“พล.อ.ธีรเดช” ชี้สร้างเมืองเหมือนสร้างบ้านแข็งแรงต้องมีเสาหลัก 8 ต้น
ประธานวุฒิฯ เปรียบองค์กรอิสระเป็นสุนัขเฝ้าบ้านไม่ใช่สุนัขรับใช้ มีหน้าที่สำคัญปกป้องทรัพย์สินของประชาชน ระบุแนวคิดปฏิรูปต้องเริ่มตั้งแต่เข้าสู่อำนาจ ใช้อำนาจ และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
วันที่ 4 พฤษภาคม องค์กรตามรัฐธรรมนูญ 7 องค์กร ได้แก่ 1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2. ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 4.คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 5.สำนักงานอัยการสูงสุด 6.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 7.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดงานสัมมนาวิชาการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1 เรื่อง บทบาทขององค์กรตามรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประเทศ โดยมีปาฐกถาพิเศษ พลเอกธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เรื่อง บทบาทขององค์กรตามรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประเทศ
พลเอกธีรเดช กล่าวว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่ายิ่งประเทศก้าวหน้าไปเท่าไหร่ ยิ่งมีความต้องการประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม ดังนั้นการออกแบบทางสังคมตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องเริ่มมาจากประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และวางรากฐานเรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มุ่งไปปฏิรูปบ้านเมืองโดยที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย
“ทั้งนี้แนวคิดการปฏิรูปเริ่มตั้งแต่กระบวนการเข้าสู่อำนาจ ใช้อำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่เน้นเรื่องธรรมาภิบาลเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้รัฐมีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบตรวจสอบได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากความเข้มแข็งของทุกภาคส่วนในสังคม และในโลกตะวันตกมีแนวคิดระบบคุณธรรมแห่งชาติ ซึ่งว่าด้วยเรื่องเสาหลักที่จะค้ำจุนประเทศชาติ เพราะหากเราสามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ก็จะทำให้สังคมมีความเข้มแข็งและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน และเป็นปัจจัยที่จะสร้างคามเป็นอยู่ที่ดีของสังคม”
ประธานรัฐสภา กล่าวต่อว่า แนวความคิดของระบบคุณธรรมคือเปรียบการสร้างบ้านเมืองเหมือนการสร้างบ้านที่ต้องมีเสาหลักที่มั่นคงแข็งแรง โดยมีเสาหลัก 8 ต้น ดังนี้ 1.ความตั้งใจจริงของนักการเมือง 2.การปฏิรูปของระบบราชการ 3.รัฐสภา 4.การมีส่วนร่วมของประชาชน 5.สถาบันตุลาการ 6. ภาคเอกชน 7.สื่อมวลชน 8.องค์กรตรวจสอบ ที่เป็น"สุนัขเฝ้าบ้าน" ไม่ใช่ "สุนัขรับใช้" มีหน้าที่สำคัญคือปกป้องทรัพย์สินให้กับเจ้านาย ซึ่งหมายถึงประชาชน
“วันนี้องค์กรความโปร่งใสได้ต่อเสาหลักเพิ่มขึ้นให้กับบ้านเดิมให้แข็งแรงมากขึ้น โดยขยายความองค์กรตรวจสอบออกมาเป็นองค์กรต่อต้านการทุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 25 40 เราได้ลงหลักปักเสาไว้อย่างแข็งแรงแล้ว แม้จะมีการเปลี่ยนผ่านหลายครั้ง แต่เชื่อว่าเสาหลักเหล่านี้ยังเป็นที่พึ่งให้กับบ้านเมืองได้อย่างต่อไป”
พลเอกธีรเดช กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้มีองค์กรตาม รัฐธรรมนูญ 7 องค์กร ที่ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทย ในการพัฒนาประเทศ ค้ำจุนสังคมให้เดินหน้าไปอย่างมั่นคง โดยในวันนี้เรามี กกต. ควบคุมการเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ที่ต้องการให้สุจริตและเที่ยงธรรม มี ป.ป.ช. เป็นด่าน 2 ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนักการเมืองและข้าราชการไม่ให้ใช้อำนาจเลยเถิดและทำให้บ้านเมืองเสียหาย ในขณะเดียวกัน ก็มี สตง. ที่ช่วยในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนด
“สำหรับ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สอดส่องคุ้มครองดูแล ประชาชน และมี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ให้คำแนะนำปรึกษาและเคารพตามสิทธิ ที่พึงมีในสังคม รวมทั้งมีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจและสังคม และท้ายสุดองค์กรอัยการ เสริมสร้างความยุติธรรมให้กับสังคม ล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในกาพัฒนาประเทศด้วยกันทั้งสิ้นประเทศจะเดินไปข้างหน้าด้วยความเข้มแข็งของทุกภาคส่วน ซึ่งทั้งเจ็ดองค์กรต้องทำหน้าที่เป็นเสาหลักให้ประเทศเกิดความแข็งแข้งเช่นเดียวกัน”