เล็งล่ารายชื่อ ปชช.หนุนแก้ไข พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า
สปร. จัดประชุมหาแนวทางผลักดันประเด็นสมัชชาปฏิรูปว่าด้วยการลดการผูกขาด-สนับสนุนการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย มุ่งแก้ไขพ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของภาคธุรกิจ
วันที่ 12 มิถุนายน สำนักงานปฏิรูป (สปร.) ร่วมกับเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป ซึ่งมีนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นประธาน จัดการประชุมเพื่อวางแนวทางการผลักดันให้เกิดการแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการค้าที่เป็นธรรมขึ้น โดยมี นายปรีดา เตียสุวรรณ์ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และสำนักงานปฏิรูป ร่วมประชุม
สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อหาแนวทางในการผลักดันให้เกิดการแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เนื่องจากบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และกฎหมายฉบับนี้แทบจะไม่เคยมีการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดความเหลือมล้ำของภาคธุรกิจไทย
ขณะเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้ยังมีจุดอ่อน 4 ประการ ได้แก่
1.ปัญหาโครงสร้างองค์กร คือการขาดความเป็นอิสระ และการถูกครอบงำทางการเมืองและผลประโยชน์ของธุรกิจ
2.ปัญหาในการดำเนินการ คือการขาด กฎ ระเบียบที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน และการขาดงบประมาณและบุคลากร โดยสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของไทยได้งบประมาณเพียง 2-3 ล้านบาทต่อปี เทียบกับองค์กรเดียวกันนี้ (KPPU) ของอินโดนีเซียที่มีงบประมาณ 284 ล้านบาท ขณะที่บุคลากรของไทยมีเพียง 28 คน แต่อินโดนีเซียมีจำนวน 234 คน
3.ปัญหากรอบภารกิจ คือไม่ครอบคลุมลักษณะพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่ส่งผละกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค และไม่ครอบคลุมภารกิจในการให้ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายแก่รัฐบาล โดยกฎหมายไม่ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหมายความว่า ปัญหาการผูกขาดที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐวิสาหกิจหรือเกิดจากกระทำของหน่วยงานราชการจะไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาแต่อย่างใด
4.ปัญหาบทลงโทษไม่เหมาะสมกับความเสียหาย ตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยเป็นโทษทางอาญา โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่กระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษเป็นทวีคูณ แต่กรณีที่โทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี คณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบปรับแทนได้ ขณะที่บทลงโทษในต่างประเทศมีทั้งโทษทางแพ่งและทางอาญา
นายปรีดา กล่าวว่า ที่ผ่านสมัชชาปฏิรูปได้จัดงานสมัชชาว่าด้วยเรื่อง“การปฏิรูปนโยบายและกฎหมาย เพื่อลดการผูกขาดและสนับสนุนการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งมีความคืบหน้าการทำงานในส่วนต่างๆ ซึ่งทางสำนักงานปฏิรูปได้เสนอความเห็นดังกล่าวให้กับทางรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่มีการตอบรับ นอกจากนี้ได้มีการประชุมหารือ เพื่อยกร่างเพื่อปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 หลายครั้ง ซึ่งมีข้อเสนอและความคิดเห็นต่างๆมากมาย (ตามเอกสารที่แนบ) ฉะนั้น จึงต้องหาแนวทางในการผลักดันให้เกิดการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว
อย่างไรก็ตามในที่ประชุม มีความเห็นตรงกันว่า การจะผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้านั้น อาจใช้วิธีการอาศัยการเชื่อมโยงเครือข่าย ของสมัชชาปฏิรูปรวมถึงขอความร่วมมือจากมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อล่ารายชื่อประชาชนในการสนับสนุน ผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายคอยช่วยเหลือ พร้อมทั้งมีการสื่อสารความรู้ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียจากกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วย