แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
พรรคร่วมรัฐบาลถกแก้ รธน.นัดแรก “พงศ์เทพ” ยันไม่ใช่เกมซื้อเวลา
“คำนูญ” หนุนเดินหน้าลงมติ รธน.วาระ3 อัดตั้งพรรคร่วม ถกแก้ รธน. ล่าช้า-ดึงเกมซื้อเวลา ด้านนิติราษฎร์ ระบุร่าง รธน.ฉบับใหม่ เขียนให้ชัด ศาลมีอำนาจคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หวังตัดวงจรปัญหา
วันที่ 7 สิงหาคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาหัวข้อ “อำนาจตุลาการกับการแก้รัฐธรรมนูญ” ในงานวันรพี ประจำปี 2555 ที่ มธ. โดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. และกลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช ร่วมเสวนา
นายปูนเทพ กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถเข้ามาคุม ตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้นั้น ไม่สามารถทำได้ทันที แต่ต้องเข้ามาอย่างมีเงื่อนไข อาทิ เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบ เช่นในประเทศตุรกี หรือกรณีที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้มีอำนาจตีความและสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ ตามแบบของประเทศเยอรมัน ออสเตรีย ซึ่งประเด็นนี้มีข้อโต้เถียงกันมากในเรื่องเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า ทฤษฎีดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้ เพราะภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญไทยปัจจุบัน ไม่มีช่องทางไหนเลยที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ รัฐสภาต่างหากคือองค์กรที่มีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลกันเอง
ส่วนสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น นายปูนเทพ กล่าวว่า ควรมีการเขียนให้ชัดเจนไปเลยว่า ศาลมีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ จะได้เกิดปัญหา ไม่ต้องอาศัยช่องทางที่สลับซับซ้อน ในขณะเดียวกันเมื่อเขียนให้อำนาจศาลแล้ว ศาลก็ต้องมีความรับผิดชอบ ตรวจสอบได้ รวมทั้งยึดโยงกับประชาชน อย่างไรก็ตามถ้าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เช่น การยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ยกเลิก ส.ว. หรือกระมั่งยกเลิกองคมนตรี ก้สามารถทำได้เลย ไม่กระทบรูปแบบของรัฐ
นายคำนูณ กล่าวว่าในประเด็นข้อกฎหมาย นักกฎหมายมีความเห็นแตกต่างหรือคล้ายคลึงกันได้ ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องต้องกัน แต่เมื่อประเทศไทยมีการออกแบบให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อองค์กรนี้ได้ทำหน้าที่ไปแล้ว ผลการตัดสินจะเป็นอย่างไร จะเห็นด้วยหรือไม่ ย่อมมีผลผูกพันกับทุกองค์กรของรัฐ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีข้อยุติ เถียงกันไม่จบ ส่วนจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกันอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง ขึ้นอยู่กับพรรครัฐบาลว่าจะหารือกันอย่างไร
“เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 เป็นอำนาจของรัฐสภา ถ้ารัฐบาลอยากจะเป็นหัวหอกในการแก้รัฐธรรมนูญ ก็ควรเดินหน้าลงมติวาระ 3 ไปเลย หากตนไม่เห็นด้วยก็จะออกเสียงไม่เห็นด้วย แพ้ชนะก็ว่ากันไป แต่รัฐบาลอย่าซื้อเวลา เพื่อรักษาสถานภาพของรัฐบาลให้อยู่ต่อไปได้ ส่วนการตั้งคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล ในการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมานั้น กว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าจะล่าช้าเกินไป” นายคำนูณ กล่าว และว่า ส่วนที่เกรงว่าเมื่อดำเนินการไปแล้วนั้น จะมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 อีก ตนเห็นว่าควรให้กระบวนการดำเนินต่อไป และโดยส่วนตัวก็อยากเห็นเช่นกันว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร
ขณะที่นายคมสัน กล่าวถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า ไม่ได้กระทำเกินขอบเขตของอำนาจศาลแต่อย่างใด เพราะการตีความรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องนึกถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ควรมีองค์กรใด หรืออัยการสูงสุดมาทอนอำนาจสิทธิของประชาชนในการเสนอเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ที่เรื่องนี้ประเด็นกลายเป็นปัญหาและศาลถูกยำอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
ด้านนายพงศ์เทพ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อีกทั้งเมื่ออ่านคำวินิจฉัยของศาลแล้ว ก็ไม่พบว่าการมีตัดสินในประเด็นที่เป็นข้อต่อสู้แต่อย่างใด ส่วนที่ผ่านมา การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมาพูดแสดงความในประเด็นเกี่ยวกับคดีที่กำลังพิจารณาอยู่นั้นได้สร้างความคลางแคลงใจในเรื่องความมีอคติของศาล ซึ่งตนเห็นว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างหนักในสังคมขณะนี้ ผู้ที่มีอำนาจตัดสิน นั่นก็คือตุลาการ ต้องยึดมั่น เที่ยงธรรม เพราะถ้าตุลาการขาดความน่าเชื่อถือแล้ว ไม่ว่าจะตัดสินเรื่องได้คนก็ไม่เชื่อถือ และถ้าขาดความน่าเชื่อถือแล้วก็อย่าไปตัดสินอะไรเลย
ทั้งนี้ นายพงศ์เทพ กล่าวถึงการตั้งคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล ในการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยว่า ไม่ได้เป็นการซื้อเวลา แต่เนื่องจากคำวินิจฉัย การใช้กฎหมายในปัจจุบันนั้นมีหลายเรื่องที่คาดไม่ถึง จึงต้องรอบคอบกันมาก