'วิชา' แฉนักการเมืองงัดสารพัดวิธีคุกคามศาล เหตุกลัวถูกตัดสิทธิ์ฯ ยิ่งกว่าจำคุก
อาจารย์ มธ. เสนอแก้ไขมาตรา 278 จัดตั้งศาลอุทธรณ์ในแผนกคดีอาญาฯ เพิ่มโอกาสจำเลยสู้คดี-ลดภาระผู้พิพากษา ด้าน กรรมการ ป.ป.ช. ชี้คดีทุจริตยุ่งยาก ตั้งแต่กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง-รวบรวมพยาน-กระบวนการไต่สวน แนะผู้ตัดสินคดีทุจริตต้องนิ่ง มีวุฒิภาวะ
วันที่ 23 พฤษภาคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดการประชุมเสวนาบทบาทของฝ่ายตุลาการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต : กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนพิษณุโลก โดย รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงโครงการ “บทบาทของฝ่ายตุลาการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต : การศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ว่า การวิจัยเน้นความสำคัญของปัญหากระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจากการศึกษาปัญหาดังกล่าว สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1.ปัญหาก่อนที่จะมีการพิจารณาคดี 2.ปัญหาระหว่างการพิจารณาคดี และ 3.ปัญหาหลังจากที่พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งหมายถึงสิทธิอุทธรณ์และการรื้อฟื้นคดีให้พิจารณาคดีใหม่
"ทั้งนี้ในมาตรา 14(5) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ไทยเป็นภาคีนั้น มีการรับรองสิทธิอุทธรณ์ของจำเลยไว้ แต่ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 278 ที่บัญญัติว่าให้คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เป็นที่สุด ดังนั้น จึงเสนอให้ไทยทำ “ข้อสงวน” หรือ “ถ้อยแถลงการตีความ” ในมาตรา 14 (5) ของกติการะหว่างประเทศว่า ไม่ให้ใช้กับการพิจารณาคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีที่ไทยจะให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ทำหน้าที่เสมือนศาลชั้นแรกและชั้นเดียวต่อไป"
รศ.ประสิทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศ โดยเสนอ 1.หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีการแก้ไขในมาตรา 278 โดยให้มีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์ในแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ศาลอุทธรณ์เป็นเสมือนศาลชั้นแรก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องคำพิพากษาได้มีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ พร้อมทั้งเสนอให้มีการลดองค์คณะจากเดิมมีผู้พิพากษา 9 ท่านให้เหลือ 5 ท่าน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระงานพิจารณาคดีของผู้พิพากษาศาลฎีกา และ 2. หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ให้ผู้ต้องคำพิพากษายื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ เฉพาะในประเด็นข้อกฎหมาย ที่เป็นสาระสำคัญแห่งคดีและต้องเป็นกรณีที่องค์คณะมิได้ตัดสินเป็นเอกฉันท์
ด้าน ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงคดีนักการเมืองหรือทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบันว่า มีการความซับซ้อน ซ่อนเงื่อนและยุ่งยากอย่างมาก ตั้งแต่กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน และกระบวนการไต่สวน นอกจากนี้ยังมีอำนาจ อิทธิพล และอะไรหลายๆอย่างที่กดดันการทำงานของ ป.ป.ช. ซึ่งหากศาลฎีกาฯ มองไม่ทะลุในส่วนนี้ อาจทำให้การตัดสินคดี หรือการวินิจฉัยไม่ตรงตามเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนั้นจะแยกกระบวนการส่วนใดส่วนหนึ่งออกจากกันไม่ได้
“นอกจากนี้ ผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ก็ถูกคุกคาม ซึ่งการถูกคุกคามนั้นไม่ใช่การคุกคามโดยตรง แต่เป็นลักษณะการเชิญไปไปทานข้าว หรือมาหาโดยไม่รู้ตัว เพื่อให้รู้สึกว่าเรากำลังถูกจับตามองและขอให้ตัดสินเข้าข้าง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐหรือฝ่ายค้าน เนื่องจากกลัวถูกตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นการลงโทษที่ยิ่งกว่าจำคุก เพราะตัดช่องทางการทำมาหากิน”
กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับงานวิจัยว่าต้องตั้งข้อสงวนและชี้แจงให้เข้าใจ และยังรู้สึกพอใจที่ให้ศาลฎีกาชั้นเดียว เหมาะสมและมีความองอาจ กล้าหาญสมควรที่จะรับมือกับนักการเมืองได้
ศ.(พิเศษ) วิชา กล่าวด้วยว่า คดีทุจริตไม่ใช่คดีง่าย ที่จะฟังดูแนวทางในการไต่สวนแล้วจะรู้เอง เพราะจะมีแรงกดดันจากหลายฝ่ายอยู่เสมอ ฉะนั้นเรื่องของวุฒิภาวะมีความสำคัญมาก ทั้ง วัยวุฒิ คุณวุฒิ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ในส่วนของการพิจารณาในระบบไต่สวนที่ให้ผู้พิพากษาสามารถแทรกแซงได้ แต่ผู้พิพากษาของไทยไม่กล้าที่จะเรียกพยานหลักฐาน ยกเว้นที่มีกำหนดไว้ในกฎหมายเท่านั้น เพราะกลัวเสียความยุติธรรม ฉะนั้นผู้ที่มาคุมคดีที่ถือได้ว่ามีความสำคัญนี้ ความรับผิดชอบในการทำงานนั้นไม่ใช่การปัดสวะ เพราะเห็นเพียงว่าเป็นศาลสูงสุดสำหรับคดีทางการเมืองแล้ว
ขณะที่ นายประพันธ์ ทรัพย์แสง ผู้พิพากษาอาวุโสประจำศาลอุทธรณ์ อดีตประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีบางช่วงที่นักการเมืองไม่โดนฟ้องคดีทุจริตคอร์รัปชั่นเลย สะท้อนให้เห็นว่า นักการเมืองนั้นมีอำนาจรัฐ อำนาจเงิน มีอำนาจคน มีบารมี ทำให้เกิดความล้มเหลว เพราะผู้ให้และผู้รับรู้กัน ยกเว้นจะมีการขัดผลประโยชน์กัน ก็ส่งฟ้องต่อตำรวจ แล้วจึงส่งไปอัยการ แต่สุดท้ายก็ไม่มีพยานมาเบิกความหรือมีพยานก็รับรองความปลอดภัย ของพยานไม่ได้ ในที่สุดศาลก็ยกฟ้อง ฉะนั้น รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงต้องมีการตั้งองค์กรขึ้นมาต่อกรกับนักการเมือง นั่นคือ ป.ป.ช. และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
“เห็นด้วยที่เมื่อศาลมีการตัดสินแล้ว ตามหลักแล้วควรให้ผู้ต้องคำพิพากษาสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ในศาลที่สูงกว่า แต่ขณะนี้ศาลที่สูงกว่านั้นยังไม่มี จึงเห็นว่า น่าจะมีแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปอยู่ที่ศาลอุทธรณ์ และในส่วนของ ป.ป.ช.จะเริ่มไต่สวนได้ต้องผ่านการไต่สวนของศาลก่อน”