เพิ่มขีดความสามารถ ส.อ.ท. ชี้กฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน แหล่งเงินทุน ต้องเอื้อ
ดร.ปรเมธี แจงโครงการลงทุน-แผนค่าใช้จ่าย-แผนเงินกู้ อีก 3 ปีข้างหน้า ทำหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 11% หวั่นไปเสร็จตามแผน ด้านพยุงศักดิ์ ชี้การค้าชายแดนเงินสะพัดถึง 9 แสนล้าน แนะรัฐกระจายอุตฯ ลงภูมิภาค
วันที่ 31 กรกฎาคม คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา จัดสัมมนา เรื่อง “GDP ปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยแค่ไหน” โดย ดร.ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวตอนหนึ่งถึง นโยบายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข็งขันหรือการสร้างโอกาสของประเทศว่า ในส่วนของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ที่ใช้งบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท เป็นตัวที่จะช่วยให้เรามีความพร้อมมากขึ้น โดยจะเน้นที่ระบบรางเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพลังงาน สนามบินและการ ขนส่งของประเทศด้วย เพื่อเป็นการเสริมการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
“ภายใต้วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาทนั้นมีแผนการลงทุนประมาณ 7 ปี สำหรับเวลาในการก่อสร้าง ส่งผลให้หนี้สาธารณะ ถ้ารวมก้อนนี้กับแผนการใช้จ่ายและแผนเงินกู้ จะเพิ่มจากปัจจุบันที่41% ของจีดีพี เป็น 52% ของจีดีพี ในปี 2558 ซึ่งค่อนข้างจะใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซียที่ประมาณ 52-53% ต่อจีดีพี ฉะนั้นถือว่ายังไม่เป็นอันตรายในการดูแลความยั่งยืนทางการคลัง ทั้งนี้ มีการตั้งเพดานไว้ว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี เพราะว่าค่อนข้างจะเปราะบาง” ดร.ปรเมธี กล่าว และว่า โครงการลงทุนดังกล่าวนั้น เป็นความใฝ่ฝันของประเทศมานาน แต่ก็มีเหตุการณ์ทำให้การไม่สามารถลงทุนได้สะดวก ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังช้าอยู่มากในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ดร.ปรเมธี กล่าวถึงการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ อาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เพราะรัฐบาลมักจะใช้เงินไม่ค่อยเก่ง อีกทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต้องมีกระบวนการที่ต้องผ่านการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน ที่ทำให้เพิ่มเวลาในการลงทุน จนกระทั่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปแผนหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่เป็นไปตามแผนหนี้สาธารณะก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วย
“หลังจากที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ถ้าเราผลักดันโครงการลงทุนต่างๆไปได้ โอกาสที่นักลงทุนจะเข้ามาในประเทศไทยก็จะมีอีก ที่ย้ายออกไปก็มีส่วนหนึ่งแต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ ฉะนั้นเราต้องวางนโยบายหรือโครงการที่แก้ไขน้ำท่วม รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งในประเทศภูมิภาค เหล่านี้จึงเป็นอนาคตที่จะช่วยส่งเสริมให้จีดีพีไปต่อได้ในระยะปานกลางที่ประมาณปีละ 5%”
ขณะเดียวกัน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการสร้างขีดความสามารถของธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SME ว่า ต้องมีปัจจัยเอื้อจากภาครัฐ เช่น กฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน แหล่งเงินทุน รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยให้การค้าชายแดนดีขึ้นเช่น ค้าขายผ่านทางลาว กัมพูชา หรืออาจจะเลยไปถึงเวียดนามได้ โดยที่ปัจจุบันการค้าชายแดนมีเงินหมุนเวียนรอบประเทศถึง 9 แสนล้าน และมีแนวโน้มที่จะมีกำลังซื้อ เพิ่มขึ้นอีกด้วย
สำหรับเรื่องของจีดีพีของประเทศไทยนั้น นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า ต้องดูเรื่องของความสุข ทางสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ และธุรกิจเพียงอย่างเดียว รวมถึงควรต้องแก้ไขในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ โดยธุรกิจอุตสาหกรรมควรต้องกระจายไปตามภูมิภาคให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ศูนย์กลางเท่านั้น ในขณะนี้ประเทศไทยสามารถทำได้แล้ว เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างจะดี และประสบการณ์ของคนในพื้นที่ก็ดีขึ้นด้วย ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยง และการค้าขายไป ตามชายแดนได้อีกด้วย
“การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นั้น จะมีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศเรามีกฎระเบียบเด็ดขาดด้านธุรกิจ ทำให้ไม่คล่องตัวและมีการความที่เข้มกว่าการปฏิบัติ ในขณะที่ประเทศอื่นมีความยืดหยุ่นกว่า เหล่านี้ส่งผลให้ผู้ประกอบมีความรู้สึกไปในทางแง่ลบ 100% ฉะนั้น กฎระเบียบ แนวปฏิบัติ และหน่วยงานราชการ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ยังต้องมีการปรับปรุง”
ทั้งนี้ นายพยุงศักดิ์ กล่าวถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ใช้เงินของแผ่นดิน โดยเฉพาะ โครงการจัดซื้อจัดจ้าง การออกแบบโครงการต่างๆ หรือการทำ ทีโออาร์ ก็ตาม กระบวนการต่างๆต้องมีความโปร่งใส ต้องมีคนเข้าไปตรวจสอบในโครงการต่างๆ อย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรับของ ระหว่างดำเนินการไปจนถึงการสิ้นสุด โครงการ รวมถึงต้องมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่มีความผิด แต่ก็ไม่ใช่ว่าไปแกล้งคนทำดี ที่สำคัญคือ ต้องลดทัศนคติด้วยว่าโครงการเหล่านี้เป็นแหล่งหารายได้ เหล่านี้จะช่วยให้ประเทศไทยกลับเข้ารูป เข้าสู่ระบบ และจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้