ส.ปกเกล้า ขู่ถอนงานวิจัย หลังพบ กมธ.ปรองดอง หยิบข้อเสนอเอื้อประโยชน์การเมือง
ส.ปกเกล้า ยื่นหนังสือต่อพลเอกสนธิ ขู่ถอนงานวิจัย หลังพบ กมธ.ปรองดอง ใช้เสียงข้างมากออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม-เพิกถอนคดี คตส. ระบุตัดตอนงานวิจัย เอื้อประโยชน์ทางการเมือง
วันที่ 23 มีนาคม รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แถลงจุดยืนของคณะผู้วิจัยต่อรายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรว่า ข้อสรุปของคณะผู้วิจัยระบุชัดว่า ภายใต้สภาวะความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในจุดยืนและความต้องการของตนเอง จนไม่สามารถแสวงหาทางออกร่วมกันได้นั้น สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญและความสำเร็จของการปรองดอง คือการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองในสังคมไทยด้วยการริเริ่มกระบวนการพูดคุยเสวนา ภายในคณะกรรมาธิการฯ เพื่อหาข้อสรุปเบื้องต้นร่วมดันเกี่ยวกับข้อเสนอในรายงานฯ หลังจากนั้นจึงค่อยขยายผลการพูดคุยไปสู่สังคมวงกว้าง เปิดเวทีเสวนาระดับพรรคการเมือง กลุ่มผู้สนับสนุน และประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นและหาแนวทางปรองดองร่วมกัน
"แต่ขณะนี้พบว่า ร่างรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ได้ใช้เสียงข้างมากในการให้ความเห็นชอบในประเด็น 1.การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท ทั้งคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ด้วยเสียงข้างมากจำนวน 23 คน ขณะที่คณะผู้วิจัยได้ระบุไว้ชัดว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการพูดคุยเสวนาในวงกว้างถึงคำจำกัดความของคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเสียก่อน"
รศ.วุฒิสาร กล่าวต่อว่า 2.เห็นชอบให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมดและไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ด้วยเสียงข้างมากจำนวน 22 เสียง ในขณะที่คณะผู้วิจัยระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ทางเลือกนี้จะทำให้ความปรองดองเป็นไปได้ยาก และมีบางฝ่ายเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาในกรณีการทุจริตหรือใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบนั้น ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงไม่เห็นด้วยอย่างมากในการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการ หรือสภาผู้แทนฯ โดยที่บรรยากาศความปรองดองยังไม่เกิดขึ้นในสังคม
“การใช้เสียงข้างมากในการกำหนดแนวทางการสร้างความปรอดองจะเป็นเพียงการสร้างความยุติธรรมของผู้ชนะ เพราะการละเลยความเห็นที่แตกต่างนั้น เป็นสาเหตุของความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ได้อีกในอนาคต”
รศ.วุฒิสาร กล่าวอีกว่า คณะผู้วิจัยขอให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาตามข้อเสนอในรายงานวิจัย โดยริเริ่มกระบวนการพูดคุยเสวนาทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ข้อสรุปในเรื่องการสร้างความปรองดองที่ทุกฝ่ายยอมรับ โดยไม่จำกัดเวลาและวาระการทำงาน หากคณะกรรมาธิการดำเนินการอย่างรวบรัด คณะผู้วิจัยจะขอถอนรายงานวิจัยดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีการนำผลวิจัยไปใช้อ้างอิงเพื่อวัตถุประสงทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ จะได้มีการนำส่งหนังสือแถลงจุดยืนดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการฯ ภายในวันนี้ (23 มี.ค. 55)