12 ชาติ รวมตัว ประชุมเชิงปฏิบัติ 'แบ่งปัน' ประสบการณ์การบริหารการเงินการคลัง
เวิลด์แบงค์ เปิดตัวภาคีเครือข่ายการบริหารการเงินการคลังสาธารณะแห่งเอเชีย หรือ PEMNA หวังเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน ด้านการคลังในภูมิภาคเอเชีย
วันที่ 7 มิถุนายน กระทรวงยุทธศาสตร์และการคลังแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ธนาคารโลก และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย จัดงานเปิดตัวภาคีเครือข่ายการบริหารการเงินการคลังสาธารณะแห่งเอเชีย (The Public Expenditure Management Network in Asia : PEMNA) โดยมีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นาย ดอง ยีออน คิม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุทธศาสตร์และการคลังสาธารณรัฐเกาหลี นายโรเบิร์ต เทลเลียซิโอ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้ากลุ่มการบริหารจัดการภาครัฐ ธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกพร้อมด้วย ตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้แก่ กัมพูชา,จีน,อินโดนีเซีย,ลาว,มาเลเซีย,มองโกเลีย,เมียนมาร์,ฟิลิปปินส์,ติมอร์เลสเต,เวียดนาม,ไทย และเกาหลี รวมทั้งตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา ได้แก่ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย (AusAID) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) และธนาคารโลก ร่วมงาน ณ ห้องเกษรา โรงแรมเพนินซูล่า กรุงเทพ
ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายการบริหารการเงินการคลังสาธารณะแห่งเอเชีย หรือ PEMNA จัดเป็นภาคีเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในด้านการบริหารการเงินการคลังสาธารณะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคในการปรับปรุงการบริหารจัดการการคลังสาธารณะเพื่อให้การให้ใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและมีความโปร่งใสเพิ่มขึ้น
นางแอนเน็ต กล่าวว่า ภาคีเครือข่าย PEMNA เห็นนวัตกรรมในการดำเนินงานเมื่อเทียบกับบทบาทดั้งเดิมของธนาคารโลกซึ่งจะเป็นไปในทางให้คำแนะนำและในการดำเนินงาน โดยแนวคิดหลักเบื้องต้นเครือข่ายใหม่นี้ คือการนำเอาความสามารถในการจัดให้มีการรวมตัวกันของธนาคารโลกและองค์กรเพื่อการพัฒนาอื่นๆ มารวมกันเสมือนหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่เชื่อใจได้
“การเรียนรู้ผ่านผู้ทำงานอย่างเดียวกัน (Peer Learning) สามารถช่วยรัฐบาลบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดการภาคสาธารณะ สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐ และในการจัดสรรทรัพยากรเชิงกลยุทธ์ เพื่อความสำเร็จของเป้าหมายในการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ”
ด้าน นาย ดอง ยีออน คิม กล่าวว่า ประเทศเกาหลียินดีที่จะนำประสบการณ์และแนวทางการทำงานในการปรับปรุงการบริหารการคลังสาธารณะ มาแบ่งปันกับประเทศ เนื่องจากประเทศเกาหลีประสบกับวิกฤตทางด้านการคลังมาก่อน ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลเกาหลีได้ระดมทุกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการคลังและการเงินเพื่อแก้ปัญหา
“ตัวอย่างการจัดทำงบประมาณจากส่วนกลางกระจายสู่ท้องถิ่น ต้องใช้ทรัพยากรให้ถูกที่ถูกทาง เพื่อให้ประสบความสำเร็จ มีการวางโครงสร้าง โดยที่สำคัญคือรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมกิจการ กำหนดเพดาน และการจัดสรรสวัสดิการ ทั้งด้านการศึกษา การป้องกันประเทศ รวมถึงการเกษตรกรรม” นายดอง ยีออน คิม กล่าว และว่า การปฏิรูปการบริหารการคลังสาธารณะจะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากวิกฤตได้
ขณะที่ นายวรวัจน์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ดำเนินการด้านการปฏิรูปการคลังสาธารณะมากว่าทศวรรษ ซึ่งการปฏิรูปส่งผลให้การบริการสาธารณะภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบการบริหารการคลังภาครัฐที่ช่วยรักษาวินัยทางการคลังในระดับมหภาคและปรับปรุงกรจัดสรรทรัพยากรของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยมีจุดมุ่งหมายที่จะดำเนินการตามนโยบายการใช้จ่ายของประชาชน เพื่อเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งสร้างความมั่นคงผ่านโครงการเงินอุดหนุนของรัฐบาล พร้อมสนับสนุนเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ดำเนินการเช่นนี้ให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากประเทศอื่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับระบบของประเทศนั้นๆ ”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพด้านการคลังสาธารณะจากประเทศต่างๆ จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นเวลา 2 วัน ณ โรงแรมเพนินซูล่า กรุงเทพฯ โดยหลังจากนี้ยังคงมีการประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการประชุมเชิงปฏิบัติการ การร่วมพบปะกันในประเทศต่างๆ การประชุมทางไกลผ่านระบบดาวเทียม และสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ระหว่างประเทศในภูมิภาค