“ดร.โกร่ง” ขอขัดใจเอ็นจีโอ ลั่นครั้งนี้ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ประธาน กยอ.ระบุไทยไม่เคยมีระบบจัดการน้ำ ย้ำจำเป็นต้องลงทุนเปลี่ยนระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำอื่นๆ พร้อมแนะธุรกิจต้องปรับตัว 2 เรื่อง ลดจำนวนแรงงาน-เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ
วันที่ 25 เมษายน ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่ง ในงานครบรอบ 60 ปีไทยโทรทัศน์ 35 ปี อสมท. เรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” ตอนหนึ่งถึงเรื่องค่าแรงว่า เราต้องเผชิญอย่างแน่นอนในอนาคต ทั้งเรื่องค่าแรง การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติ จะหายไป เมื่อประเทศของคนเหล่านั้นมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ฉะนั้นประเทศไทยต้องมีการเตรียมการรับมือไว้
“ประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานของไทยได้เลื่อนฐานะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิตสูงกว่าแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นหากแรงงานต่างชาติเริ่มทยอยกลับประเทศ ธุรกิจต้องเตรียมปรับตัว 2 อย่างคือ เราต้องไต่ขึ้นไปเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้ทุน เครื่องจักร และความรู้ข่าวสารมากขึ้น แล้วใช้แรงงานให้น้อยลง นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำจะต้องถีบตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันแค่ 300 บาทยังร้อง ดังนั้น ผมไม่เชื่อว่าทุกวันนี้จะสามารถจ้างคนมาตัดหญ้า เช็ดบ้านได้วันละ 300บาทแล้ว ในจังหวัดอื่นๆก็เช่นกัน การจะหาคนเกี่ยวข้าววันละ 300 บาท ก็ต้องไปใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน”
ดร.วีรพงษ์ กล่าวถึงการเปิดตลาดอาเซียนในปี 2558 หลังจากนี้ความเชื่อมโยงของตลาดจะมีมากขึ้น เพราะเราได้ทำสัญญาเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ มากมาย ดังนั้น การจะกีดกันการค้า สินค้า และบริการ กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว
สำหรับเรื่องระบบบริหารจัดการน้ำ ประธาน กยอ. กล่าวว่า ปัจจุบันระบบโครงสร้างที่เกี่ยวกับน้ำของจีน เกาหลีใต้ หรือมาเลเซีย ไปไกลหมดแล้ว มีการจัดการเป็นระบบ ทำงานผ่านดาวเทียม ในขณะที่ประตูระบายน้ำบ้านเรายังใช้คนหมุนอยู่ และเมื่อถึงเวลาที่น้ำมาในปริมาณมากประตูน้ำก็พังได้ง่าย อย่างเช่น ประตูน้ำบางโฉมศรี และประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ นั้นถือว่า เป็นประตูระบายน้ำที่ทันสมัยเมื่อร้อยปีก่อน แต่พอเกิดน้ำท่วมทำให้เราเห็นความล้าหลังของประเทศไทยทั้งหมด
"ที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะเราไม่ค่อยคิดกันหรือคิดไม่เป็นหรือไม่อยากทำก็ไม่ทราบ 10 กว่าปี ระบบบริหารจัดการน้ำ ผมถือว่าไม่มี ฉะนั้นการจะลงทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำอื่นๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง งบประมาณที่ขอไป 3.5 แสนล้านบาท ต้องนำไปใช้เสริมคัน คู คลอง ที่สำคัญประตูน้ำต้องเปลี่ยนใหม่หมด และต้องเปลี่ยนระบบทั้งหมดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไล่มาตั้งแต่ ปิง วัง ยม น่าน และต้องสร้างเขื่อนกิ่วลม เพื่อไม่ให้ท่วม จังหวัดนครสวรรค์"
ขณะที่บริเวณลุ่มแม่น้ำยมนั้น ประธาน กยอ. กล่าวว่า ยังเป็นฟันหลออยู่ เพราะถูกต่อต้านจากเอ็นจีโอมาตลอด ฉะนั้นเที่ยวนี้คงต้องมีการขัดใจเพื่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น มิเช่นนั้นจะเกิดความเสียหายอย่างมาก ซึ่งเหล่านี้จะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วง 18 เดือนที่มีความผูกพันกับงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท รวมกับอีก 5 หมื่นล้านบาท สำหรับตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติ ซึ่งขณะนี้มีผู้มาประกันภัยแล้ว 300 ล้านบาท
ประธาน กยอ. กล่าวถึงระบบรางรถไฟด้วยว่า ล้าหลังโลกไปร้อยปี ฉะนั้นต้องคิดเรื่องระบบรางใหม่ โดยระบบเดิมก็เก็บไว้ไม่ต้องรื้อทิ้ง รวมถึงโครงการรางรถไฟรางคู่ก็ยังคงมีอยู่ แต่ควรเปลี่ยนหัวจักรระบบดีเซลเป็นระบบไฟฟ้า และเป็นระบบช้าสำหรับส่งของ แต่การส่งของต้องลงทุนอีกมาก ระบบรางต้องถือกับทางหลวงคือรัฐบาลต้องจ่าย ประชาชนผู้เสียภาษีต้องจ่ายให้ผู้ใช้รถไฟรับผิดชอบเฉพาะเดินรถ
“ผมจะผลักดันในเรื่องระบบรางให้กลับมาทันสมัย นอกจากรางคู่แล้วต้องมีระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นและรัฐบาลได้ตัดสินใจแล้วว่าจะมีรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯเชื่อมกับมาเลเซีย แต่ทั้งนี้ให้เป็นโครงการทำรวดเดียวแล้วค่อยอนุมัติไม่ได้ ต้องตัดเอาที่ทำได้ก็ทำไปก่อน เพื่อให้มันเร็วอะไรทำได้ทำก่อน อย่างทางเหนือก็ให้ถึงจังหวัดพิษณุโลกก่อน อีสานก็ให้ถึงโคราช ส่วนภาคตะวันออกก็ไปถึงพัทยาแล้วจึงต่อไประยอง เรียกได้ว่า อย่างน้อยก็เอาหางแช่น้ำไว้ก่อน มาทำต่อจะง่ายกว่า”