"เจมาร์ท" ระบุมือถือถูกเพิกถอน 8 รุ่นเกลี้ยงสต็อก ย้ำเสียหายจริง พร้อมรับผิดชอบ
"เจมาร์ท" ระบุมือถือถูกเพิกถอน 8 รุ่น 8 พันเครื่องเกลี้ยงสต็อก-นำเข้าเมื่อ 2 ปีก่อน ย้ำเสียหายจริง พร้อมรับผิดชอบ ด้าน "สารี" จี้คืนเงินผู้บริโภค ชี้มือถือตกมาตรฐาน 280 รุ่น มูลค่านับพันล้านบาท
วันที่ 3 กรกฎาคม นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่งทางปกครองเพิกถอนใบรับรองเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์จำนวน 280 แบบ/รุ่นกว่า 970,000 เครื่องจาก 27 บริษัท ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ของเจ มาร์ท ร่วมอยู่ด้วย 8 รุ่น ได้แก่ J-Fone รุ่น BB2/ BB1t/ CC71/ CC1TV/ CC 72/ CC 4/ CC 3/ CC 2 TV ว่า โทรศัพท์มือถือ 8 รุ่นที่ถูกเพิกถอน เป็นเครื่องที่นำมาจำหน่ายเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีจำนวนรวมกันประมาณ 5,000-8,000 เครื่อง
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ถึงปัจจุบันทางบริษัทไม่มีเครื่องรุ่นดังกล่าวเหลืออยู่แล้ว เพราะเป็นรุ่นเก่า หรือหากมีสินค้าจริงคงหมดอายุไขและคนคงเปลี่ยนเครื่องไปหมดแล้ว ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเเร็ว ดังนั้น เครื่องตามที่กสทช.ระบุ ได้กลายเป็นเครื่องล้าสมัย
“คำสั่ง กสทช.ที่ให้ทำลายหรือนำโทรศัพท์มือถือ 8 รุ่นออกราชอาณาจักรตามที่ระบุนั้น ทางบริษัทยืนยันว่า ไม่มีเครื่องรุ่นดังกล่าวเหลืออยู่แล้ว ส่วนถ้ายังมีผู้ใช้งานโทรศัพท์รุ่นเหล่านี้ กสทช.ก็ได้ระบุไว้ว่า หากเกิดความเสียหายให้เรียกร้องจากผู้นำเข้า ซึ่งทางบริษัทยินดีที่จะรับผิดชอบ เพียงแต่ว่าเครื่องรุ่นดังกล่าว ได้จำหน่ายหมดไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว” นายอดิศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามอีกว่า หากยังมีผู้ใช้งาน 8 รุ่นดังกล่าวอยู่จะสามารถนำไปคืนได้หรือไม่ อย่างไร นายอดิศักดิ์ กล่าวถึงหลักการรับประกันในธุรกิจประเภทมือถือ ไม่มีบริษัทไหนรับประกันสินค้าเกิน 1 ปี บริษัทฯ ส่วนใหญ่จะรับผิดชอบเครื่องที่อยู่ภายใต้การรับประกัน ส่วนเรื่องที่ใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไรนั้น เรื่องนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องคุยกับ กสทช. อีกครั้ง
" กสทช. เองก็บอกแล้วว่า ถ้ามีเครื่องให้ทำลายหรือไม่ก็นำออกนอกราชอาณาจักร กรณีเครื่องเสีย รับประกันเครื่อง 1 ปี เรารับผิดชอบ ส่วนกรณีที่เครื่องรุ่นที่ถูกเพิกถอนยังใช้อยู่เกินระยะเวลารับประกัน เราเองในฐานะผู้นำเข้า ถ้ามีปัญหาคงคืน แต่ว่าด้วยอายุของเครื่อง ผมว่ามันไม่เหลืออยู่แล้ว”
ทั้งนี้ นายอดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ทางบริษัทได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ กสทช. ต้องการในการยื่นอนุมัติจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ โดยบริษัทได้แจ้งซัพพลายเออร์ (supplier) ให้ส่งเอกสารมาให้ จากนั้นบริษัทก็ทำหน้าที่ส่งต่อเอกสารไปยัง กสทช. ขณะที่ กสทช.เองได้อนุมัติให้จำหน่ายโทรศัพท์มือถือรุ่นดังกล่าวได้ เรามีเอกสารระบุชัดเจน แต่เมื่อมีการพิจารณาเอกสารว่าถูกต้องหรือไม่ จึงมีคำสั่งเพิกถอนตามมาในภายหลัง ซึ่งบริษัทไม่รู้ได้เรื่อง เอกสารมาจากซัพพลายเออร์
ส่วนแนวทางดำเนินการต่อจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทำนองดังกล่าว นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากไม่ใช่บริษัทที่มาตรวจสอบ (verify) เอกสาร แต่รับเอกสารจากเมืองนอกและนำส่งต่อไปยัง กสทช. ซึ่งต่อจากนี้ไปอาจจะต้องรับเอกสารแล้วส่งให้ กสทช. ช่วย verify ความถูกต้องก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการ
ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค และประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เมื่อมีการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายและพบว่าตกมาตรฐาน สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ทันทีและที่อยากเห็นคือ 1.ผู้ประกอบการควรเรียกสินค้าตามที่ระบุคืนทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ กสทช. ก็มีคำสั่งให้ดำเนินการลักษณะดังกล่าวแล้ว และ 2.สินค้าในส่วนที่ผู้บริโภคได้ซื้อไปแล้วนั้น ถ้าผู้ประกอบการจะรับผิดชอบถึงขนาดที่ให้ผู้บริโภคมาเอาเงินคืนจะยิ่งดี แต่เรื่องนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก ฉะนั้นเห็นว่า ผู้บริโภคที่ติดตามข่าวเรื่องนี้ก็ควรที่จะนำโทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีการระบุไปคืน เพื่อเอาเงินคืน
ส่วนที่มีการระบุว่า บริษัทจะรับประกันโทรศัพท์มือถือภายใต้เงื่อนไขการรับประกัน 1 ปีนั้น น.ส.สารี กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง บริษัทนำของตกมาตรฐานมาขาย แม้จะขายสินค้าหมดไปแล้ว อย่างไรก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเมื่อผู้บริโภคพึ่งมารู้ ภายหลังที่ กสทช. ออกประกาศ อายุความในเรื่องนี้จึงยังไม่หมดแน่นอน
“การเอาของที่ไม่มีมาตรฐานมาขาย ผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบ ขณะเดียวกันเห็นว่าในส่วนของผู้บริโภค 970,000 คนควรนำสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานไปคืนกับบริษัทนำเข้าได้โดยตรง”
น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้ผู้บริโภคคิดว่า ซื้อมาในราคาไม่กี่ร้อย กี่พันบาท เพราะเมื่อคิดรวมกันเป็นแสนๆเครื่องมีมูลค่าเป็นพันล้านบาทเช่นกัน ฉะนั้น ต้องจัดการกับผู้ประกอบการที่เอาของไม่มีคุณภาพเข้ามาจำหน่าย และขึ้นแบล็คลิสต์ผู้ประกอบการรายนั้นไว้ ครั้งหน้านำสินค้าเข้ามาจะต้องมีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้เปิดให้ผู้บริโภคสามารถโทรเข้าไปตรวจสอบรุ่นโทรศัพท์มือถือที่ถูกเพิกถอนได้ที่หมายเลข 1200 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและคาดว่าในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ค.) จะมีการแถลงการณ์ของกลุ่มงานฯ ดังกล่าวเปิดเผยต่อสาธารณชนอีกครั้งอย่างเป็นทางการ