คปก.ชงร่าง พ.ร.ฎ.ตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เสนอนายกฯ แก้ที่มา ปธ. –เลือก กก.ฝ่ายลูกจ้าง
คปก.ชงร่าง พ.ร.ฎ.ตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ หวังตั้งสถาบันอิสระ-สร้างหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน พร้อมเสนอนายกฯ แก้ที่มาประธาน–ใช้วิธีเลือกตั้งกรรมการฝ่ายลูกจ้าง
วันที่ 28 มีนาคม นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... เสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อประกอบการพิจารณาการให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ฯ
จากการศึกษา วิเคราะห์ และรับฟังความคิดเห็นร่วมกันกับผู้แทนฝ่ายต่างๆ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... โดยเห็นด้วยให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ตามมาตรา 52 ของพระราชบัญญัติความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยให้เป็นองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เพราะองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัตินี้ต้องการให้เป็นหน่วยงานอิสระที่จัดทำบริการสาธารณะ ไม่แสวงหากำไร และอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรี จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน
ขณะที่กระบวนการได้มาของคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เห็นควรให้กำหนดจำนวน ที่มา และคุณสมบัติ โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ประธานกรรมการบริหาร ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เนื่องจากภารกิจของคณะกรรมการบริหาร ไม่ใช่คณะกรรมการกำหนดนโยบาย หรือวางแนวทางของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เท่านั้น แต่เป็นคณะกรรมการที่ต้องทำหน้าที่บริหารเพื่อให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งข้าราชการประจำโดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ยังมีข้อจำกัดด้านเวลาในการทำงานในฐานะประธานกรรมการบริหาร
อีกทั้งหากประธานกรรมการบริหารเป็นข้าราชการจะทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่ต้องการให้เป็นอิสระในการดำเนินงาน
สำหรับกรรมการโดยตำแหน่ง ในร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกระทรวงแรงงานเสนอให้มีจำนวน 3 คน สมควรลดจำนวนเหลือ 2 คน ได้แก่ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวมีภารกิจหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่เชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ ภารกิจ อำนาจหน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
ส่วนกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละ 2 คน คปก.เห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างสมควรเป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการ และลูกจ้างที่อยู่นอกสถานประกอบการ เช่น ลูกจ้างจำนวนไม่เกิน 50 คน เลือก 1 คนมาเป็นผู้แทนไปเลือก โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการให้ใช้ฐานข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมโดยใช้สถานประกอบการเป็นหน่วยเลือกตั้ง สำหรับลูกจ้างที่อยู่นอกสถานประกอบการ ให้ลูกจ้างมาขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ คปก.เห็นว่า ควรเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากจำนวน 2 คนเป็น3 คน
ในแง่อำนาจหน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ คปก.เห็นว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ในมาตรา 8 โดยกำหนดให้เป็น มาตรา 8 (7/1) การรับเรื่องร้องเรียนเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหา และศึกษาวิเคราะห์เพื่อเสนอมาตรการส่งเสริมการป้องกันความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
หากพิจารณาในบทเฉพาะกาล คปก.เห็นว่า ควรกำหนดให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำหน้าที่ดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริหารปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ซึ่งถือเป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ โดยไม่มีเหตุจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามในระยะต่อไปควรจะพัฒนาพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯเป็นพระราชบัญญัติแทนพระราชกฤษฎีกา เพื่อจัดตั้งสถาบันที่มีความเป็นอิสระ และมีทรัพยากรมากพอ ให้สามารถดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหา จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประกันสิทธิของบุคคลที่จะได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพการทำงาน รวมถึงหลักประกันในการดำรงชีพ ทั้งในระหว่างทำงานและพ้นภาวะการทำงาน