นักวิชาการชี้จะแก้ รธน. ต้องถามปชช.ยันสภาฯมีสิทธิ์แก้ได้บางเรื่อง
พล.อ.สมเจตน์ ชี้แก้ รธน. บรรยากาศขณะนี้ยังไม่เหมาะ ด้าน วรินทร์ ยัน ประชาชนมีสิทธิ์พิทักษ์ รธน. ม.68-69 ด้านนักวิชาการแนะแก้ทั้งฉบับต้องถาม ปชช.ก่อน
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา จัดโครงการเสวนา “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย” ณ ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2
พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญนั้น มีเจตนาให้มีการแก้ไข ไม่ใช่เป็นการแก้ทั้งฉบับ เพราะนั่นหมายถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมของประชาชน แต่ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองมีแต่ความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย ไม่เหมาะแก่การแก้รัฐธรรมนูญ จึงมองไม่เห็นเหตุผลใดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ประชาชนมีปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เป็นกลาง รวมถึงปัญหาของแพง คอร์รัปชั่น ที่เป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
"ผมยังไม่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ ด้วยเหตุนี้จึงได้ทำการยื่นเรื่องตามกระบวนการกฎหมาย คือต่ออัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68”
ด้านนายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีประชาชนสามารถใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 68 และ 69 ได้ เพื่อเป็นการดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ มีปัญหาในเรื่องของการตีความที่ ว่า ก่อนที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้นั้นต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อนหรือไม่ โดยมีนักนิติศาสตร์ ขายตัว ขายจิตวิญญาณทางกฎหมาย โดยนำหลักอักษรศาสตร์มาอยู่เหนือหลักนิติศาสตร์และแปลความหมายตามอำเภอใจ
“จึงอยากฝากการบ้านให้ประชาชนว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะพิจารณาสถานะของอัยการและอัยการสูงสุด ให้เป็นกรมอัยการเหมือนเดิม เพราะทุกวันนี้ทำงานให้ฝ่ายบริหาร แทนที่จะดุลอำนาจและเป็นเครื่องมือในกระบวนการยุติธรรม แต่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นผู้ใต้บัญชาของฝ่ายบริหาร”
ขณะที่ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีความตั้งใจให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จึงไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะล้มเลิก ฉะนั้นการเพิ่มเติมบทบัญญัติใหม่จึงเป็นการขัดกันเองในตัว
“การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องถามประชาชนก่อนว่า ยอมหรือไม่ ทั้งนี้เพราะถือว่าประชาชนเป็นผู้ให้อำนาจต่อสภา ฉะนั้นผู้รับอำนาจทำได้แค่เล็กน้อยตามกรอบของ มาตรา 291 นั่นหมายถึง หากจะแก้เป็นเรื่องๆนั้นสามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญต้องถามความเห็นของประชาชน” ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าว และว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นสามารถร่างใหม่ทั้งฉบับได้เนื่องจากประชาชนมีความยินยอมและเห็นชอบ ในขณะที่ปัจจุบันยังมีความแตกแยก ปวงชนไม่เกิดความเป็นปึกแผ่น ดังนั้นแก้ไขไปก็จะทำให้เกิดความแตกแยกเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้กระจ่างเสียก่อน
นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ปัญหาของเมืองไทย คือมีการแปลงอำนาจให้เป็นทุน ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญต้องล้มนักการเมืองและ ทุนผูกขาดให้หมดแล้วจัดสรรใหม่ ทั้งนี้ สิ่งที่สามารถทำได้ คือ ต้องถามประชาชนก่อนว่ าเห็นพ้องหรือไม่ที่จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งต้องมีเหตุผลสำคัญในการแก้ไข ว่าฉบับเดิมมีปัญหาอะไรที่ไม่ชอบธรรม หรือไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้ หรือก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนหรือไม่ ซึ่งหากมีเหตุผลพ้องกันว่า โครงสร้างของการใช้อำนาจและการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนั้นทำงานไม่ได้ และประชาชนเห็นพ้อง ก็สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และได้นัดคู่กรณีที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กรณีคณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จำนวน 5 คำร้อง ได้แก่ ไป ของ 1.พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม และคณะ 2.นายวันธงชัย ชำนาญกิจ 3.นายวิรัตน์ กัลยาศิริ 4.นายวรินทร์ เทียมจรัส และ 5.นายบวร ยสินทร และคณะ รวม 5 คำร้อง มาไต่สวนในวันที่ 5 และ 6 กรกฎาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. เป็นต้นไป