ป.ป.ช. เตรียมถกปม “กฤษฎีกา” ชี้ไร้อำนาจออกเกณฑ์ประกาศราคากลาง
ลุ้นความชัดเจน 5 ก.ค. ที่ประชุม ป.ป.ช. เตรียมถก “กฤษฎีกา” ชี้ไร้อำนาจออกหลักเกณฑ์ประกาศราคากลางหน่วยงานรัฐผ่านเว็บฯ ด้าน "ศ.เมธี" ถามรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร ถ้าไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ ป.ป.ช.
ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาให้ความเห็นต่ออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนเข้าตรวจดู ตามมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554
โดยระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติตามมาตราดังกล่าว สิ่งที่ ป.ป.ช. นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นเพียงมาตรการความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือการวางแผนโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันการทุจรติต่อหน้าที่ ตามมาตรา 19 (11) เท่านั้น ซึ่ง ครม.สามารถใช้ดุลพินิจที่จะรับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ไปดำเนินการทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ตามแต่เห็นสมควร
วันที่ 4 กรกฎาคม ศ.เมธี ครองแก้ว กรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายละเอียดดังกล่าว แต่ยืนยันว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช.ในเรื่องการประกาศราคากลางของหน่วยงานรัฐผ่านเว็บไซต์นั้นเป็นไปตามมาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554
“ป.ป.ช.มีหน้าที่ต้องศึกษาและเสนอแนะในเรื่องมาตรการป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะเรื่องราคากลางว่าควรจะดำเนินการอย่างไร ส่วนฝ่ายรัฐบาลจะดำเนินการหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่ทำ หรือไม่ทำแล้วเกิดความเสียหาย คงต้องหารือกันว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการร้องเรียนด้วย เพราะหากไม่ผู้ร้องเรียน ไม่มีผู้เสียหาย เรื่องนี้อาจไม่มีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น”
ศ.เมธี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ค.) ได้มีการบรรจุเรื่องคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อกรณีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวเห็นว่า เพื่อประโยชน์ในภาพรวมแล้วในเรื่องนี้คงเลี่ยงไม่ได้ที่ ป.ป.ช.กับรัฐบาล จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ส่วนทำได้ หรือไม่ได้อย่างไรคงต้องหารือกันต่อไป