80 ปี รธน. “ศรีราชา” ชี้ความเชื่อถือ-เคารพลดลง เหตุถูกตีความตามใจ
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุ 80 ปีรัฐธรรมนูญ ไทยย่ำอยู่กับที่ เหมือนหมาไล่กัดหางตัวเอง บอก รธน.ที่ดีต้องแก้ปัญหาโง่-จนของประเทศได้
วันที่ 21 มิถุนายน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา “80 ปี รัฐธรรมนูญไทยกับก้าวต่อไปของประชาธิปไตย?” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมี ศ.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเสวนา
ศ.ศรีราชา กล่าวถึงรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมาว่า แต่ละฉบับที่ร่างและประกาศกันมานั้นค่อนข้างยืดยาว มีรายละเอียดมากเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีลักษณะกระชับ ถ้อยคำหลวม ๆ และวางหลักการใหญ่ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกเรื่อง ต่างจากรัฐธรรมนูญของไทยที่มี 300 กว่ามาตรา ยาวเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศอินเดีย
ขณะที่ความน่าเชื่อถือ ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนั้น ศ.ศรีราชา กล่าวว่า การตีความรัฐธรรมนูญตามที่อยากให้เป็นทำให้ความศักดิ์สิทธิของรัฐธรรมนูญน้อยลง รัฐธรรมนูญกลายเป็นเพียงกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีศักดิ์สูงกว่าพระราชบัญญัติเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นกรอบกติกาหลักในการปกครองประเทศ
สำหรับรัฐธรรมนูญไทยกับก้าวต่อไปของประชาธิปไตยนั้น ศ.ศรีราชา กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่ายังห่างเป้าหมาย ยังไร้อนาคต เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในมือของนักการเมืองที่ทำอะไรก็ได้ แล้วแต่ใครจะลากไป โดยที่ไม่ต้องมีพิมพ์เขียว หรือแผ่นแม่บทแต่อย่างใด
“รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ในปัจจุบัน เกือบเป็นฉบับที่ 20 ของประเทศไทยแล้ว และที่ผ่านมาเราได้ส่งคนไปศึกษารัฐธรรมนูญของต่างประเทศ ซึ่งข้อดีก็คือได้ศึกษาเรียนรู้ทัศนะ ความเจริญต่างๆ แต่การที่จะนำสิ่งที่พบเห็นเข้ามาใช้ในประเทศไทย เช่นในสมัยการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ปี 2475 อาจเป็นการรวบรัดและเร็วเกินไปต่อการปูรากฐานของประชาชนในเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เราเดินระหกระเหินจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นตนจึงเห็นว่าประเทศไทยน่าจะมีการศึกษาวิเคราะห์ วิจัยเกี่ยวกับระบอบการปกครองที่เหมาะกับคนไทย ประเทศไทยขึ้นมา เนื่องจากข้อเท็จจริงพบว่าหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศก็ไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะจีน สิงคโปร์ เวียดนาม” ผู้ตรวจการฯ กล่าว และว่า ตนไม่ได้คัดค้านการระบอบประชาธิปไตย แต่พื้นฐานของคนในแต่ละประเทศกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องตอบสนองกลมกลืนกันได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นปัญหาเช่นในประเทศไทยที่ 80 ปีแล้วยังวนเวียนอยู่ที่เดิม เหมือนกับสุนัขวิ่งไล่กัดหางตัวเอง หมุนติ้วๆ ไม่ไปไหน
ศ.ศรีราชา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสำหรับก้าวต่อไปในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนเห็นว่าในการร่างรัฐธรรมนูญต้องมีหลักการรากฐานที่มั่นคง ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ปะพุ หรือตามกระแส ขณะที่รัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่นั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญมีบทบาทสำคัญมาก ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายเชิงเทคนิค ก็ต้องใช้ผู้ร่างที่มีความรู้ ส่วนการที่จะไปใช้ตัวแทนจากหลายๆจังหวัดนั้น ตนไม่เชื่อว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีหรือไม่ เพราะต่อให้มีนักวิชาการรวมอยู่บ้างก็เป็นเพียงไม้ประดับ สุดท้ายก็อาจแพ้โหวตอยู่ดี
“นอกจากนี้รัฐธรรมนูญที่ดีต้องสามารถแก้ปัญหาหลักของประเทศ 2 เรื่องให้ได้คือ ความยากจนของเกษตรกร และความไม่รู้ ด้อยการศึกษา เพราะการที่คนจะอยู่ในระบบประชาธิปไตยได้นั้นต้องคิดเป็น วิเคราะห์เป็น สามารถจำแนกแยกแยะได้ว่าอะไรจริงอะไรปลอม ส่วนจะการแก้เรื่องโง่ เรื่องจนได้นั้นตนเห็นว่า ต้องปฏิรูปการเรียนการสอนการศึกษาในทุกระดับ ครูต้องสอนเป็น มีเนื้อหาสาระ ขณะที่การแก้ปัญหาความยากจนมีอยู่ทางเดียวคือ การปรับโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะภาษีทรัพย์สินที่ต้องจัดเก็บให้ถูกต้อง เต็มเม็ดเต็มหน่วย”
ทั้งนี้ ศ.ศรีราชา กล่าวด้วยว่า สังคมไทยปัจจุบันใช้คำว่าประชาธิปไตยหากินกันมาก ทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะเป็นประชาธิปไตย จนติดเรื่องรูปแบบของประชาธิปไตยมากกว่าเนื้อหา ฉะนั้น สิ่งแรกที่ต้องสร้างและสั่งสมคือความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่แค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งไปดำเนินการต่อ
“ขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยต้องไม่ใช่การท่องจำ แต่ต้องทำให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้นคนจะไม่รู้สึกจักหน้าตาของประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือประชาธิปไตยที่ควรจะ ไม่ปฏิบัติหน้าที่แต่ก็ไปเรียกร้องความเท่าเทียม เรียกร้องประชาธิปไตยตามข้างถนน กลายเป็นว่า ใครอยากได้อะไรก็ไปยกพวกไปปิดล้อม ไปประท้วง”
ด้านศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า ตลอด 80 ปีรัฐธรรมนูญมีการช่วงชิง ยื้อยุดชุดกระชากอำนาจของฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่ปรับเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจกษัตริย์ถูกดึงไปสู่อำนาจของชนชั้นสูง และต่อมาอำนาจชนชั้นสูง หรืออำมาตย์ถูกดึงไปสู่นักการเมืองพลเรือน
“ขณะที่ในปัจจุบันก็มีความพยายามที่จะดึงอำนาจกลับไปสู่ประชาชน โดยพยายามบอกว่ากลไกตรวจสอบ อำนาจถ่วงดุลในองค์กรอิสระถูกแทรกแซง ถูกแบ่งเป็นพรรคเป็นพวก จึงไม่จำเป็นต้องมีองค์กรดังกล่าวอีกต่อไป แต่ทั้งนี้ แนวทางที่บอกว่าจะดึงอำนาจกลับไปให้สู่ประชาชนแท้จริงหมายความว่า ให้ไว้วางใจผู้แทนของประชาชน”
ศ.ดร.สุรพล กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปัจจุบันว่า รัฐธรรมนูญปี 50 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่มาจากเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยผ่านการลงประชามติ ฉะนั้น การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ควรจะต้องไปทำประชามติเช่นกันว่า จะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ เพราะการที่ประชาชนเลือกผู้แทนมานั้น ไม่ได้หมายความว่ามีอำนาจชอบธรรมที่จะทำอะไรก็ได้ ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมบางมาตรา เช่น มาตรา 291นั้นสามารถทำได้ แต่ผลที่ออกมาเมื่อประกาศใช้จะเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งฉบับ ฉะนั้น เรื่องนี้ต้องกลับไปถามประชาชน
ขณะที่ดร.เอนก กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยว่า ถ้าทำตามระเบียบ ทำตามกฎหมายและทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร สามารถกระทำได้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็ควรนำกลับไปถามประชาชนอีกครั้ง ผ่านการลงประชามติ ซึ่งตนเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย หรือเสียเวลาแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน อยากให้ทุกฝ่ายปรองดองกันเรื่องรัฐธรรมนูญ อารมณ์ของสังคมต้องพยายามฉลาดในเรื่องนี้ ทุกฝ่ายต้องไม่สุดโต่งจนเกินไป