“ยรรยง” ยันของแพงอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นไปตามธรรมชาติ
“อภิรักษ์” จี้รัฐทบทวนนโยบาย เน้นด้านพลังงาน-รับจำนำสินค้าเกษตร แนะทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องทำงานใกล้ชิด เข้าดูโครงสร้างต้นทุนอย่างละเอียด ด้านนักวิชาการอิสระ ชี้นโยบายรัฐเกาไม่ถูกที่คัน
วันที่ 27 พฤษภาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา ราชดำเนินเสวนา “ยุคนี้ข้าวยาก หมากแพงจริงหรือ” โดยมี นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (รมว.พาณิชย์เงา) ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ นักวิชาการอิสระ และนายประพจน์ นันทวัฒนศิริ ที่ปรึกษาฝ่ายขาย บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด ร่วมเสวนา ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายยรรยง กล่าวว่า ยุคนี้ไม่ใช่ยุคข้าวยาก เพราะราคาสินค้าขึ้นในอัตราที่ดีเป็นไปตามธรรมชาติ และเศรษฐกิจอยู่ภาวะที่ดี คืออยู่ในช่วงที่ไม่ใช่เงินเฟ้อ คือ 3-4% แต่สำหรับสินค้าทั่วไปที่จำเป็นในชีวิตที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลอยู่ทั้งหมด 417 รายการ นั้น ต้องบอกก่อนว่าเราจะใช้กลไกตลาดเสรีก็ต่อเมื่อเป็นกลไกตลาดที่สมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาเห็นน้อยมาก ยกตัวอย่างน้ำมันพืชที่กำลังมีปัญหา ที่รัฐบาลไม่สามารถไปควบคุมการลงขึ้นของราคาสินค้าได้ สามารถควบคุมที่ราคาขายปลีกได้เท่านั้น
“กลไกตลาดแต่ละเรื่องไม่ได้ง่ายที่จะทำงานเต็มที่ ฉะนั้นรัฐบาลต้องเข้าไปดูกลไกตลาดที่สำคัญทุกตัว รายการที่ประชาชนใช้เป็นประจำรัฐบาลก็มีการติดตามทุกวัน ส่วนสินค้าอีก 200 กว่าตัวที่อาจมีการปรับขึ้นลง 2-3 ครั้ง เราก็จะติดตามตรงนั้น ฉะนั้นเรื่องหมากแพง สรุปความว่า กระทรวงพาณิชย์เป็นคนวัดและทำเครื่องมือดูว่าสินค้าแพงกี่ตัวไม่แพงกี่ตัว โดยส่วนแรกกรมการค้าภายในติดตามควบคุม และอีกส่วนคือส่วนดัชนี ทำบัญชีในแต่ละเดือน แต่ละจังหวัด โดยให้มีการทำงานถ่วงดุลกันในตัว”
รมต.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ต้องเข้าไปดูแลสินค้าตัวที่จำเป็น อย่างละเอียดในตัวโครงสร้าง โดยมุ่งไปที่อาหารสำเร็จรูปเนื่องจากพฤติกรรมมีการปรับเปลี่ยนไปทานอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็คิดว่าต้องทำกลไกตลาดให้ทำงานเต็มที่ และส่วนไหนที่เป็นจุดอ่อนเช่นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือ SME ที่ต้องมีภาระสูงขึ้น รัฐบาลก็ต้องไปช่วยให้เข้มแข็งมากขึ้นด้วย
“ภารกิจของรัฐบาลที่ต้องทำจริงในช่วงนี้คือ ดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวไปอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งก็ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างเพื่อไม่แผ่วหรือโตเร็วไป ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาครัฐในโครงการต่างๆที่รีบจะเข้าไปทำโครงสร้างต่างๆ ให้เหมาะสมและขยายตัวโตไปเรื่อยๆ ในขณะที่ภาคเอกชนนั้นรัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซง แต่อาจจะเข้าไปกระตุ้นให้มีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งจะมุ่งสินค้าที่มีผลกระทบต่อรายได้ ค่าใช้จ่ายประชาชนอย่างแท้จริง เช่น หมวดอาหารก็มุ่งไปที่วัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ เพื่อชะลอการขึ้นราคาสินค้าในประเภทนั้น”
ขณะที่นายอภิรักษ์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ดัชนีปากท้องของคนไทย พบว่า เดิมค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนอยู่ที่ 16,420 บาท แต่หลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายต่างๆออกมา ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีก14% อยู่ที่ 18,680 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งจะเห็นว่านโยบายของรัฐมีผลกระทบต่อสถานการณ์และค่าครองชีพของประชาชน
“สำหรับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำนั้น เห็นด้วยที่จะมีการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน แต่ไม่เห็นด้วยในส่วนที่จะมีการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงเพราในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน เมื่อบอกว่าจะขึ้นเป็น 300บาททั้งหมด ส่งผลให้แรงจูงใจในการไปเปิดโรงงานในพื้นที่ที่ค่าแรงต่ำหายไป รวมถึงภาพรวมของอาเซียน ในเรื่องค่าแรงเมื่อเปรียบกับเวียดนาม กัมพูชาจากที่สูงกว่าอยู่แล้วก็สูงขึ้นไปอีก ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำร่วมกับเอกชนคือการปรับทักษะของแรงงาน”
ทั้งนี้ นายอภิรักษ์ ได้เสนอเรื่องการบริหารจัดการว่า อยากรัฐบาลให้ทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ เช่น เรื่องของผลไม้ที่รู้อยู่แล้วว่าผลผลิตจะออกในช่วงใด ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีพืชผลเกษตรออกมาน้อยแค่ไหน ก็หาตลาดเพิ่ม แทนที่จะทำที่หลังก็ทำก่อน โดยการเปิดตลาดสินค้าเกษตร รวมถึงเรื่องการส่งเสริมเรื่องการแปรรูปด้วย ซึ่งหากยังมาแก้ตามหลังก็จะมีการปัญหาซ้ำซาก
“รัฐบาลควรทำงานกันอย่างใกล้ชิดในแต่ละกระทรวง เพราะเรื่องของแพงไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์เพียงกระทรวงเดียว อยากให้มีการประชุมเศรษฐกิจร่วมกัน เพราะจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด นอกจากนี้ในเรื่องของมาตรการการช่วยเหลือ ที่รัฐบาลต้องมีมาตรการที่เข้ามาดูแลกลุ่มพี่น้องประชาชนโดยต้องดูเป็นเฉพาะกลุ่ม นั่นคือคนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ แรงงาน ให้ดูค่าครองชีพทั้งหมดทั้งรายรับและรายจ่าย นอกจากค่าแรงแล้วก็ยังมีเรื่องของอื่นๆด้วย เช่น ค่าไฟฟรี อย่ามองแค่ปลายทางแต่ต้องมองว่าจะลดภาระของประชาชนได้อย่างไร”
สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการ รมต.พาณิชย์ (เงา) กล่าวด้วยว่า ต้องเร่งเข้าไปติดตามว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จะมีมาตรการที่จะไปช่วยเหลือได้อย่างไร ต้องมีกลไกที่จะเข้าไปช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินที่คล่องตัว เพื่อให้เขาอยู่ได้ ซึ่งต้องลดต้นทุน หรือไม่ต้องก็ต้องเพิ่มราคาสินค้า และอีกกลุ่มคือ พ่อค้า แม่ค้า ซึ่งนอกเหนือจากราคาแนะนำแล้วต้องเข้าไปดูเรื่องของค่าเช่าที่เป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง รวมถึงหนี้นอกระบบที่ค่อนข้างสูงด้วย
“รัฐบาลควรทบทวนนโยบาย โดยเฉพาะด้านพลังงาน ที่ต้องมีความชัดเจน เนื่องผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะได้ทราบว่าโครงสร้างพลังงานนั้นเป็นอย่างไร รวมถึงเรื่องค่าแรง 300 บาท ที่การจะขึ้นครบ 77 จังหวัดนั้นเป็นเรื่องยาก และเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ รัฐบาลควรอุดช่องโหว่ในเรื่องของการรับจำนำสินค้าการเกษตร ที่รัฐบาลควรมองไปข้างหน้าในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ควรเร่งสร้างมูลค่าและหาตลาด รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งต้องเร่งสร้างความมั่นใจเพื่อไม่ให้มีการย้ายฐานการผลิต”
นายประพจน์ กล่าวว่า ตัวสำคัญที่ทำให้ของแพงหรือไม่แพงนั้นมาจากการที่มีการเมืองมานำหน้า คืออะไรก็เล่นการเมืองและส่งผลต่อประชาชน ซึ่งการเมืองนำหน้าหมายความว่าทุกอย่างจะถูกบิดเบือนข้อเท็จจริง ทั้งที่ความจริงของจะแพงก็ต้องแพงไปตามฤดูกาล ซึ่งปัจจุบันการแก้ไขปัญหาต่างๆนั้นไม่มีจุดยืน โดยเห็นว่าอีก 6 เดือนก็ยังแก้เรื่องของแพงไม่ได้ เพราะว่าลักษณะการแก้ถ้ามีการเมืองเข้ามานำหน้าทุกอย่างจะพังหมด เพราะมันไม่จริง ซึ่งรัฐบาลควรต้องมีกลยุทธ์ที่ช่วยประชาชน เช่น มีแนวความคิดที่จะชี้ให้ประชาชนรู้ว่าอะไรควรประหยัดและไม่ควรประหยัด ไม่ใช่เกิดเรื่องแล้วค่อยมาแก้
“อีก 3 ปีจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว เราจะสู้ได้หรือไม่ ในขณะที่ทั่วโลกยกเลิกการคุมราคาไปแล้ว ในขณะที่เรานั้นเมื่อมีปัญหาก็ใช้วิธีคุมราคา ทำให้เศรษฐกิจไม่โต คำถามคือเราจะคุมราคาเขาหรือไม่ จะไปขอร้องให้เอกชนคุมราคา โดยที่อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ต้องลดต้นทุน ซึ่งหากมาดูแลเอกชนจะเห็นว่ากำไรทรหดมาก เพราะต้องคุมราคา อยากให้กลไกการตลาดเป็นจริง ขึ้นก็ต้องขึ้น ลงก็ต้องลง เหล่านี้จะช่วยให้ของถูกลง แต่การคุมราคาขายจะทำให้ของแพงขึ้น กลไกตลาดถ้าไปบิดเบือนเมื่อไหร่ถือว่าอันตราย”
นายประพจน์ กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลรับฟังทุกฝ่ายและไปตามทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่ถึงเวลาแล้วค่อยเตรียม เพราะจะไม่ทัน ทั้งนี้ ข้าวยากหมากแพงทำได้ จะให้มันแพงก็ได้ ถูกก็ได้ เราต้องสร้างประชาชนให้เข้มแข็ง สร้างเครือข่ายให้พึ่งตัวเองและที่สำคัญคือย่าทำการเมืองทุกฝ่ายเข้าไปนำหน้า
ด้าน ดร.นิตินัย กล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคที่เงินไม่มีมูลค่า เพราะเงินเหลือเยอะและมีการอัดฉีดเข้าระบบเพื่อแก้วิกฤตเยอะขึ้น ทำให้ของแพงขึ้นทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย สำหรับนโยบายของรัฐที่ใช้ในการแก้ปัญหานั้น ตนมองว่าเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน ที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างคือการแก้จะลดราคาสินค้าด้วยนโยบายการเงิน ที่เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับดอกเบี้ยสูงและเงินบาทแข็งค่าที่จะตามมาด้วยกัน ซึ่งเป็นการดูดซับสภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ขณะนี้มีหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.3 ล้านล้านบาทแล้ว
“ปัจจุบันมีการบิดเบือนตลาดทำให้เกิดการอมโรค พอของแพงก็ไปขึ้นค่าแรง 300 บาท ซึ่งก็เป็นผลดีต่อแรงงาน แต่ในขณะเดียวกันก็กังวลว่าอุตสาหกรรมขนาดเล็กจะสามารถรับมือไหวหรือไม่ เพราะภาคเอกชนเองต้องเติมเงินเข้าไป 3.7 ล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็น SME ที่มีพนักงานต่ำกว่า 20 คน2.8 หมื่นล้านบาทต่อเดือน บริษัทใหญ่ 8,000 กว่าล้านบาท” ดร.นิตินัย กล่าวและว่า สิ่งที่ต้องทำในระยะยาวคือเพิ่มค่าแรงควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภาพ สำหรับในระยะสั้นนั้นต้องดูว่าคนจน 70% ใช้หรือบริโภคสินค้าหมวดใดกันเยอะ ก็ให้เข้าไปช่วยแก้ไขเป็นอย่างๆไป เช่น ไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่าง