“สนธิ” ปัดตอบปมปฏิวัติ เรียกร้องทุกฝ่ายให้อภัยก้าวข้ามความขัดแย้ง
พลตรีสนั่น ชี้ปรองดองต้องเริ่มต้นจากการเปิดเผยความจริง คลายความข้องใจ ปชช. ด้านหัวหน้าฝ่ายค้าน จี้สถาบันพระปกเกล้าทบทวนรายงานปรองดอง-เพิ่มข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน หวั่นคนนำไปใช้ไม่ตรงเจตนา
วันที่ 21 มีนาคม 2555 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง จัดการเสวนา “รายงานวิจัยกรสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ โดยมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคมาตุภูมิ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างการปรองดอง กล่าวเปิดตอนหนึ่งว่า การเกิดเหตุการณ์การความไม่สงบ ส่งผลให้เกิดความรุนแรงและทำให้ กลายเป็นสังคมแห่งความรุนแรงและความหวาดระแวง ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความมั่นคงของประเทศ และถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความเป็นชาติ
“จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดองโดยเร็วที่สุด ในขณะที่ทุกภาคส่วนของสังคม ต่างก็ต้องการให้ประเทศยุติความขัดแย้งได้โดยเร็ว เพื่อสร้างกระบวนการปรองดองอย่างยั่งยืน โดยปัจจัยที่จะนำพาประเทศชาติก้าวข้ามความขัดแย้งนี้ไปสู่ความปรองดองก็คือการใช้หลักเมตตาธรรม การให้อภัยซึ่งกันและกัน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม คือการคืนความถูกต้องและความชอบธรรมให้กับทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุขัดแย้งทางการเมืองอันเป็นไปตามนิติประเพณีที่ประเทศไทยและนานาประเทศใช้เป็นเครื่องมือในการยุติความขัดแย้ง” พลเอกสนธิ กล่าวและว่า ในขณะเดียวกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง ระมัดระวังที่จะไม่กระทำการใดๆที่จะกระทบต่อบรรยากาศการปรองดองของประเทศ
พลเอกสนธิ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยจมปักอยู่ในวังวันแห่งความขัดแย้งมาเป็นเวลานานหลายปี ซึ่งผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการและสถาบันพระปกเกล้าเห็นว่าการให้อภัยซึ่งกันและกันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่การปรองดอง แต่ต้องมีการปฏิบัติอย่างจริงจังมิใช่เป็นวาทะกรรมทางการเมืองเพื่อให้เกิดความชอบธรรมเท่านั้น โดยพบว่าภาคการเมืองยังคงมีการสร้างเงื่อนไข อันเป็นอุปสรรคในการปรองดองไม่ใช่ภาคประชาชน ตนจึงขอวิงวอนจากทุกฝ่ายให้ลดความรู้สึกส่วนตัว มองประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นที่ตั้งและไม่สร้างเงื่อนไขอันที่จะนำไปสู่การปรองดองให้ได้ในที่สุด
จากนั้น มีเวทีเสวนานำเสนอรายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า ที่ผ่านกระบวนการการศึกษากรณีศึกษาในต่างประเทศ 10 ประเทศ และจากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 47 คน ที่มีความเกี่ยวข้องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
นางถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องเดินหน้าไปพร้อมกันคือการสร้างบรรยากาศปรองดอง ที่จะนำไปสู่กระบวนการอื่นต่อไป ทั้งนี้ ข้อเสนอที่ทางคณะวิจัยได้นำเสนอนั้นเพื่อเป็นทางเลือกเพื่อนำไปทำเสวนาหาทางออกร่วมกันต่อไป โดยไม่ใช่การใช้มติเสียงข้างมากตัดสิน เพราะนั่นไม่ใช่วิธีการปรองดอง นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้เป็นเพียงแนวทางในการปรองดองเท่านั้น ไม่ใช่การค้นหาความจริง นักวิจัยทำไว้เพื่อให้ศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย
พลตรี สนั่น จี้ถาม พล.อ.สนธิ เบื้องหลังปฏิวัติ 19 ก.ย.
หลังจากนั้นมีการเปิดโอกาสให้มีการซักถาม โดยพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตนเป็นผู้หนึ่งที่ริเริ่มในเรื่องของการปรองดอง ซึ่งได้มีการติดตามมาตลอด และยินดีที่ทุกภาคส่วนมีเจตนาที่จะทำให้เกิดการปรองดองแห่งชาติ โดยเฉพาะ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างการปรองดอง ซึ่งตนเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเริ่มต้นการปรองดองให้ถูกต้อง โดยการเปิดเผยความจริง ถึงหากยังไม่เปิดเผยจะทำให้ความแคลงใจของประชาชนยังคงอยู่
“วันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยมาถึงจัดวิกฤตอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความแตกแยกทางการเมืองที่มีผลกระทบกว้างขวาง ฉะนั้นความปรองดองจึงเป็นความประสงค์ของทุกฝ่ายในขณะนี้ ทั้งนี้สาเหตุของความขัดแย้งมาจากอะไรนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยคนในสังคมรับรู้ความจริงว่าปัญหาความขัดแย้งมีมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความขัดแย้งที่อยู่ในระดับต่ำและสังคมยอมรับได้ แต่หลังจากรัฐประหารความขัดแย้งได้พัฒนาความรุนแรงมากขึ้นอีก ฉะนั้นผลที่จะทำให้เกิดความปรองดองคือ ทุกคนต้องออกมาพูดความจริงให้ประชาชนรับทราบ เพื่อให้หายความแคลงใจ”
ทั้งนี้ พลตรีสนั่น ได้รับตั้งคำถามต่อ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน 3 ข้อ ได้แก่ 1.ใครคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการปฎิวัติ ตัวท่านเองหรือไม่ที่มีเหตุผลจูงใจส่วนตัว เนื่องจากประชาชนมีความแคลงใจว่าอำมาตย์และผู้ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งแม้กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มคนเสื้อแดงก็ยังเข้าใจเช่นนั้น 2.เมื่อเกิดการปฏิวัติแล้ว ท่านและคณะปฏิวัติได้เข้าเฝ้าถวายรายงานต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมี พล.เอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้นำท่านเข้าเฝ้าและรู้เห็นถึงการปฏิวัติในครั้งนั้นหรือไม่ และท่านเคยเข้าพบท่านองคมนตรีหรือไม่ และ 3.ภายหลังเกิดความขัดแย้งทางการเมือง พล.อ.เปรม ได้เคยขอร้องให้ออกมาพูดความจริงโดยผ่าน พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ถึง 2 ครั้งใช่หรือไม่ และท่านได้ออกมาพูดความจริงหรือไม่
อภิสิทธิ์ ท้วงรายงานวิจัยข้ามข้อเท็จจริงเหตุการณ์สำคัญ ยันต้องนำกลับไปทบทวน
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รายงานที่สถาบันพระปกเกล้าเผยแพร่ฉบับล่าสุด มีการปรับแก้ในบางส่วนจากรายงานฉบับที่ส่งให้คณะกรรมาธิการฯ ในวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา เช่น ในรายงานฉบับร่างเขียนถึงขั้นว่าในเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคมวันเดียวมีผู้เสียชีวิต 91 คนและต่อมาได้แก้ไขว่ายอด 91 คนนั้นเป็นยอดการสูญเสียต่อเนื่อง 2 เดือน คำถามคือ ในเมื่อท่านเองมีข้อเสนอข้อแรกว่าการค้นหาความจริงข้อแรกไปสู่การปรองดอง และขณะนี้ท่านเองก็ยอมรับว่าความต้องมีการปรับความจริงในหลายเรื่อง ท่านจะกลับไปทบทวนข้อเสนอด้วยหรือไม่
“ขอยืนยันว่า ข้อเท็จจริงที่ท่านกรุณาปรับยังไม่สะท้อนถึงสิ่งที่ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เสนอ และ ขอให้อ้าง คอป. และศาลยุติธรรม เพราะเห็นว่าหลายเหตุการณ์มีการอ้างหนังสือพิมพ์แต่ไม่มีอ้างคำพิพากษาของศาล เช่น คดีลักทรัพย์ในเซนทรัลเวิลด์ที่ถูกวางเพลิง ซึ่งศาลมีการตัดสินลงโทษแล้วมีเอกสารอ้างอิงชัดเจน”
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการนิรโทษกรรมนั้นอาจจะบทเรียนจากต่างประเทศมาใช้ได้ไม่ทั้งหมด เนื่องจากมีบริบทที่ต่างกัน ซึ่งแต่ละกรณีก็จะมีคำตอบและทางออกที่ไม่เหมือนกัน วันนี้ในกรณีประเทศไทยต้องได้ข้อยุติก่อนว่าตกลงเป็นการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธจริงหรือไม่ เพื่อให้ได้คำตอบและทางออกที่ชัดเจน
“ในส่วนของนิโทษกรรม ผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นเห็นด้วย แต่ต้องแยกกรณีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจระหว่างการชุมนุมกับกรณีที่มีการวางแผนมากระทำความผิดทางอาญา ซึ่งในรายงานยังไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้ ฉะนั้นควรต้องถอนข้อเสนอนี้ไปปรับเสียใหม่ ส่วนที่เกี่ยวเนื่องมีผลต่อการเมืองต้องมีวางหลักเกณฑ์กลั่นกรองเสียก่อน”
สำหรับข้อเสนอในส่วนของคดี คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในข้อเสนอที่ 3 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาอีกครั้ง คำถามคือ มีที่มาจากไหน ซึ่งถ้าบอกว่ามาจากผู้ทรงคุณวุฒิเสนอนั้น ไม่แปลกใจว่าผู้ที่เสนอให้ล้มคดี คตส.นั้นจะได้ผลกระทบจากการส่งดำเนินคดีด้วย ซึ่งในทางเลือกที่ 3 จะมีผู้ทรงคุณวุฒิ 1 ท่านที่เสนอทางเลือกนี้และกลายเป็นหนึ่งในทางเลือก ในขณะที่ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 ท่านที่เสนอให้คดีของ คตส.ดำเนินต่อไป แต่ทางเลือกนี้คณะผู้วิจัยไม่นับเป็นข้อเสนอ
“ทำไมต้องรวบรัดรีบเร่ง ไม่กลับไปทบทวน เพราะการก้าวเดินไปสู่การปรองดอง ต้องทำเป็นจุดร่วมแล้วเราจะเดินหน้าได้ แต่อะไรยังขัดแย้งอยู่อย่าเพิ่งเดิน ซึ่งจะสามารถนำข้อเสนอไปปรับใหม่ได้หรือไม่ หากทำได้ทางคณะวิจัยก็จะไม่ตกเป็นจำเลย หลังจากก็อาจมีการตั้งวงพูดคุยในรายละเอียดต่อไป”
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากจบเสวนา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าจะรอดูรายงานจากทางกรรมาธิการว่าจะเขียนอย่างไร ในกรณีที่บอกว่าไม่มีการลงมติใช้เสียงข้างมาก และเห็นว่าขณะนี้หลายฝ่ายมีการยอมรับมากขึ้น ซึ่งยังไม่เห็นว่ามีใครไปคัดค้าน การไปนิรโทษกรรมต่อผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นจุดร่วมที่สามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าไปตั้งธงในบางเรื่อง ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดความขัดแย้ง แต่พยายามเอาเสียงข้างมากมาใช้ ซึ่งตรงนั้น เป็นการพยายามขัดขวางการปรองดอง ส่งเสริมความขัดแย้งให้เกิดขึ้น
เลขาฯ สถาบันพระปกเกล้า ย้ำ รายงานเป็นเพียงจุดเริ่มต้น
นายวุฒิสาร ไชยวุฒิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในการที่คณะผู้วิจัยและสถาบันได้ตกเป็นจำเลยนั้น ขออธิบายว่าความเห็นของผู้วิจัยและสถาบันพระปกเกล้านั้นแยกออกจากกัน ซึ่งตนรู้สึกเสียใจที่มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ซึ่งสังคมไทยต้องเปลี่ยน เรายินดียอมรับความเห็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเหตุผล แต่รับไม่ได้กับวจีสุจริต
“เรามีความบริสุทธิ์ใจและเปิดเสรีจากการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันไม่ได้ตอบโต้ในข้อวิพากษ์ใดจากการที่มีข่าวคลาดเคลื่อนหรือไม่เป็นความจริง เพราะถือว่าสังคมต้องเรียนรู้เอง ทั้งนี้สถาบันไม่ได้เป็นเครื่องมือของใคร แต่พยายามเป็นเครื่องมือของสังคมและประเทศ เพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง”
นอกจากนี้ นายวุฒิสารยังกล่าวถึงการปรับแก้ข้อเท็จจริงบางประการในรายงานว่า ได้มีการปรับแก้ข้อเท็จจริงที่อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ยังไม่ชัดเจนแล้ว ซึ่งในประเด็นที่นายอภิสิทธิ์ได้เพิ่มเติมนั้น คณะผู้วิจัยยินดีที่จะนำไปเขียนเพื่อทำให้เกิดความชัดเจนในกรณีข้อเท็จจริงที่มีข้อยุติแล้ว ส่วนประเด็นข้อเสนอที่เชื่อมโยงกันนั้น เราเห็นว่าในข้อเสนอนั้นมีตรรกะอยู่ในตัว แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ต้องทำทุกเรื่อง โดยส่วนสำคัญคือกระบวนการในทำรายละเอียด
“ในวันนี้เราอยู่บนฐานของความคิดทีพยายามอธิบายว่าเราตั้งโจทย์สองเรื่อง คือแนวทางการให้อภัยและแนวทางการคืนความรู้สึกความไม่เป็นธรรม เป็นสองเรื่องที่เราตั้งไว้ว่าเป็นเหตุที่จะนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นฐานที่สุดเพื่อนำมาสู่สภาพปกติ แต่จากนั้นไป ในรายละเอียดต้องมีกระบวนการ ดังนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของข้อยุติสุดท้ายแต่เป็นจุดเริ่มต้นของรายละเอียดที่ต้องคิดกันต่อในทุกประเด็น”
เลขาฯพระปกเกล้า กล่าวด้วยว่า มองว่าไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีผู้ไม่เห็นด้วย นั่นหมายถึงไม่สามารถทำให้สองฝ่ายที่อยู่บนความขัดแย้งชัดเจนนั้นเห็นด้วยหรือเห็นพ้องทั้งหมดและมีข้อติเตียน แต่สิ่งที่จะเป็นพลังในการสนับสนุนนั่นคือคนที่เป็นกลาง ต้องออกมาเป็นแรงกดดันต่อทุกฝ่าย ซึ่งในขณะนี้บรรยากาศการปรองดองยังไม่เกิด ทุกคนมีความต้องการอยากปรองดอง แต่เป้าหมายยังเป็นเป้าหมายของตนเองไม่ใช่ส่วนรวม ฉะนั้นกระบวนการหารือในการหาข้อยุติของคณะกรรมาธิการฯ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของกระบวนการปรองดอง
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พลเอกสนธิ ปัดที่จะตอบคำถามของ พลตรีสนั่น โดยกล่าวว่า ตนรู้สึกระอายต่อคำถามนี้ และเป็นคำถามที่ไม่ควรมาถามตน เพราะคำถามบางประการตายแล้วก็ตอบไม่ได้ ฉะนั้นเรื่องบางเรื่องในสิ่งต่างๆเหล่านี้เมื่อถึงเวลามันจะปรากฏขึ้นมาเอง ถ้าเปิดเผยวันนี้ถามว่ามีอะไรดี ซึ่งไม่มีความจำเป็น ณ วันนี้ถ้ารัฐบาลสร้างความรักความสามัคคีแล้ว ตนขอใช้หลักคิดอันหนึ่งคือเราต้องลืมอดีต คิดถึงปัจจุบันเพื่อสร้างอนาคต