“สาธิต” โอดศาลฟันโครมแยกยื่นภาษีผัว-เมีย ปี’56 สูญเงิน 3 พันล.
“สาธิต” โอดศาลฟันโครมแยกยื่นภาษีผัว-เมีย ปี’56 สูญเงิน 3 พันล. เชื่อทำตามขั้นตอนสรรพากรเสนอ ไร้ปัญหาติดขัด ชูไอเดียตั้ง ส.ภาษีแห่งชาติ ปิดช่องนักการเมืองแทรก
เมื่อเร็วๆนี้ ดร.สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวปาฐกถา "โครงสร้างภาษีใหม่ ไทย สู่ AEC" ในงานสัมมนาวิชาการ บ.ย.ส.16 เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ตอนหนึ่งถึงเรื่องโครงสร้างภาษีว่า เปรียบได้กับเก้าอี้ที่มี 3 ขาประกอบด้วยขาที่ 1 กฎหมาย 2.การบริหารภาษี และ3.นโยบาย โดยในส่วนของกฎหมายนั้น คิดว่าจะต้องปรับปรุงและเปลี่ยนค่อนข้างมาก เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับภาษีมีการแก้ไขล่าสุดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในขณะที่โลกมีธุรกิจและการทำธุรกรรมที่หลากหลายมากขึ้น และเพื่อให้มีความทันสมัย เป็นสากล จะต้องลดเงื่อนไขให้มีความซับซ้อนน้อยลง ขณะที่การบริหารภาษี จะเน้นพัฒนาการให้บริการที่สะดวกสบายสามารถยื่นแบบและเสียภาษีผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น โดยมุ่งหวังให้มีผู้ใช้บริการเพิ่ม 80%-90% นอกจากนี้ในด้านนโยบาย ยังตั้งเป้าที่จะปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ รวมทั้งลดการเก็บภาษีนิติบุคคลจากปี 2555 ซึ่งเก็บในอัตรา 23% ให้เหลือ 20% ในปีหน้า
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางของโลกในช่วงต่อไป การเก็บภาษีจะมุ่งไปในทางอ้อม คือจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ( VAT) และสรรพาสามิต เนื่องจากทางตรงหรือการเก็บภาษีเงินได้นั้นจะเก็บได้ยากขึ้น เพราะเมื่อเก็บแพงเกินไปคนจะหนีไปทำธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น
“วิธีการทำธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่วิธีของราชการยังไม่เปลี่ยน ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ได้ยกเลิกกรมสรรพากร และตั้งเป็นสถาบันภาษีแห่งชาติขึ้นมาแทน เนื่องจากมองว่ากรมต่างๆ นั้นเป็นระบบสังคมนิยม เมื่อมีการปรับเปลี่ยนการบริหารเป็นแบบราชการ แม้จะเป็นหน่วยงานของราชการ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การเมือง ทำให้สามารถดูแลประชาชนให้มากขึ้น” ดร.สาธิต กล่าว และว่า เรื่องนี้ไทยช้ากว่าต่างประเทศอยู่หลายก้าว ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง เพราะเราภูมิใจอยู่แต่กับอดีต
ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงการแยกยื่นภาษีสามี ภรรยาตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า จะต้องปรับให้ถูกภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 นี้ ช้าไม่ได้ ช้ามีโทษ เพราะเป็นคำสั่งศาล ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวมีความล้าหลัง ไม่ทันต่อยุคปัจจุบัน ซึ่งอันที่จริงกรมสรรพากรได้เสนอแก้กฎหมายนี้และส่งเรื่องไปที่กระทรวงการคลังแล้ว ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่ง แต่ศาลใจร้อนกว่า ฟันโครมบอกว่าให้แยกยื่น โดยใช้วิธีเอามาตรานี้ออก ทิ้งขยะ แต่เรื่องก็ยังไม่จบ เพราะมีอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องของการหักลดหย่อน เนื่องจากการลดหย่อนบางอย่างนั้นสามี ภรรยาได้คนละส่วน แต่ถ้าเอามาตรานี้ออกทุกคนจะได้เต็มทั้งคู่ และนั่นหมายว่าฉีกเงินทิ้งไปทันที 2,000-3,000 ล้านบาท
“สรรพากรเก็บเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม คนโน้นล้วงทีคนนี้ล้วงที แต่เมื่อเป็นคำสั่งศาลแล้วก็ต้องทำ และแน่นอนว่าผมต้องแบกหินทันทีจากการเคาะโต๊ะของศาลโป๊กเดียว แต่ถ้าแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้ไปตามกระบวนการ ขั้นตอนที่สรรพากรเสนอไว้ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน”
อ่านเพิ่มเติม: สภาทนายความ จี้กรมสรรพากรปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลรธน. สามี ภริยาแยกยื่นภาษี