10 อรหันต์ ชงจัดทำประชามติ ร่าง รธน.-ทูลเกล้าฯ ได้ทันที ไม่ต้องผ่านรัฐสภาอีก
ที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอ จัดทำประชามติ ร่าง รธน.แล้ว-ทูลเกล้าได้ทันที ไม่ต้องผ่านรัฐสภาซ้ำสอง ระบุประชาชนเป็นตัวกลาง-เจ้าของอำนาจอธิปไตย เชื่อลดความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น
วันที่ 28 มีนาคม ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของผู้ตรวจการแผ่นดิน ครั้งที่ 4/2555 โดยมี ศ.(พิเศษ)นรนิติ เศรษฐบุตร ประธานคณะที่ปรึกษาฯ อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550 ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศ.ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีต ส.ส.ร. ปี 2550 ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการ ร่วมประชุม
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ในฐานะโฆษกคณะที่ปรึกษาฯ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ได้มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับกระบวนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยคณะที่ปรึกษาได้มีข้อยุติว่า เมื่อมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะต้องนำร่างฯไปให้ประชาชนลงประชามติ จากนั้นให้นำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อลงพระปรมาภิไธยได้ทันที โดยไม่ต้องเสนอผ่านไปยังรัฐสภาเพื่อพิจารณาตามมาตรา 150 และมาตรา151 ตามที่ร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของนายสุนัย จุลพงศธร และร่างของนายภราดร ปริศนานันทกุล เสนอ
ทั้งนี้ เนื่องจากที่ปรึกษาฯ เห็นว่า การที่ประชาชนลงประชามติแล้วนั้น ให้ถือว่าสิ้นสุด สามารถทูลเกล้าได้ทันที เพราะประชาชนเป็นตัวกลางและเจ้าของอำนาจอธิปไตย อีกทั้งหากให้รัฐสภานำกลับมาพิจารณาใหม่ อาจจะต้องชั่งใจระหว่างการเลือกร่างที่ประชาชนลงประชามติ หรือร่างที่พระมหากษัตริย์อาจให้ความเห็นที่แตกต่าง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีการโต้เถียงในเรื่องที่ว่า ใครจะเป็นผู้พิจารณาหรือตัดสินใจกรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจไปกระทบกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปี 50 และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ การปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งยังไม่ได้มีข้อยุติ โดยจะยกไปหารือในการประชุมครั้งถัดไป
เมื่อถามว่ามีมูลเหตุที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือการปกครองหรือไม่ อย่างไรนั้น ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของที่ปรึกษา ที่ต้องคิดเพื่อไว้ล่วงหน้า ในกรณีที่อาจจะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต