังบ้านก็ขัดจากไม้ไผ่ ดังนั้น ถามว่า สังคมส่วนใหญ่อยู่กันอย่างไร ทำไมผลกระทบถึงตกไปอยู่ที่เกษตรกรเท่านั้น ในขณะที่คนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ทำลายโลก ไม่เคยมีใครฟ้อง ไม่มีใครเคยถูกจับ
“กฎหมายคดีโลกร้อนที่ออกมานั้น เป็นการคิดเองเออเอง ไม่มีเคยคิดถึงชุมชน หรือกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อีกทั้งเมื่อชาวบ้านรับสารภาพ ที่ดินที่ทำกินก็ต้องถูกยึด ต่อไปเมื่อมีอายุมากขึ้นจะให้ไปทำมาหากินอะไร จะไปเป็นกรรมกรก็คงไม่มีคนจ้าง คงต้องมาเป็นขอทานในเมือง เพราะเมื่อที่ดินสูญ อนาคตก็สูญด้วย”
ส่วนนายวสันต์ พานิช ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า ปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดีโลกร้อนต่อประชาชนนั้น มีการร้องเรียนเข้ามาที่สภาทนายความจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ทางสภาฯ ได้เตรียมแนวทางในการดำเนินการไว้บ้างแล้ว เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งข้อเท็จจริงหลายกรณีพบว่า ชาวบ้านได้อยู่อาศัยในที่ดินมาก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานฯ แต่ปัญหาที่พบคือ ชาวบ้านไม่ได้มีการต่อสู้คดี บางรายถูกเกลี่ยกล่อมให้รับสารภาพ ซึ่งเมื่อรับสารภาพแล้วก็เอาคำพิพากษาไปกอดไว้ และในเวลาต่อมาก็ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกรณีทำให้โลกร้อนตามมา
นายวสันต์ กล่าวถึงแบบจำลองดังกล่าวว่า จากการหารือกับนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และอื่นๆ ระบุว่าแบบจำลองดังกล่าวไม่สามารถใช้การได้ เนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์ หลักการวิชาการที่ถูกต้องรองรับ อีกทั้งยังเขียนขึ้นจากหน่วยงานภาครัฐ โดยไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับนักวิชาการว่า สามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ ทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน ทุกข์ทรมาน ทรัพย์สินที่เคยมีต้องถูกยึด ดังนั้น ในช่วงต่อไปจะมีการสร้างเครือข่าย รวมชุมชนที่มีปัญหากรณีดังกล่าวทั่วประเทศ เพื่อฟ้องร้องแบบจำลองดังกล่าว ซึ่งขณะนี้กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ และกรมการอุตสาหกรรมป่าไม้ได้ใช้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนอยู่
“เมื่อแบบจำลองไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการก็ควรยกเลิกเสีย”ปธ.กก.สิทธิมนุษยชนฯ กล่าว และว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดีย หรือจีน ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ของโลกที่ระบุว่าทำให้โลกร้อน แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่เกษตรกรกลับถูกฟ้องในคดีดังกล่าว ดังนั้น สภาทนายจะรับเรื่องนี้ไว้ดำเนินการต่อไป และเพื่อพิสูจน์ว่า เรื่องสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญจะใช้ได้จริงหรือไม่ รัฐธรรมนูญยังมีชีวิตชีวาอยู่หรือตายไปแล้ว
ส่วนแนวทางในแก้ปัญหานั้น นายวสันต์ กล่าวว่า การออกโฉนดชุมชน เพื่อในชุมชนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างมีกติกา ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม สมดุลเป็นวิธีการที่จะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวและยั่งยืน เพราะชาวบ้าน ชุมชนจะได้มีสิทธิในการจัดการและบริหารกันเองได้