กรมชลฯ เตรียมส่งการบ้าน แผนปรับเกณฑ์คุมระดับน้ำให้ กยน.สิ้นม.ค.นี้
ผอ.สำนักอุทกฯ แจงกรมชลประทานเร่งศึกษาผลหากปรับเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ หวั่นกระทบฤดูแล้ง ตัวแทนสสนก. แนะโจทย์สำคัญต้องเร่งพร่องน้ำเขื่อนสิริกิติ์-ภูมิพลก่อนเดือนเม.ย.
วันที่ 26 มกราคม สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “สรุปบทเรียนมหาอุทกภัย 2554” ณ ห้องประชุมนานาชาติชั้น 2 อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ผอ.สำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน และดร.สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ร่วมเสวนา
ดร.ทองเปลว กล่าวถึงบทเรียนจากอุทกภัยปี 2554 ต้องยอมรับว่า มีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ที่ทุกภาคส่วนต้องเรียนรู้และปรับตัว รวมถึงปรับปรุงเครื่องมือต่างๆ โดยเฉพาะ เครื่องมือของกรมชลประทาน เช่น เครื่องสูบน้ำที่ใช้งานหลักในด้านการเกษตร ไม่เหมาะที่จะนำมาสูบน้ำจำนวนมาก
“การจัดพื้นที่เศรษฐกิจจะต้องไม่ไปทับพื้นที่ที่ใช้พักน้ำ หรือเป็นทางผ่านของน้ำ โดยควรจัดทำผังน้ำทั้งประเทศ เพื่อให้จัดพื้นที่โซนต่างๆ ได้ ในส่วนการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ ที่มีทั้งความเสี่ยงและความสับสน จะต้องวางแผนให้มีความคาดเคลื่อนน้อยที่สุด รวมทั้งมีแผนรับมือและเตรียมการ ที่ไม่ให้ประชาชนตระหนก แต่มีความตระหนักมากกว่า”
ดร.ทองเปลว กล่าวว่า กรมชลประทานได้มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบในแผนเร่งด่วนของคณะกรรมการ กยน.ในการวางแผนเขื่อนกักเก็บน้ำหลักและน้ำทั่วประเทศ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำเขื่อนในปีนี้จะปรับเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ (Rule Curve) ใหม่ โดยกำลังทำการศึกษาเกณฑ์ควบคุมสำหรับอ่างขนาดใหญ่ และอ่างขนาดกลาง รวมกว่า 300 อ่าง เพื่อนำเสนอกยน.ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้
“รายละเอียดในการศึกษาการปรับเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำจะช่วยให้ทราบว่า จะช่วยตัดยอดน้ำที่จ.นครสวรรค์ได้เท่าใด และจะส่งผลกระทบต่อฤดูแล้งหรือไม่ และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะพอเห็นผลคร่าวๆ ว่า การบริหารจัดการน้ำในปีนี้จะเป็นอย่างไร”
ขณะที่ดร.สุรเจตส์ คาดการณ์สถานการณ์น้ำในปีนี้ว่า น้ำในเขื่อนมีประมาณ 85% ซึ่งเขื่อนภาคเหนือยังมีช่องว่างกักเก็บน้ำได้อีกประมาณ 10-15% แต่ในปีนี้ทะเลมีความปั่นป่วนมากและมีการคาดการณ์ว่า ฝนจะมาเร็วกว่าทุกปี อันจะส่งผลให้ 3-6 เดือนต่อจากนี้ปริมาณน้ำจะมีมากกว่าปกติ
“โจทย์สำคัญสำหรับครึ่งปีแรกของปีนี้ คือการเร่งพร่องน้ำก่อนเดือนเมษายน ทั้งน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพลที่มีความสามารถในการระบายได้วันละ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น และต้องไม่ลืมนำบทเรียนจากน้ำท่วมปี 2554 ที่สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่มีความพร้อมตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งประชาชนมาปรับปรุงแก้ไข เช่น ระบบคลองไม่มีการดูแล ปล่อยให้อุดตัน และสร้างตอหม้อสะพานบีบทางระบายน้ำ”