การเมืองไร้เสถียรภาพ “ธีรยุทธ” ชี้ชนชั้นสูง-กลุ่มธุรกิจ จ้องเขมือบผลประโยชน์รัฐ
“ธีรยุทธ” ระบุ ไทยไร้ทรัพยากร-ทุนสร้างการเมืองที่มีเสถียรภาพ เหตุชนชั้นกลาง-ชั้นสูง กลุ่มธุรกิจ จ้องแต่พึ่ง-หาผลประโยชน์จากรัฐ สวนทางกลับต่างประเทศ ชี้ ความเป็นพลเมืองยังไม่เกิด เพราะคนไทยรู้สึกต้องรับใช้รัฐ ไม่ใช่เจ้าของ
วันที่ 23 มีนาคม นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา “ความเป็นพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย” ในงานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 13 ประจำปี 2554 ตอนหนึ่งว่า คนที่อายุประมาณ 60 ปีจะรู้จักวิชาหน้าที่พลเมืองศีลธรรม และถ้าเรามีการโหวตว่าวิชาไหนที่ไม่อยากเรียนมากที่สุด ต้องพบวิชาหน้าที่พลเมืองติด 1 ใน 3 ซึ่งจุดนี้น่าจะนำมาวิเคราะห์ว่า ทำไมความเป็นพลเมืองในบ้านเราไม่เกิด หรือพึ่งมาพูดกันในเรื่องนี้อย่างจริงจังเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา
“บริบทของแนวคิดเรื่องพลเมืองเข้มแข็งในพัฒนาการการเมืองไทยนั้น เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว พบว่ามีทั้งจุดที่สถานการณ์คลี่คลาย และเป็นที่มาของวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบัน ตั้งแต่อำนาจศูนย์กลาง อำนาจกองทัพเริ่มคลอนแคลง ประชาธิปไตยครึ่งใบประคองตัวไม่รอด มีการเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตยเต็มใบ ซึ่งช่วงนี้เรารู้สึกว่าถ้ามีแนวคิดเรื่องการสร้างสังคมเข้มแข็ง ชุมชนแข้งเข็มเข้ามาเสริมก็จะทำให้มีเสถียรภาพทางการเมืองเพิ่มขึ้น”
นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า ขณะที่ในช่วงต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2540 ก็จะพบว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักคิดที่อยากได้ฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แก้ปัญหาเรื่องเสถียรภาพ การมีพรรคเล็กพรรคน้อย คอร์รัปชั่นโกงกิน เพราะฉะนั้นจึงมีองค์กรอิสระขึ้นมา รวมถึงการเพิ่มบทบาทของศาล เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ซึ่งถือเป็นความพยายามทางความคิดของคนไทยที่ต้องการแก้ปัญหาทางการเมือง
แต่เมื่อเกิดรัฐบาลทักษิณ นโยบายประชานิยม และวิกฤตเหลือง-แดง ความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นระหว่างแนวคิดประชานิยมกับอนุรักษ์นิยม ก็กลายเป็นความขัดแย้งหลักของสังคมการเมืองบ้านเรา การสร้างสังคมเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง รวมทั้งพลเมืองเข้มแข็ง เพื่อเป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ย รอมชอม ปรองดองได้กลายเป็นเรื่องสำคัญ แต่จุดอ่อนที่พบคือ ส่วนของประชาสังคมไม่โต
“ในต่างประเทศที่มีสังคม ชุมชน พลเมืองที่เข้มแข็ง ภาคธุรกิจ ชนชั้นกลาง ทุนกระฎุมพี จะร่วมกันลงขันสร้างสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ สนามกีฬา ฯ ซึ่งถือเป็นการสร้างค่านิยมการเมืองประชาธิปไตยขึ้นมา แต่ในบ้านเราไม่มีแบบนี้ กลุ่มชนชั้นกลาง ชั้นสูง กลุ่มธุรกิจ ไม่ได้มองบทบาทตนเองในการพัฒนาการเมือง พัฒนาประเทศ แต่กลับมองว่าตนเองจะพึ่งหรืออยู่ใต้การอุปถัมภ์ของรัฐอย่างไร จะได้ประโยชน์อะไรจากรัฐ ฉะนั้น เราจึงไม่มีทรัพยากร หรือทุนที่จะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ”
อย่างไรก็ตาม นายธีรยุทธ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะนำความคิดใหม่ๆ มาเสริมมาเติมในบ้านเรา เพราะแนวคิดประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความรับผิดชอบของรัฐธรรมนูญที่เสนอกันนั้น เหมือนกับเป็นสิ่งแปลกปลอมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และนำคำศัพท์บาลีที่คนไม่สนใจ ไม่เข้าใจมาใส่กัน ฉะนั้น เมื่อนำเมล็ดพันธุ์แปลกปลอมมาใช้จึงไม่ค่อยได้ผล
“หัวใจใหญ่ก็คือเราต้องมองว่า สังคม ชุมชน พลเมืองที่เข้มแข็ง ไม่ใช่สินค้า ไม่ใช่พิมพ์เขียว แต่ต้องเป็น ‘วัฒนธรรม’ ที่ทุกสังคมต้องใช้เวลายาวนานในการบ่มเพาะให้เจริญงอกงาม” นายธีรยุทธ กล่าว พร้อมทั้งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความเป็นพลเมือง ตัวตนของคนไทยในอดีต ส่วนใหญ่บ่งถึงพันธนาการ เช่น ฝุ่นบ้านฝุ่นเมือง ไพร่บ้าน ทำให้คนไทยรู้สึกว่าต้องรับใช้รัฐ ไม่ใช่เป็นเจ้าของ ขณะที่พลเมืองในความหมายของฝรั่ง หมายถึงการเป็นสมาชิกที่มีสิทธิและความรับผิดชอบ ตรงนี้จึงต่างจากบ้านเรา ดังนั้น ต้องสร้างความเป็นพลเมืองอย่างเข้มข้น เหนียวแน่น ทั้งทางสิทธิทางการเมือง กฎหมาย ทรัพย์สิน การมีส่วนร่วม รวมถึงวัฒนธรรมขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นรากฐาน ประชาธิปไตย ที่มีความหมาย ความทรงจำและคุณค่าร่วมกันทั้งต่อตนเองและสังคม