คปก.ยื่นนายกฯ-ปธ.สภา ดันร่างพรบ.ประกันสังคม-องค์การอิสระฯ
คปก.จี้รัฐบาลประสานงาน ปธ.สภา พิจารณาร่าง กม.ประชาชนโดยเร็วก่อนสิ้นสุดสมัยการประชุม แนะไม่ต้องรอร่าง พรบ.ครม. ระบุ พรบ.ที่เสนอเข้าชื่อโดยประชาชนทุกฉบับ เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพ
วันที่ 28 มีนาคม 2555 นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)เรื่อง ร่างกฎหมายโดยการเข้าชื่อของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เสนอต่อประธานรัฐสภาและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ประชาชนใช้สิทธิตามมาตรา 163 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อประธานรัฐสภาหลายฉบับ แต่เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงทำให้ร่างพระราชบัญญัติยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาจำนวน 9 ฉบับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้องร้องขอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ และยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ โดยคณะรัฐมนตรีชุดนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร้องขอไป 24 ฉบับ รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยภาคประชาชน ประกอบด้วย
(1.)ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ....
(2.)ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ. ....
(3.)ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ....
(4.)ร่างพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่..)พ.ศ...
(5.)ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ....
(6.)ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
(7.)ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
(8.)ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....
(9.)ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดฝาง พ.ศ. ....
นอกจากนี้ มีร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยนางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 11,219 คน ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. .... ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อของสภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะว่าประธานรัฐสภาต้องรับผิดชอบต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติรับรองและให้ความสำคัญต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อประธานรัฐสภาโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบตามที่รัฐบาลร้องขอแล้ว ดังนั้นจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภา ในการกำหนดวาระการประชุมระเบียบวาระการประชุม เพื่อให้ร่างกฎหมายที่ประชาชนได้รับการพิจารณา โดยจะพบว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยการเข้าชื่อของประชาชนทุกฉบับ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งมีร่างพระราชบัญญัติบางฉบับที่กำหนดระยะเวลาต้องอนุมัติการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เช่น องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค และองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้มีมติร้องขอให้รัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยการเข้าชื่อของประชาชนดังกล่าวแล้ว คปก.เห็นว่ารัฐบาลควรประสานงานกับประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนโดยเร็ว และไม่จำเป็นต้องรอร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรี เว้นแต่รัฐบาลมีร่างพระราชบัญญัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ก็ควรเร่งรัดเสนอร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาโดยไม่ชักช้าเพื่อให้ทันสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากการประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติจะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2555นี้