'เฉลิม' จี้โล๊ะปมทุจริต 3 ด้าน เตรียมส่ง ตร.ประจำจุดรับจำนำข้าว
เฉลิม เรียก 'ดีเอสไอ-สตง.-ป.ป.ท.' ถกปมทุจริตจำนำข้าว-เยียวยาน้ำท่วม-งบอปท. ตั้ง "พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์" เป็นโฆษกฯ จัดจนท. 11 ชุด ลงตรวจสอบระดับพื้นที่
วันที่ 27 กรกฎาคม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว การเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันสาธารณภัย และการใช้จ่ายเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรียกประชุมหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยมี นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษาระดับ10 สตช. และหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมเป็นครั้งที่ 2 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เบาะแสการทุจริตงบประมาณ ทั้ง 3 เรื่อง โดยเฉพาะทุจริตจำนำข้าว ที่ ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องมาให้ตรวจสอบว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย เช่น รับจำนำข้าว 12,000 บาท แต่กลับระบุว่ารับจำนำราคา 15,000 บาท, การให้ใบประทวนปลอม, รับจำนำข้าวน้อยแต่จ่ายเงินมาก อีกทั้งเรื่องเงินเยียวยาน้ำท่วม 120,000 ล้านบาท ที่มีการร้องเรียนเรื่องจำนวนเงินเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม และเรื่องงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการร้องเรียนเรื่องการทุจริต
"เนื่องจากงานนี้เป็นงานใหญ่ และตนเป็นนักการเมือง จึงขอมติที่ประชุมแต่งตั้ง พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม เป็นโฆษกคณะกรรมการฯ"
ขณะที่พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวในที่ประชุมว่า เรื่องทุจริตจำนำข้าว จากข้อมูลพบว่ามีจุดรับจำนำทั้งหมด 917 แห่งทั่วประเทศ เดินมีเจ้าหน้าที่ภาคพลเรือนเข้าไปดูแลแต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือมีอำนาจเท่าใดนัก จากนี้จะจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 2,000 นาย ไปประจำที่จุดรับจำนำจุดละประมาณ 3-5 นาย เพื่อจับตากระบวนการที่ไม่ถูกต้องและช่วยเหลือชาวนา ซึ่งขอสั่งการให้ผู้บัญชาการในแต่ละพื้นที่กลับไปรวบรวมรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่จะมาติดตามโครงการฯ เพื่อเข้าประชุมอบรมและให้ความรู้เบื้องต้นและการสืบสวน ในวันที่ 6 สิงหาคม 2555 เวลา 09.00 น. ณ สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดี
"นอกจากการระดมกำลังประจำในแต่ละพื้นที่แล้ว ได้เตรียมเปิดตู้ ปณ.1234 สายด่วน 1768 และเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากทั้ง 3 โครงการแจ้งเบาะแสการทุจริต"
ด้านนายธาริต กล่าวว่า รองนายกฯ ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบระดับพื้นที่ ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรทั้ง 9 ภาคและศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ แบ่งตามพื้นที่ปฏิบัติการรวมเป็น 11 ชุด โดยมีผู้บัญชาการตำรวจนครบา/ภูธรที่รับผิดชอบพื้นที่ เป็นประธานอนุกรรมการ และมี สตช.เป็นศูนย์ปฏิบัติการหลักรับผิดชอบพื้นที่ภาค ขณะที่ดีเอสไอจะมีรองอธิบดีหรือผู้แทนระดับสูงมาร่วมเป็นอนุกรรมการเป็นพนักงานสอบสวนทั่วราชอาณาจักร ส่วน ป.ป.ท.สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ รวมทั้งมีอำนาจตามกฎหมายพิเศษและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด หากละเว้นจะมีปัญหาต่อการทำงานทันที
ในส่วนอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งนั้น คณะอุกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในพื้นที่รับผิดชอบ ใน 3 กรณี ดังนี้
1.การดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าว
2.การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันสาธารณภัยในท้องถิ่นต่างๆ
3.สั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงายของรัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อมูลหรือแสดงข้อคิดเห็น ตลอดจนให้ความร่วมมือในการดำเนินการตรวจสอบ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต
4.รายงานผลการปฏิบัติ ตลอดจนข้อเสนอแนะ และ/หรือมาตรการที่เห็นสมควรต่อคณะกรรมการ 5.ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย