กรรมการ ป.ป.ช. ระบุปรามโกงได้ องค์กรตรวจสอบต้องกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูก
“กล้านรงค์” แนะ ปรามทุจริตได้ องค์กรที่มีทำหน้าที่ ศาล-ผู้ตรวจการฯ-ป.ป.ช. ต้องกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูก ขณะที่ประชาชนต้องรังเกียจคนโกง มองไม่ต่างจากพวกเมายา-เป็นโรคร้าย ด้าน บรรยง ระบุการคอร์รัปชั่น 99% รอดเงื้อมือกฎหมาย
เมื่อเร็วๆ นี้ นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวปาฐกถา “จริยธรรมกับทางรอดของประเทศไทย: ปัญหาและทางออก” ถึงสาเหตุการคอร์รัปชั่นในบ้านเราว่า มาจากกระแสบริโภคนิยม วัตถุนิยม ทำให้มีความประสงค์ในวัตถุมากเกินกว่ารายได้ที่มีรองรับ ประกอบกับสังคมไทยเป็นสังคมทางดิ่ง ระหว่างผู้ที่มีอำนาจและไม่มีอำนาจ สังคมแนวดิ่งจึงต้องพึ่งระบบอุปถัมภ์
“ขณะที่กระบวนยุติธรรมไม่เข้มแข็ง องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะศาล ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ ป.ป.ช. ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกองค์กรต้องมีความคิดไปในทิศทางเดียวกัน แต่หมายถึงต้องพิจารณาตัดสินบนความเที่ยงธรรม พยามหลักฐาน ไม่มีอคติ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และไม่พิพากษาไปตามความรู้สึก ซึ่งขณะนี้สิ่งที่สังคมไทยขาดมากที่สุด คือความกล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังพบว่าการแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพล ความเพิกเฉยของประชาชน โดยเฉพาะเมื่อโพลระบุว่า คนส่วนใหญ่รับได้ หากรัฐบาลทุจริตแล้วทำให้ชาติรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดี และตนเองได้รับประโยชน์”
นายกล้านรงค์ กล่าวต่อว่า หากจะการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ต้องสร้างกระแสความกดดันของสังคม ให้รังเกียจ ไม่ยอมรับผู้ที่คอร์รัปชั่น หรือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อใดที่เรามีความรู้สึกว่าคนคอร์รัปชั่น คนโกงเหมือนกับคนเมายาบ้า หรือเป็นโรคร้ายที่สังคมรังเกียจ สังคมก็จะดีขึ้น เช่นเดียวกับประเทศเกาหลี ฮ่องกงที่ประสบความสำเร็จโดยใช้วิธีการดังกล่าว
นายกล้านรงค์ กล่าวถึงบทบาทของ ป.ป.ช.ในการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่า ได้มีกฎหมายมาตรา 103/2 ให้มีมาตรการในการคุ้มครองผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูล มาตรา103/3 ให้รางวัลตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลผู้ให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแส หรือมาตรา 103/6คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจกันผู้ให้ความร่วมมือไว้เป็นพยาน เป็นต้น นอกจากนี้ในเรื่องจริยธรรม ป.ป.ช. ได้ทำงานร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย โดยเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วว่า การกระทำความผิดเรื่องใดเป็นกรณีร้ายแรงก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนต่อไป
”สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองนี้ไปรอดได้ คือความเข็มแข็งขององค์กรที่มีหน้าที่ต้องกล้ายืนหยัด ขณะที่ภาคประชาชนต้องรังเกียจคอร์รัปชั่น”กรรมการ ป.ป.ช. กล่าว
ด้านนายบรรยง พงษ์พาณิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมายาคติของสังคมไทยว่า มีความเชื่อและมองปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ทั่วทุกมุมโลก มองว่าคอร์รัปชั่นเป็นวัฒนธรรมหยั่งรากลงในสังคมทุกระดับ ทำให้ที่ผ่านมาแม้จะมีการตื่นตัวปลุกระดมที่จะต่อสู้คอร์รัปชั่น ก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะต่อสู้กับอะไร ด้วยกลยุทธ์อะไร เพราะสังคมยังมองปัญหาไม่ออก จึงยากที่จะสร้างฉันทามติ และผนึกกำลังทุกภาคส่วน เพื่อจัดกระบวนทัพเข้าสู่สงครามระยะยาวกับภัยคอร์รัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็น ‘วาระแห่งชาติ’
นายบรรยง กล่าวถึงประเภทการคอร์รัปชั่นว่า มีทั้งการทุจริตในภาคเอกชนด้วยกันเอง เช่น ฉ้อฉล คดโกงระหว่างคู่ค้าคู่สัญญา การทุจริตโดยการเบียดบังทรัพย์สินของรัฐ เช่น ฉ้อฉลงบประมาณแผ่นดิน ออกใบรับรองสิทธิหรือโฉนดที่ดินสาธารณะให้แก่ตนเองและพรรคพวกอย่างไม่ถูกต้อง และภาคเอกชนจ่ายสินบนให้กับผู้มีอำนาจรัฐ เพื่อซื้อหาความได้เปรียบในการแข่งขัน ความสะดวก และความไม่ผิด บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกลยุทธ์ในการคอร์รัปชั่นนั้น พบว่า ใช้หลักการได้กระจุก เสียกระจายคือ กระจายภาระสู่ประชาชนทุกคน จนไม่รู้สึกถึงความเสียหายร้ายแรง เช่น ทุจริตงบประมาณส่วนกลาง 6,000 ล้านบาท เท่ากับทุกคนเสียหายเพียงคนละ 100 บาท จึงไม่รู้สึกกระทบอะไร แต่ถ้าเป็นการแย่งชิงทรัพยากรสาธารณะในชุมชน การทุจริตที่มีลักษณะพยายามกินรวบ มักจะเกิดการร้องเรียน
“ทั้งนี้ ในแต่ละปี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเพียงปีละ 3,000 เรื่อง ทั้งที่การคอร์รัปชั่นทั่วประเทศเกิดขึ้นมากกว่า 3,000 ครั้งในทุกชั่วโมง ทั้งในและนอกเวลาราชการ เพราะฉะนั้นเท่ากับว่า ร้อยละ 99 ของการคอร์รัปชั่น ไม่มีการร้องเรียน ไม่มีการสอบสวน”
นายบรรยง กล่าวต่อว่า ทุกคนรู้ว่าการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องชั่วร้าย เป็นความผิดทั้งทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม แต่ดูเหมือนว่าการปลูกจิตสำนึกในบาปบุญคุณโทษ ศาสนาไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากผลประโยชน์มหาศาล และหลายคนคิดว่าการแก้กรรมสามารถทำได้ โกงแล้วไปสร้างวัด สร้างพระ
“หากจะสู้กับคอร์รัปชั่นได้ สังคมต้องรู้โทษของการคอร์รัปชั่น ที่บั่นทอนศักยภาพการแข่งขันของประเทศ กระทบประสิทธิภาพของนโยบายการคลัง คุณภาพและต้นทุนของบริการพื้นฐาน เกิดการเบี่ยงเบนของการจัดสรรทรัพยากร ฯ ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามากว่า 50 ปี และที่ผ่านมาไม่เคยมีประเทศใดๆ ในโลกพ้นกับดักการพัฒนาได้ หากไม่สามารถปรับปรุงดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ให้สูงเกินกว่า 5.0 และขณะนี้บ้านเราอยู่ที่ 3.4”
นายบรรยง กล่าวอีกว่า การที่คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า คอร์รัปชั่นมีประโยชน์สร้างความเจริญได้ เนื่องจากคอร์รัปชั่นจะสร้างภาพหลอนในระยะสั้น เพราะจะทำให้เกิดการลงทุนและการบริโภค มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ในอนาคตจะเป็นภาระ เป็นวิบากกรรมที่คนรุ่นต่อไปต้องมารับภาระชดใช้
อย่างไรก็ตาม นายบรรยง กล่าวถึงข้อเสนอในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นว่า 1.ต้องเปลี่ยนทัศนคติของสังคม ให้ปฏิเสธ ต่อต้านการคอร์รัปชั่น ไม่ยอมให้มีการทำชั่ว 2.กระจายอำนาจรัฐ ให้ท้องถิ่นจัดสรรและควบคุมการใช้ทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น จะได้เกิดแรงจูงใจให้ประชาชนท้องถิ่น ติดตามดูแล ตรวจสอบไม่ให้รั่วไหล 3.ขจัดเงื่อนไขที่เอื้อให้มีการทุจริต ได้แก่ ลดขั้นตอนในระบบราชการและแก้ไขระเบียบปฏิบัติที่ยุ่งยากซับซ้อน โดยเฉพาะที่อนุญาตให้มีการใช้วิจารณญาณของผู้มีอำนาจ มีการ outsource งานบริการให้แก่เอกชนให้มากที่สุด ซึ่งหลายหน่วยงานเคยใช้ได้ผลมาแล้ว รวมทั้งมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ (Service Level Agreement) ของการให้บริการ ให้ประชาชนมีช่องทางร้องเรียนได้สะดวกมากขึ้น
“4.การเพิ่มความโปร่งใสภาครัฐ อาทิ ปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามวิธีการสากล ขณะที่ภาครัฐวิสาหกิจ แม้จะมีจำนวนมากที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่น่าจะมีการบังคับให้มีกระบวนการเปิดเผยข้อมูล และมาตรฐานบรรษัทภิบาลในระดับเดียวกับบริษัทจดทะเบียน โดยมีสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) คอยติดตามดูแลควบคุม 5.การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่สมบูรณ์ โดยขจัดวิธีควบคุมสภาพการผูกขาดเสียก่อน แล้วจึงจะขายหุ้น 6.การเปิดเสรีระบบเศรษฐกิจยิ่งขึ้น 7.ส่งเสริมองค์การภาคประชาชน ให้ระบบการทำงานที่ชัดเจนในการต่อต้านคอรัปชั่น และ 8.ร่วมมือกับนานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ”