ยืดเวลาโหวตแก้ รธน.วาระ 3 "สดศรี" ชี้ทำให้การเมืองไม่สับสน-ไม่หักกัน
กรรมการ กกต. แนะเปิดเวทีถกเพื่อความเข้าใจ ระหว่าง ตุลาการศาล รธน.-รัฐสภา ระบุการตีความ กม. ขึ้นอยู่กับมุมมองของฝ่ายได้-เสียประโยชน์ ต้องพิจารณาในบทบาทของแต่ละฝ่าย ย้ำให้เวลาศาล รธน. วินิจฉัยการลงมติ วาระ 3 เพื่อความโปร่งใส
วันที่ 13 มิถุนายน นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภาชะลอการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ออกไปก่อน จนเป็นประเด็นถกเถียงกันในสภาฯ ว่า ไม่น่าจะเป็นชนวนความขัดแย้งใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยกันได้ พร้อมกับเห็นว่า ควรมีการเปิดเวทีถกกันอย่างจริงจัง ครั้งนี้ตุลาการทำอะไรผิดพลาดและไม่ถูกต้องในส่วนใดบ้าง เนื่องจากทั้ง 2 องค์กรเป็นองค์กรหลักของประเทศทั้งสิ้น
“ทางด้านตุลาการก็ควรบอกความจริงว่า สิ่งที่ทำไปนั้นตรงตามตัวบทกฎหมายหรือไม่ น่าจะเป็นการพูดคุยกันทั้งสองฝ่ายมากกว่า ทั้งนี้ การจะก้าวล่วงอำนาจกันหรือไม่นั้น ก็ต้องแล้วแต่มุมมองของแต่ละฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่ได้และฝ่ายที่เสียประโยชน์ ฉะนั้น ต้องจับคนสองฝ่ายให้อยู่กึ่งกลางให้ได้ ในขณะที่ประชาชนเองต้องมองบทบาทของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ ทำหน้าที่ล้ำเส้นกันหรือไม่”
นางสดศรี กล่าวถึงการที่รัฐบาลเลื่อนไม่ลงมติวาระสามด้วยว่า ไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพราะเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ทางศาลรัฐธรรมนูญขอเวลาในการไต่สวน และเมื่อคำไต่สวนออกมาเป็นอย่างไร การเดินหน้าของรัฐสภาก็จะดำเนินการต่อไป และเชื่อว่าระยะเวลาที่ยืดออกไปอาจทำให้การเมืองไม่สับสน และไม่หักกัน ฉะนั้นควรต้องยืดเวลาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสยิ่งขึ้น
สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ตุลาการ ก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ นั้น กกต.กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่า มุมมองและการตีความของกฎหมายนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งทางด้านตุลาการก็ตีความว่า มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ก่อน ในขณะเดียวกันรัฐสภาก็ตีความว่า มีอำนาจในการดำเนินการต่อไป และมองว่า เวลาเพียงไม่กี่วันนับจากวันนี้ ไปจนถึง วันที่ 5 กรกฎาคมนั้น ไม่น่าทำให้เกิดปัญหาที่ซ้อนปัญหาขึ้น ดังนั้น ควรให้เวลาท่านที่จะวินิจฉัยต่อไป และถ้าผลวินิจฉัยเป็นอย่างไรก็ควรที่จะพูดกันในสภามากกว่าที่จะดำเนินการไปโดยที่ยังไม่ชัดเจนว่าตุลาการจะวินิจฉัยอย่างไร
"หากเราเร่งร้อนทำอะไรไปในขณะนี้ ต้องถามว่าผลลัพธ์จะเกิดอะไร จะแรงขึ้นหรือไม่ หรือจะเกิดปัญหาที่เราไม่ต้องการ เช่น การปฏิวัติรัฐประหาร เราคงไม่ต้องการแบบนั้น"
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงการกลับมาของคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” นางสดศรี กล่าวว่า ความจริงนั้นบทบาทของตุลการมีมาตลอดไม่ใช่แค่ปัจจุบัน ในการทำหน้าที่ของตุลาการต้องถือบทกฎหมายเป็นสำคัญ ในฐานะที่เป็นตุลาการมาก่อนได้ยึดถือกฎหมายในการพิจารณาตัดสินใดๆก็ตาม ฉะนั้นการเมืองไม่น่าจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้บทบาทของตุลาการผิดผันไป ดังนั้นต้องยึดตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญในการพิจารณาใดๆก็ตาม และเชื่อว่าตุลาการคงจะใช้บทบาทในฐานะเป็นตุลาการจริงๆ ไม่ใช่นักการเมือง