ธ.โลก ชี้หญิง-ชายเท่าเทียม ช่วยเพิ่มผลิตภาพงานต่อคน 7-18% ส่งผล ศก. โต
ธนาคารโลก ชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ช่วยลดช่องว่าง ชาย-หญิง ระบุ ไทยโดดเด่นการศึกษา ระดับมัธยมขึ้นไปมี หญิงเข้าเรียนมากกว่าชาย ในขณะที่การตอบแทนการงาน-การมีสิทธิเสียงในสังคม ยังไม่เท่าเทียม แนะรัฐให้ความสำคัญออกนโยบายลดช่องว่าง
วันที่ 18 มิถุนายน ธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย จัดแถลงรายงานเรื่อง “ก้าวสู่ความเสมอภาคหญิงชายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก” โดยมี นายแอนดรูว์ เมสัน หัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงาน นางสาวรีน่า บาเดียนี่ ผู้ร่วมเขียนรายงาน และนางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมแถลง ณ ธนาคารโลกสำนักประเทศไทย ชั้น 30 อาคารสยามทาวเวอร์ โดยรายงานฉบับนี้เป็นรายงานที่จัดทำควบคู่กับรายงานการพัฒนาโลกประจำปี 2555
นายแอนดรูว์ กล่าวถึงรายงานฉบับนี้ ว่า เป็นการพูดถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มีทั้งเรื่องของโอกาสและความเสี่ยงในความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งหากทำให้เกิดขึ้นได้ จะเป็นทั้งเป้าหมายในการพัฒนาและการส่งเสริมในการพัฒนาของประเทศ ทั้งนี้ สำหรับการเสริมสร้างความเสมอภาคทางเพศนั้น จะทำให้เกิดข้อดีและช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากชายและหญิงจะได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน
พร้อมยกตัวอย่าง หากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีการส่งเสริมทางด้านทักษะของคนมากกว่าที่จะคำนึงถึงเพศ จะทำให้ผลิตภาพงานต่อหนึ่งคนนั้นสามารถที่จะเพิ่มขึ้นได้ 7-18% ซึ่งส่งผลถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการลดความยากจน
“เรื่องคุณภาพของความเสมอภาคทางเพศ เรื่องนี้เป็นหัวใจของการพัฒนา เพื่อให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาเท่าเทียมกันไม่ว่าชายหรือหญิง ซึ่งที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างหญิงและชายด้านการศึกษาและสุขภาพลดลง แต่อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตและการพัฒนาที่ดีนั้นยังไม่เพียงพอที่จะปิดช่องว่างความเสมอภาคได้ในทุกมิติ เนื่องจากในด้านการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ การมีสิทธิ์เสียง และมีอำนาจในสังคมนั้นยังมีความไม่เท่าเทียมอยู่”
นายแอนดรูว์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจมากขึ้น เห็นได้จากมีผู้หญิงภูมิภาคนี้เข้าร่วมในตลาดแรงงานถึง 70% ซึ่งนับว่าเ ป็นอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ฉะนั้น ถือได้ว่า ผู้หญิงในภูมิภาคนี้อยู่ในฐานะที่ทำคุณูปการให้กับเศรษฐกิจและสังคม แต่กลับพบว่า ในการทำงานประเภทเดียวกันผู้หญิงกลับมีรายได้ต่ำกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงได้รายได้ไม่ถึง 80% ของผู้ชาย นอกจากนี้ การเข้าถึงทรัพยากรของผู้หญิงก็ยังน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นการถือครองที่ดินและการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ซึ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มผลผลิตและกำไรจากการผลิต”
สำหรับในเรื่องสิทธิเสียงและอำนาจนั้น นายแอนดรูว์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ผู้หญิงก็ยังมีน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นเชิงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่ในครัวเรือนเอง ที่ไม่ค่อยได้เข้าไปตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย ทั้งนี้ผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเป็นตัวแทนทางการเมืองเพียงแค่ 18% เท่านั้น โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่า ผู้หญิงยังไม่มีสิทธิเสียงมากพอในการเป็นตัวแทน ซึ่งการจะเพิ่มตัวแทนต้องไม่เพียงแต่คำนึงถึงตัวเลขเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องคุณภาพด้วย
อย่างไรก็ตาม นายแอนดรูว์ กล่าวด้วยว่า ผู้หญิงต้องพยายามเล่น 2 บทบาท ระหว่างบทบาทในครัวเรือนและบทบาทในตลาด ดังนั้นผู้หญิงมักจะเป็นกำลังหลักในการทำงานบ้าน โดยเฉพาะในชนบทผู้หญิงต้องทำหน้าที่ที่มากกว่า ซึ่งส่วนนี้เองเป็นข้อจำกัดอีกประการหนึ่งในการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจ ฉะนั้น ผู้หญิงเองต้องจัดการสร้างความสมดุลระหว่างภารกิจในบ้านกับการใช้เวลาในการทำงานหาเงินในภาคเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ แนวทางแก้ไข ธนาคารโลก มีข้อเสนอแนะว่า สามารถทำได้ในหลายๆประการ เช่น ในชนบทอาจต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เพื่อให้ผู้หญิงใช้เวลากับภารกิจในบ้านน้อยลงเพื่อที่จะสามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่มีผลตอบแทนมากขึ้นข้างนอก ในขณะที่ในชุมชนเมืองเอง ทางภาครัฐอาจช่วยดูแลลูก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ใช้ศักยภาพสูงสุดในการทำงานที่ได้ค่าตอบแทน
“ความท้าทายของผู้หญิงในภูมิภาคนี้จึงเกิดขึ้นท่ามกลาง แนวโน้มใหม่ๆที่เกิดขึ้นภูมิภาค เช่น การควบรวมทางเศรษฐกิจ การนำเทคโนโลยีมาใช้ การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นเมือง รวมถึงการที่สังคมกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุด้วย ซึ่งแต่ละปรากฏการณ์นั้นต่างส่งผลในลักษณะที่ชัดเจน โดยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่มีต่อผู้หญิงมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น หากมองเห็นความก้าวหน้าประเด็นความท้าทายต่างๆ แล้ว ผู้ที่กำหนดนโยบายก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆเหล่านี้ด้วย” นายแอนดรูว์ กล่าว และว่า ที่ผ่านมาผู้ที่กำหนดนโยบายยังไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้มากพอ ดังนั้น รัฐบาล อาจต้องคิดว่าจะลงทุนในการเพิ่มคุณภาพและศักยภาพของผู้หญิงเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะหากผู้หญิงมีส่วนร่วมในทางการเมืองและการอนุรักษ์ หรือการจัดการในการใช้ทรัพยากรนั้น จะเป็นเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนา
เมื่อถามถึงสถานการณ์ความเสมอภาคทางเพศในประเทศไทยนั้น นายแอนดรูว์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นภาพที่ผสมปนเป นั่นคือมีทั้งข่าวดีในด้านของการศึกษา ที่พบว่า ในระดับมัธยมศึกษา มีผู้หญิงเข้าเรียน 109 คน ต่อผู้ชาย 100 คน ในขณะที่ยิ่งระดับสูงขึ้น เช่นในระดับมหาวิทยาลัย จะมีผู้หญิงเข้าเรียน 124 คน ต่อผู้ชาย 100 คน รวมถึงด้านแรงงานด้วย ที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นมาก แต่ในขณะเดียวกัน ด้านการมีสิทธิ์มีเสียงของผู้หญิง พบว่า ในสภานิติบัญญัติ มีผู้แทนที่เป็นผู้หญิงในอัตราเฉลี่ย 16% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยโลกที่จะมีผู้หญิงอยู่ในสภา 19% นอกจากนี้ยังมีความท้าทายก็ยังมีอยู่ในเรื่องของโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่การเข้าถึงในภาคแรงงาน แต่เป็นเรื่องการตอบแทนการงาน และสิทธิเสียงในสังคม
ทั้งนี้ ในรายงานได้ระบุแนวทางหลัก 4 แนวทาง สำหรับการนำไปใช้ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ดังนี้
1.ส่งเสริมความเสมอภาคหญิง ชาย ในด้านการพัฒนามนุษย์เพื่อลดช่องว่างระหว่างเพศหญิงและเพศชายในเรื่องการศึกษาและสุขภาพยังคงมีอยู่มาก
2.ลดช่องว่างทางเพศในการเข้าถึงทางเศรษฐกิจ เราจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุก ซึ่งจะทำให้เกิดการเพิ่มทุนและประสิทธิภาพในการลดช่องว่างทางเพศ
3.สร้างความแข็งแกร่งในการมีสิทธิมีเสียงและอำนาจของผู้หญิงและปกป้องผู้หญิงจากความรุนแรง ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพในการตัดสินใจเพื่อการพัฒนาและการพัฒนาเป็นวงกว้าง
4.ส่งเสริมโอกาสและการจัดการความเสี่ยงอันเกี่ยวเนื่องกับทิศทางและแนวโน้มใหม่ๆของภูมิภาค วิธีการกำหนดนโยบายที่คำนึงถึงความเสมอภาคหญิง ชาย จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในด้านความเสมอภาคหญิง ชาย และการพัฒนา”
ตารางแสดงจำนวนที่นั่งของผู้หญิงในสภาของแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก