'อานันท์' ชี้ระบอบประชาธิปไตย จะดี ก็ต่อเมื่อสถาบันการเมือง-นักการเมืองคุณภาพดี
อานันท์ ปันยารชุน บอกระบอบประชาธิปไตยไม่ดีที่สุด แต่เลวน้อยที่สุด จะให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด อยู่ที่คุณภาพสถาบัน-นักการเมือง ด้านอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ย้ำการกระทำสำคัญกว่าคำพูด
วันที่ 4 เมษายน ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 40 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เดินมาเป็นประธานพิธีเปิดงานเสวนา “ชีวิตที่คุ้มค่า” พร้อมเปิดตัวหนังสือ “ชีวิตที่คุ้มค่า” ซึ่งเขียนโดยนายนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ช่วงหนึ่ง นายอานันท์ กล่าวถึงระบบทุนนิยม และระบบคุณธรรมนิยม ว่า ในแต่ละระบบนั้นมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีปนกันไป เช่นเดียวกับคนทุกคนที่มีความดีและความไม่ดีเจือปนกัน ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการเลือกที่จะเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากระบบทุนนิยมที่สร้างปัญหาหรือเป็นอุปสรรค จนเกิดเป็นทางลบให้กับประเทศชาติหรือสังคมต่างๆ นั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวระบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อยู่ที่ตัวผู้ใช้ระบบด้วย
“สำคัญที่ว่าผู้ที่ใช้ระบบนี้มีคุณธรรมดีต่อระบบแค่ไหน ต้องแยกว่าอะไรเป็นระบบ และอะไรเป็นผู้ใช้ ซึ่งแม้แต่ระบอบประชาธิปไตยเองก็ไม่ได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งนี้ก็เป็นระบบที่เลวน้อยที่สุด และนอกจากนี้ ตัวระบบไม่ใช่ตัวที่จะสามารถวัดคุณค่าได้ แต่การที่ระบบจะมีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลมากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้”
นายอานันท์ กล่าวว่า ฉันใดฉันนั้นระบอบประชาธิปไตยที่เป็นระบอบการเมืองนั้น จะดี ก็ต่อเมื่อสถาบันการเมือง และนักการเมืองมีคุณภาพดี หรือแม้แต่ระบบราชการเองนั้นก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ดีหรือไม่ดี เพราะต้องขึ้นอยู่กับตัวข้าราชการ ซึ่งก็มีทั้งข้าราชการที่ดี และเป็นตัวอย่าง แต่ก็ยังมีข้าราชการบางคนที่ไม่ดีพอๆ กันนักการเมือง ฉะนั้นเราต้องแยกออกให้ดีว่าอะไรคือ "ระบอบ" และอะไรคือ ผู้ที่นำไปปฏิบัติ
ขณะที่ นายนุกูล กล่าวถึงการกับการทำงานเพื่อความถูกต้องของข้าราชการว่า ทุกอย่างอยู่ที่หัวหน้าในแต่ละงาน ที่ควรต้องวางตัวให้ดี ไม่มีนอกมีใน ลูกน้องก็จะไม่ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง แล้วความสุจริตก็จะมีมากขึ้น แค่เพียงคำพูดนั้นไม่ดีเท่ากับการทำตนให้เป็นแบบอย่างของผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา
ด้านนายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันไม่ค่อยมีผู้บริหารที่กล้าจะต่อกรต่อนักการเมือง พร้อมถึงเล่าตัวอย่างการทำงานที่คนรุ่นหลังควรเอาเป็นตัวอย่างว่า ในช่วงที่ตนทำงานอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น รัฐบาลมีการใช้เงินเกินตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อด้านการคลังเป็นอย่างยิ่ง และหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ประเทศมีหนี้สินล้นพ้นตัว และอยู่ในฐานะที่ต่างประเทศเอาเปรียบได้ ฉะนั้นผู้ว่าการ ธปท.ขณะนั้น คือ นายนุกูล ยอมไม่ได้ที่จะให้รัฐบาลเอาเปรียบโดยใช้จ่ายเงินโดยไม่เสียดอกเบี้ย จึงได้มีการทำหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลังหลายฉบับ ซึ่งไม่เคยมีใครกล้าทำ เพื่อเป็นการเตือนรัฐบาลในการใช้งบประมาณเกินตัวและเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ