ถึงคิวแบงก์ จับมือประกาศเจตนารมณ์ 'ต้านโกง'
“ดร.บัณฑิต” ลั่นต้านคอร์รัปชั่นไม่ใช่ลงนามแล้วจบ-มีภารกิจผูกพัน เป็นรูปธรรม ระบุแนวร่วมต้านโกงในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ด้าน ดร.ธวัชชัย แจง ป้องคอร์รัปชั่นได้ต้องก้าวหน้ากว่าโจร
วันที่ 27 มีนาคม สมาคมธนาคารไทย ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมเป็น “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต”ณ โรงแรมโฟร์ซีซันส์ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารสมาชิก 15 แห่ง อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารธนชาติ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารทิสโก้ ธนาคารยูโอบี ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) และธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย เดินทางมาร่วมงาน
ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงการลงนามในครั้งนี้ว่า สมาคมธนาคารไทยมีแนวคิดในเรื่องการลดปัญหาคอร์รัปชั่น และธนาคารนั้นก็มีเงินจำนวนมากผ่านมือทุกวัน ซึ่งถ้าเราเข้ามาช่วยดูในจุดก็จะเกิดประโยชน์ อีกทั้งที่ผ่านมาเราได้มีการตั้งชมรมป้องกัน ตรวจสอบทุจริตขึ้น ในลักษณะความร่วมมือระหว่างธนาคารสมาชิกอยู่แล้ว แต่เล็งเห็นว่ายังอยู่ในขอบเขตที่แคบ เมื่อมาร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น และการลงนามกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยในวันนี้ ก็เชื่อว่าน่าจะมีแผนงานและกิจกรรมเพิ่มขึ้น อาทิ การขยายผลเกี่ยวกับความเสียหายของคอร์รัปชั่นให้ประชาชนได้รับทราบในวงกว้างมากขึ้น
“บทบาทของสมาคมธนาคารฯ ในการมีส่วนร่วมป้องกันคอร์รัปชั่นนั้น ในกฎหมายการฟอกเงินได้ระบุให้ธนาคารรายงานความไม่ชอบมาพากล กรณีที่มีเงินเข้า-ออกผิดสังเกตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เนื่องจากการทุจริตส่วนใหญ่นั้นพบว่า เงินจะต้องผ่านเข้าสู่ระบบธนาคารแทบทั้งหมด ซึ่งถ้าธนาคารทุกแห่งรายงานความเคลื่อนไหวดังกล่าวทันทีก็จะเกิดประโยชน์”ดร.ธวัชชัย กล่าว และว่า ทั้งนี้ การป้องกันคอร์รัปชั่นนั้นต้องไม่ได้หยุดอยู่กับที่ อย่างน้อยต้องก้าวหน้ากว่าคนร้าย 4-5 ก้าวเสมอ
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเอกชนในการต่อต้านคอร์รัปชั่นว่า มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ มีบริษัทที่สนใจเข้ามาเป็นแนวร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้ยอดผู้เข้าร่วมอยู่ที่ 67 บริษัท ทั้งที่จดทะเบียนในและนอกตลาดหลักทรัพย์ มีทั้งบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ไปถึงขนาดเล็ก ซึ่งสะท้อนถึงกระแสตอบรับที่ดี สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่ได้ประกาศไว้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำต่อไปจากนี้คือ การกระจายความเข้าใจในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นไปยังบริษัทธุรกิจให้มากขึ้น
ดร.บัณฑิต กล่าวถึงผลในเชิงรูปธรรมของการประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ว่า บริษัทที่เข้าร่วมโครงการได้ตกลงกันว่า 1.จะจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายในองค์กร รวมถึงนำนโยบายต่อต้านการทุจริตและแผนการกำกับการปฏิบัติงานไปปฏิบัติ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือในรูปแบบ ‘จรรยาบรรณธุรกิจ’ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจของผู้บริหารและพนักงาน 2.จะมีการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนนโยบายภายใน ประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงแนวทางความสำเร็จในการประกอบธุรกิจอย่างมีคุณธรรมถูกต้องและโปร่งใส และ 3.จะร่วมมือกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียในการสร้างแนวร่วมต่อต้านการทุจริต พร้อมทั้งยินดีให้คณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตเข้าไปตรวจสอบภาคเอกชนในทุก 3 ปี
ด้าน ดร.พนัส สิมะเสถียร ประธานแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นในปัจจุบันมีความกว้างขวาง และเป็นปัญหาที่ต้องขจัดจากสังคมไทย ทั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่สมาชิกจะได้ทำงานร่วมกันผลักดัน ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
ขณะที่คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า การที่สมาคมธนาคารในฐานะผู้ที่อยู่กับเงินกับทอง ผ่านมือผ่านตาเข้าร่วมในแนวทางดังกล่าว ถือว่าเป็นส่วนร่วมสำคัญอย่างมาก ขณะเดียวกันภาคเอกชนจะได้ทำงานร่วมกันมากขึ้นในการปฏิบัติการต่อต้านคอร์รัปชั่น
“ทั้งนี้ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านคอร์รัปชั่นนั้น จะเน้นหนักในเรื่องของวิชาการ เช่น การมีหลักสูตรอบรมผู้บริหารให้รับทราบถึงแนวทางการต่อต้านคอร์รัปชั่น มีการรับสมาชิกเป็นรายบริษัท ซึ่งแตกต่างจากการทำงานของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่เน้นในเรื่องการสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ” คุณหญิงชฎา กล่าว
คำประกาศเจตนารมณ์ แนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริต http://www.thaireform.in.th/multi-dimensional-reform/2011-12-08-05-21-57/item/7350--collective-action-coalition-.html