"อุกฤษ" ชง 7 ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ เสนอตั้ง single command บริหารงานต่อเนื่อง
ประธาน ศอ.นธ. ชง 7 ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ บอกวิธีแก้ปัญหาที่ผ่านมาเหมือน "พายเรือในอ่าง" เสนอตั้ง single command บริหารงานต่อเนื่อง
ศ.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (ศอ.นธ.) นำเสนอยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นสถานการณ์ที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก แม้ที่ผ่านมาภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ จะพยายามแก้ไขปัญหาแต่ไม่เป็นผล เปรียบได้กับ ‘การพายเรือในอ่าง’ ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ยังคงเกิดขึ้น
"ขณะที่ความยืดเยื้อของปัญหา ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจของการใช้ความรุนแรงและผู้อยู่เบื้องหลัง จากเดิมที่ส่วนใหญ่การกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุมาจากอุดมการณ์ต่างจากรัฐ กลายเป็นการก่อเหตุจากแรงจูงใจอื่นมากขึ้น บางส่วนเชื่อมโยงและเอื้อประโยชน์กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ ความเกลียดชัง ความแค้นส่วนตัว จนเกิดการขยายตัวของอำนาจมืดและสิ่งผิดกฎหมาย ความบาดหมางของคนต่างศาสนา เกิดข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และอาจมีการแทรกแซงจากนอกประเทศมากขึ้น ศอ.นธ. จึงขอเสนอให้รัฐบาลดำเนินการตาม 7 ยุทธศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้"
1.ยุทธศาสตร์ความมั่นคง รัฐบาลควรปรับปรุงหรือบูรณาการหน่วยงานที่รับผิดชอบให้มีความเป็นเอกภาพและความต่อเนื่องในการบริหารจัดการทางการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนใต้ ในลักษณะ single command โดยกำหนดให้มีการสรรหาและแต่งตั้ง “คณะผู้บริหารจังหวัดชายแดนใต้” ขึ้นมาทำหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของ ศอ.บต. และรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่และบริหารงานแทนผู็ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ
รวมทั้งแก้ปัญหาความสับสนในการดำเนินการ เพราะขณะนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน อีกทั้งแต่ละหน่วยงานยังมุ่งเน้นใช้กำลังคนและงบประมาณจำนวนมากในการแก้ปัญหา 8 ปีมานี้ใช้งบประมาณแผ่นดินไปแล้วรวม 161,275 ล้านบาท ขณะที่มียอดผู้เสียชีวิตรวมกว่า 5,000 คนผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 8,000 คน เฉลี่ยเกิดเหตุการณ์ 2.5 เหตุการณ์ต่อวัน
ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะผู้บริหารฯให้มีคณะกรรมการสรรหา 7 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้บริหารจากบัญชีคณะบุคคลที่สมัครหรือเสนอบัญชีรายชื่อเข้ามาเป็นทีม โดยจัดให้แต่ละทีมแสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหา และควรเป็นคนหนุ่มสาว ไม่ใช่พวกรอเกษียณอายุ 40-50 ปี ที่สำคัญต้องเป็นคนในพื้นที่จริงๆ และต้องไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด จะได้มีความต่อเนื่อง
2.ยุทธศาสตร์ด้านการปกครองและการบริหารราชการ ควรพิจารณาปรับปรุง แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้การบริหารราชการในแต่ละจังหวัดมีรูปแบบการปกครองที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร หรือ เมืองพัทยา โดยจัดทำในลักษณะนครปัตตานี นครยะลา นครนราธิวาส และกำหนดเงื่อนไขให้มีสมาชิกเป็นอิสลาม 70% พุทธ 30%
3.ยุทธศาสตร์ด้านการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ควรกำหนดให้มีคณะทำงานชุดพิเศษ ประกอบกด้วย นักกฎหมายที่มีความรู้ความสามารถ มีเวลาพอเพียง อาจจะเป็นผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้ว เช่น อดีตพนักงานอัยการชั้นผู้ใหญ่ อดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ อดีตเจ้าหน้าที่ปกครองชั้นผู้ใหญ่ เพื่อทำหน้าที่แสวงหาความเป็นธรรม คลี่คลายคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบ รวมทั้งพิจารณายกเลิกกฎหมายความมั่นคงที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ เช่นยกเลิกพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัด และให้นำพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาใช้แทน เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมีมาตรการที่ให้โอกาสผู้หลงผิดได้แก้ไขตนเองและกลับคืนสู่สังคม
4.ยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ออกกฎกระทรวงกำหนดให้รถยนต์หรือยานพาหนะทุกชนิดมีการติดตั้งเทคโนโลยี RFID เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของรถยนต์หรือยานพาหนะแต่ละคัน เพื่อใช้งานร่วมกับระบบ CCTV ชนิดพิเศษ ที่สามารถจดจำใบหน้าบุคคลต้องสงสัย และเครื่องตรวจค้นวัตถุต้องสงสัย อาทิ สารตั้งต้นวัตถุระเบิด สารเสพติด นอกจากนี้ควรเพิ่มแสงสว่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ติดตั้งเสาไฟฟ้าตลอดสองข้างทางของถนนสายหลัก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้น
5. ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาเรื่องอาวุธสงคราม กำหนดให้มีการทำบัญชีประเภทอาวุธสงคราม และเปิดให้ผู้ครอบครอง นำอาวุธที่ผิดกฎหมายมามอบให้ทางราชการ โดยไม่มีความผิด พร้อมกำหนดค่าชดเชยให้ความเป็นธรรม แต่ถ้าเกินระยะที่กำหนดแล้วมีอาวุธสงครามอยู่ในครอบครอง ให้มีโทษหนัก หากนำอาวุธสงครามไปใช้ก่ออาชญากรรม ให้ลงโทษประหารชีวิต
6. ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา การพัฒนาการศึกษาต้องกำหนดจากล่างขึ้นบน ไม่เน้นแค่ใบปริญญา แต่เน้นให้ผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพได้ สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม และต้องสนับสนุนการศึกษาของเด็กในเรียนปอเนาะ
7. ยุทธศาสตร์ด้านการบริการสาธารณสุข ควรเพิ่มหน่วยพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้มากเพียงพอกับปัญหาความรุนแรงในพื้นที่
ทั้งนี้ ศ.อุกฤษ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอดังกล่าวคาดว่าจะนำเสนอต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรียอมรับข้อเสนอ คงต้องมีการเรียกหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาร่วมหารืออีกครั้ง อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ฝ่ายความมั่นคงจะเข้าใจและทราบถึงสถานการณ์ในพื้นเป็นอย่างดี เห็นได้จากท่าทีขณะนี้ที่เริ่มปรับลดกำลังพลลงแล้ว