แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
กก.สิทธิฯ มองไฟใต้ ชี้ความมั่นคงส่วนรวมต้องมาก่อนหลักนิติธรรม
นักวิชาการ เผยสหประชาชาติติงการใช้กฎอัยการศึก-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แก้ปัญหาชายแดนใต้ ระบุการจำกัดสิทธิต้องชัดเจน พิสูจน์ได้ว่าจำเป็น-มีกม.รองรับ ไม่ได้ทำตามอำเภอใจ
วันที่ 6 สิงหาคม คณะอนุกรรมการวิชาการว่าด้วยหลักนิติธรรมสากล ในคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (ศอ.นธ.) จัดสัมมนาวิชาการ “หลักนิติธรรมระหว่างประเทศเพื่อสิทธิมนุษยชน” ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาพิเศษ “หลักนิติธรรมระหว่างประเทศเพื่อสิทธิมนุษยชน” ตอนหนึ่งว่า หลักนิติธรรม (Rule of Law) ในระดับสากลนั้น หากมีการตีความความหมายอย่างกว้างก็จะครอบคลุมทั้งเรื่องสิทธิทางการเมือง การแสดงออก สิทธิมนุษยชน การขึ้นศาล กฎหมาย สังคม เศรษฐกิจ ความเป็นธรรมและธรรมาภิบาล ซึ่งเมื่อเกิดสหประชาชาติขึ้นก็ทำให้หลักนิติธรรมมีหลักประกันที่แน่ชัดผ่านสนธิสัญญา ข้อตกลงต่างๆ
“ในส่วนของประเทศไทยนั้น แม้ปัจจุบันรัฐธรรมนูญปี 2550 เช่น มาตรา 3 จะกำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่การมองเรื่องสิทธิมนุษยชนจากรัฐธรรมนูญไทยอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอ เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญไทยส่วนใหญ่มาจากพลังบางอย่าง หรือการใช้ความรุนแรงบางส่วน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้อาจมีปัญหาเรื่องหลักสากล การเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นเห็นว่า การมองเรื่องหลักนิติธรรมจึงต้องดูกระแสสากลควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้เมื่อหลักนิติธรรมเป็นเรื่องของการใช้อำนาจ การตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) จึงเป็นคานสำคัญในการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ”
ศ.วิทิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันไทยเป็นภาคีสมาชิกสนธิสัญญา ในเรื่องสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมือง พลเรือนและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิสตรีฯ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กฯ อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติที่กีดกั้นทางเชื้อชาติ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการกระทำที่เหยียดหยาม และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ
"นอกจากนั้นยังมีความสนใจในกฎหมายอีก 2 ฉบับคืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิแรงงานต่างด้าว และอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามอุ้ม เช่นกรณีคดีนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการเป็นภาคีอย่างเต็มตัว"
ศ.วิทิต กล่าวว่า ทั้งนี้ ผลของการเป็นภาคีคือ ต้องปฏิรูปกฎหมาย นโยบายและการปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งถูกตรวจสอบตรง จากกรรมการของสหประชาชาติ โดยส่งรายงานแห่งชาติเป็นครั้งคราว ซึ่งหากมีคำแนะนำจากกรรมการดังกล่าวก็ควรปฏิบัติตาม
“เช่นในส่วนของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมือง พลเรือนและสิทธิทางการเมืองนั้น พบว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้ฝากข้อคิดให้กับหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วยว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพในหลายส่วนนั้นสามารถจำกัดได้ แต่ในส่วนที่เป็นสิทธิเด็ดขาดไม่สามารถจำกัดได้เลย เช่น ห้ามทรมาน ห้ามค้าทาส สิทธิในการมีชีวิตไม่ถูกประทุษร้าย ไม่ถูกอุ้ม รวมทั้งการประหารผู้ที่ต่ำกว่าอายุ 18 ปี
ขณะที่การประกาศกฎอัยการศึก ในเหตุฉุกเฉินต่างๆนั้น จะต้องมีความโปร่งใส พร้อมทั้งแถลงให้สหประชาชาติได้รับทราบ ซึ่งที่ผ่านมาคาดว่าในประเทศไทยมีการแถลงประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้นคือในช่วงปีเหตุการณ์ความขัดแย้งช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ปี 2553 โดยส่วนตัวจึงเห็นว่าต่อไปจะต้องมีการแถลงประกาศใช้ หรือขยายเวลาการใช้กฎหมายดังกล่าว พร้อมทั้งต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการจำกัดสิทธินั้นมีความจำเป็นจริงๆ มีกฎหมายรองรับ ไม่ใช่เป็นไปตามอำเภอใจของผู้บริหาร ที่สำคัญต้องมีวัตถุประสงค์ตามหลักสากลคือ มุ่งไปสู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม”
ติงหลักนิติธรรมชายแดนใต้ ยังมีปัญหา
ศ.วิทิต กล่าวอีกว่า ส่วนการใช้หลักนิติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น ก็ถูกติงจากคณะกรรมของสหประชาชาติ เรื่องการใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้นเมื่อใช้ร่วมกันแล้วสามารถกักตัวคนได้ โดยไม่ต้องขึ้นศาลนานถึง 37 วัน ทั้งที่ตามหลักนิติธรรมกำหนดให้การขึ้นศาลต้องกระทำโดยทันที และถึงแม้ปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐจะยินยอมให้ครอบครัวเข้าถึงบุคคลที่ถูกกักขังได้ภายใน 3 วัน แต่อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องว่า บุคคลที่ถูกกักตัวต้องสามารถเข้าถึงทนายได้โดยทันที ระยะเวลา 3 วันนั้นนานเกินไป
“ส่วนที่จะมีการนำพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงแห่งรัฐใหม่ มาใช้แทนกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น อยากฝากข้อคิด โดยเฉพาะมาตรา 22 เรื่องการกำหนดให้สามารถฝากตัวบุคคลที่ต้องสงสัยเข้าสู่การอบรมได้ แม้จะเป็นไปโดยความยินยอม แต่ผู้ที่ติดแบล็คลิสต์อาจประเมินแล้ว เห็นว่าจำเป็นต้องเลือกเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ทำให้ความยิมยอมไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง” ศ.วิทิต กล่าว และว่า ทั้งนี้ สำหรับมาตรการในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ต่อไปนั้น ตนเห็นว่าการเยียวที่แท้จริงตามหลักนิติธรรมนั้น ต้องเป็นการเยียวยาทางพลเรือน ไม่ใช่การเยียวยาฉุกเฉิน ขณะเดียวกันต้องหาทางออกโดยวิธีทางที่สันติควบคู่ไปกับการมีส่วนรวมของภาคประชาชน แต่ทุกวันนี้ยังไม่เห็นการมีส่วนรวมของภาคประชาชนมากนัก
กสม.ชี้ความมั่นคงต้องมาก่อนนิติธรรม
ขณะที่ พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงหลักนิติธรรมระหว่างประเทศกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ว่า การปกครองของรัฐต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม ซึ่งก็คือหลักของความถูกต้อง ความชอบธรรมทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มุ่งให้ความคุ้มครอง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน รวมถึงป้องกันการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด
“แม้ในรัฐธรรมนูญของไทยจะมีการพูดถึงหลักนิติธรรม แต่ไม่ได้มีการอธิบายในรายละเอียดว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้น การปฏิบัติจึงต้องยึดแนวทางของต่างประเทศที่เป็นสากล”
ส่วนที่มีการใช้กฎหมาย เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงทางภาคใต้ของไทยนั้น พล.ต.อ.วันชัย กล่าวว่า แม้เรื่องนี้จะกระทบกระทั่งขอบเขตของระบบนิติธรรมอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่าสามารถยกเว้นได้ในบางข้อ เนื่องจากหลักความมั่นคงของรัฐ และสาธารณชนคงต้องมาก่อนหลักนิติธรรม เพราะความมั่นคงถือเป็นของส่วนรวม ถ้าความมั่นคงอยู่ไม่ได้ สาธารณชนอยู่ไม่ได้ หลักนิติธรรมคงอาศัยอยู่ในบ้านที่ไฟไหม้ไม่ได้เช่นกัน
ด้าน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าในเรื่องหลักนิติธรรม ประเทศไทยต้องไม่ยึดติดกับนิยามที่แคบและตายตัว แต่ต้องเข้าใจพื้นฐาน มีความเป็นธรรมและระบบที่เป็นธรรมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงทั้งในระดับปัจเจก ชุมชน ประชาชาติ
“การทำความเข้าใจหลักนิติธรรมในยุคนี้ต้องไม่ตีความแบบเกาะ อย่ามองอะไรแบบเดียว เพราะกฎหมายไม่ใช่เรื่องทางเทคนิคเท่านั้น มีบริบทภายใต้สถานการณ์ที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ ขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีความหมายเชิงเนื้อหาที่ดี ในเรื่องนิติธรรม สิทธิมนุษยชน แต่กระบวนการนั้นมีการสงวนไว้ ทำให้ไม่มีบททดลองความพึ่งพอใจของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนต้องลุกขึ้นมา อย่าปล่อยให้ภาครัฐเล่นอยู่ข้างเดียว”
นายชาญเชาวน์ กล่าวถึงสถานการณ์ในภาคใต้ด้วยว่า นึกแล้วก็ปวดใจพอสมควร มีการพูดพาดพิงจากรองนายกรัฐมนตรีว่าคนของกระทรวงยุติธรรมไม่ได้ลงไปทำงานในจังหวัดภาคใต้เลย ขณะที่ทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตั้งคำถามว่าจะเอาหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนตรงไหนมาผสมผสานในการทำงาน เมื่อเหล่าทหารต้องแต่งเครื่องแบบมาล่อเป้า ถูกระเบิด
“ดังนั้นตรงนี้จึงกลายเป็นประเด็นปัญหา เพราะประชาชนทุกคนต้องการความคุ้มครองความเป็นมนุษย์เช่นกัน แต่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทปัญหาชายแดนภาคใต้ ยังมีประเด็นคำถามว่าตกลงจะคุ้มครองใคร และเรื่องนี้ยังไม่ได้ถูกหยิบมาพูดถึง เพราะไม่อยากให้เรื่องภาคใต้ยกระดับเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ไม่รู้เพราะอายหรือกลัว แต่ฟังดูเหมือนกับว่าขณะนี้หลักนิติธรรมของไทยขัดกับหลักมาตรฐานสากลอยู่” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว