สภาพัฒน์ฯ เผยนักลงทุน 30% ต้องการย้ายที่ตั้ง รง. แนะหาพื้นที่ศก.ใหม่รองรับ
เลขาธิการ สศช. ระบุ สร้างอนาคตประเทศให้ดีกว่าเดิม ปลูกป่าต้นน้ำ- สร้างการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ เชื่อทำได้จริง พื้นที่กลางน้ำ-ปลายน้ำ ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่
วันที่ 25 มกราคม นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางประเทศไทยกับความเชื่อมั่นด้านภัยพิบัติ” ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ตอนหนึ่งถึงความพยายามของรัฐบาลพยายามในการเร่งรีบแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจ หากน้ำในปีนี้มีปริมาณเท่ากับปีที่ผ่านมา กระบวนการบริหารจัดการจึงต้องดีกว่า หรือหากมีปริมาณน้ำมากขึ้น ผลกระทบต้องลดน้อยลง ดังนั้น จึงต้องมีการสร้างอนาคต ปลูกสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม (build back better)
"การสร้างให้ดีกว่าเดิมนั้น นอกจากมีมาตรการเร่งด่วน 6 มาตรการตามที่ กยน. เสนอแล้ว ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในเรื่องของการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เพื่อเป็นแหล่งซับน้ำ และต้องสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่เช่นนั้นมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเชิงสิ่งก่อสร่าง หรือไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะมนุษย์ถือเป็นปัจจัยชี้ขาด"
ส่วนโครงการก่อสร้างที่จะมีขึ้นในระยะเร่งด่วนนั้น นายอาคม กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเน้นก่อสร้างโครงการขนาดเล็ก เล็กจิ๋วและขนาดกลาง เนื่องจากการลงทุนนั้น ไม่ต้องลงทุนมากจนเกินความจำเป็น เพราะปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการน้ำบางครั้งไม่ได้เกิดจากเรื่องสิ่งก่อสร้าง วิศวกรรม แต่เป็นเรื่องของการบริหาร การมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องของความเข้าใจ และการร่วมกันอนุรักษ์ป่า ฉะนั้น หากมีการจัดการเรื่องป่าต้นน้ำ ระบบพร่องน้ำที่ดี สิ่งก่อสร้างบริเวณกลางน้ำ ปลายน้ำก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างให้ใหญ่โตมโหฬาร การพิจารณาในเรื่องสิ่งก่อสร้าง จึงต้องคำถึงถึงความคุ้มค่า ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
สำหรับการออกแบบสิ่งก่อสร้างป้องกันน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมนั้น นายอาคม กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการออกแบบสิ่งก่อสร้างไว้หลาย scenario รวมทั้งมีการพิจารณาในเรื่องของรอบการเกิดอุบัติภัย เพื่อเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจว่า การลงทุนขนาดใดถึงจะเหมาะสม
“นอกจากเรื่องการป้องกัน สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ระบบคมนาคมขนส่ง เมื่อเกิดเหตุการณน้ำท่วม วัสดุ สินค้า รวมถึงคนงานต้องสามารถเข้าออกโรงงานได้ ซึ่ง คณะกรรมการ กยอ. ได้เสนอทางเลือกในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในอนาคต อาทิ วงแหวนรอบที่ 3 เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกรุงเทพและปริมณฑล ระบบรถไฟ เพื่อการเดินทางของประชาชน รถไฟความเร็วสูง ทางหลวงเพิ่มเติมต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ"
ช่วงท้ายนายอาคม กล่าวถึงทิศทางอุตสาหกรรมไทยด้วยว่า ผลการสำรวจของเจโทร พบว่า นักลงทุน 70% จะไม่ย้ายฐานการผลิต ขณะที่อีก 30% แม้จะยังคงเดินหน้าประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่ต้องการย้ายพื้นที่ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ โดยต้องพิจารณาร่วมกันว่า พื้นที่ใดจะมีศักยภาพในการรองรับอุตสาหกรรม รวมถึงไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของน้ำท่วม ทั้งนี้ ได้มีการไปมองพื้นที่แนวเศรษฐกิจด้านตะวันออก(East-West Corridor) และพื้นที่เศรษฐกิจด้านตะวันตก (Southern Corridor) ขณะที่รัฐบาลต้องมีมาตรการจูงใจ ทั้งมาตรการทางภาษี บีโอไอ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างทางหลวง ระบบรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เพื่อการคมนาคมขนส่งที่รวดเร็ว
ส่วนสถานการณ์ฝนในปีนี้จะเป็นอย่างไรนั้น นายอาคม กล่าวด้วยว่า กยน. ได้มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับฤดูฝนไว้แล้ว แต่ขณะนี้พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนมีมากกว่าค่าเฉลี่ยของปีที่แล้ว 2-3 เท่า ซึ่งก็เป็นการส่งสัญญาณว่า ปริมาณน้ำในปีนี้มากกว่าปีที่แล้วหลายเท่า แนวความคิดเดิมในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับการเกษตร ผลิตกระแสไฟฟ้า คงต้องคำนึงถึงเรื่องของน้ำท่วมด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุล และต้องมีแผนการปล่อยน้ำประจำปีที่ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยปฏิบัติสามารถทำงานได้ โดยเฉพาะกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขณะเดียวกัน ต้องมีการเตรียมพื้นที่ในการรับน้ำไว้ด้วย
“ส่วนการกำหนดพิกัดพื้นที่รับน้ำจะกว้างใหญ่เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการพยากรณ์ แบบจำลองว่าตั้งอยู่บนสมมุติฐานใด มีความเป็นไปได้ โอกาสที่จะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการต้องร่วมกันคิด วิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วคงต้องมีแผนบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อเหลือเพื่อขาดควบคู่ไปด้วย"