โฆษกศาลยธ.ยันศาลพึ่งได้ ไม่มีระบบส่งเข้าประกวด มีความเป็นกลาง
โฆษกศาลยุติธรรมปัดตุลาการต้นเหตุยึดอำนาจ ชี้กฎหมายไม่จีรังเปลี่ยนแปลงได้ ด้าน “โภคิน” ฉะศาลหนุนหลังรัฐประหาร ม.309 ขัดหลักนิติธรรม เป็นการนิรโทษกรรมขั้นสุดยอด
วันที่ 20 คณะอนุกรรมการปรับปรุง และพัฒนากฎหมาย ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จัดประชุมเสวนา เรื่อง “รัฏฐาธิปัตย์” เอื้อประโยชน์รัฐประหาร หรือทำลายระบบนิติธรรม โดยมี นายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายอุดม มั่งมีดี อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และ นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ร่วมเสวนา ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ หมายเลข 213-216 อาคารรัฐสภา 2
นายโภคิน กล่าวถึงรัฏฐาธิปัตย์ที่มีผลกระทบทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นมาจากคำพิพากษาของศาลฎีกา เลขที่ 45/2496 ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หากทำการรัฐประหารสำเร็จจะมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเป็นใหญ่ตราบใดที่ยังรักษาอำนาจไว้ได้ โดยสามารถทำอะไรก็ได้ และสามารถนิรโทษกรรมตนเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรง เนื่องจากตามความเป็นจริงแล้วการนิรโทษกรรมต้องเป็นผู้ถูกกระทำเป็นผู้ให้อภัย
“คำวินิจฉัยของศาลไทยเป็นไปในแนวนี้เรื่อยมา และมีการกำหนดมาตรา 309 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือการนิรโทษกรรมของผู้ยึดอำนาจตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2549 การ ในมาตรา 36 ที่ให้คำสั่งของผู้ยึดอำนาจชอบด้วยรัฐธรรมนูญครอบคลุมทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งก็พิลึกและประหลาดไปหมด ด้วยเหตุผลว่า เป็นการขัดต่อมาตรา 6 ที่ระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ นั่นหมายถึง มาตรา 6 ก็ไม่มีความหมาย”
นายโภคิน กล่าวถึงมาตรา 309 เป็นการนิรโทษกรรมแบบสุดยอด ซึ่งผู้ที่ช่วยยกร่างนี้ถือว่าเป็นผู้สนับสนุนเผด็จการ ทั้งนี้การจะแก้มาตรา 309 นั้นไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการป้องกันไม่ให้มีการรับรองอำนาจของผู้อำนาจ เพราะไม่เช่นนั้นประชาธิปไตยจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งในทีนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเพียงเหยื่อ และอาจได้ผลประโยชน์บางส่วนเท่านั้น พร้อมกันนี้ได้เสนอว่าในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะแก้กันใหม่ซึ่งยังไม่แน่ว่าใครจะมาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)นั้น ควรต้องเขียนไว้ว่า ประกาศ คำสั่ง หรือกระบวนการทั้งหลายที่เกิดจากการปฏิวัตินั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีขึ้น และต้องเขียนเป็นหลักไว้ในรัฐธรรมนูญว่า การนิรโทษกรรมตนเองนั้นถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรม
ด้านนายจาตุรนต์ กล่าวว่า ในการรัฐประหารแต่ละครั้ง ฝ่ายตุลาการมักจะอ้างคำสั่งของรัฐประหารนั้น เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งแนวทางมักใช้คำสั่งของศาลฎีกาในอดีตมาอธิบาย โดยเหตุผลหลักๆว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง โดยการรับรองอำนาจเช่นนี้ เท่ากับว่า สังคมนี้ถือเอาผู้มีกำลังอาวุธเป็นใหญ่ เพียงใช้กำลังต่อสู้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้
“ปัจจุบันในประเทศไทย กฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายสูงสุดจริงและกฎหมายสูงสุดคืออำนาจของรัฐประหาร คำสั่งของเขาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการตัดสินของศาลนั้นไม่มีหลักมารองรับ แต่ต้องตัดสินเช่นนั้นเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งนี้ในการรัฐประหารครั้งล่าสุดปี 2549 ได้ยืนยันแล้วว่า ในการยึดอำนาจได้สำเร็จและเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น ไม่เป็นผลให้เกิดความสงบในบ้านเมืองอย่างแท้จริง ฉะนั้นหลักนี้จึงใช้ต่อไปไม่ได้แล้ว”
นายจาตุรนต์ กล่าวถึงการป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกนั้น ฝ่ายตุลาการต้องมีข้อสรุปใหม่ ต้องกล้าคิด คือ ให้ศาลฎีกาลงมติในที่ประชุมใหญ่ว่า การรัฐประหารนั้นเป็นความไม่ชอบในรัฐธรรมนูญจะอ้างคำวินิจฉัยศาลฎีกาในอดีตอีกไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกฝ่ายผู้ยึดอำนาจก็สามารถฉีกกฎหมายได้ ก็จะเป็นการวนเวียนอยู่เหมือนเดิม ฉะนั้นต้องขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชนและข้าราชการที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐประหาร เพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ
“เรื่องที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้ คือต้องแก้แนวความคิด เลิกการยอมรับรัฐประหาร ซึ่งการแก้กฎหมาย หรือพระราชบัญญัติ ไม่ใช่ที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วต้องอยู่ที่ประชาชนและทุกฝ่ายร่วมมือกัน ต่อต้านรัฐประหาร ต้องมีการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ ไม่ใช่แค่การแก้กฎหมาย”
นายอุดม กล่าวว่า ความยุ่งยากทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น ในการตัดสินคดีรัฐประหารครั้งแรกศาลได้หยิบยกเอากฎหมายของเยอรมนีมาใช้ ซึ่งบริบทไทยและเยอรมันไม่เหมือนกัน และที่สำคัญคือ คำว่า “รัฏฐาธิปัตย์” ไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ มั่นใจว่าศาลฎีกาจะไม่เลิกหลักนี้ ฉะนั้นเป็นปัญหาของคนไทยว่าจะให้ศาลใช้หลักนี้ต่อไปหรือไม่ และควรต้องเขียนกำกับในรัฐธรรมนูญว่า ต่อไปนี้ศาลต้องใช้กฎหมายตามที่รัฐสภาออกเท่านั้น ทั้งนี้ตุลาการต้องเป็นผู้สร้างความยุติธรรมให้กับประชาชน เพื่อรักษาความเชื่อถือในสถาบันศาลต่อไป
เปิดจุดแข็ง ศาลพึ่งพาได้ มีความเป็นกลาง
ขณะที่ นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า ตุลาการดูเสมือนว่าเป็นตัวการและสนับสนุนการเกิดรัฐประหาร ซึ่งหากดูสาเหตุที่แท้จริง การยึดอำนาจรัฐมาจากวิกฤตทางสังคมและการเมืองที่นิติบัญญัติอ่อนแอ บริหารอ่อนแอ เรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น แต่ถามว่าทำไมตุลาการจึงเป็นจำเลย
“เราต้องเคารพในหลักการแบ่งแยกอำนาจในความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจตุลาการเป็นอำนาจหนึ่งที่ไม่ได้ออกกฎหมายเองแล้วให้ศาลนำไปบังคับใช้ ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ในส่วนของการรับรองความชอบธรรมของรัฏฐาธิปัตย์ที่เข้าสู่อำนาจโดยไม่ชอบนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ศาลอยู่ภายใต้ความเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม ศาลก็ถือตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า กฎหมายไม่ได้จีรังยั่งยืน ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายยุคต่อยุค เป็นการพัฒนาการเมืองที่อาจจะเดินหรือถอยหลัง”
นายสิทธิศักดิ์ กล่าวถึงระบบตุลการนั้นมีปฏิรูปตนเองอยู่เสมอ ไม่ได้อยู่นิ่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคม มีระบบปฏิบัติอย่างจริงจังมีการตรวจสอบ มีการตั้งคณะกรรมการจริยธรรมขึ้นมาตรวจสอบ และศาลยุติธรรมนั้นฟังเสียงประชาชนทั้งในแง่บวกและแง่ลบ
“ศาลพึ่งพาได้ และผู้ปฏิบัติที่มาจากลูกหลานประชาชน และเป็นระบบที่ไม่มีบุญคุณและความแค้นต่อกัน ระบบการเข้าสู่ตำแหน่งมีความยุติธรรมเสมอภาค ไม่มีระบบส่งเข้าประกวดมีความเป็นกลาง ซึ่งเป็นจุดแข็งของระบบตุลาการ ทั้งนี้ การออกแบบระบบตุลาการ ถ้าลองมองย้อนในการแต่งตั้งนั้นเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ที่เห็นว่าระบบของความอิสระนั้นเกรงว่าความไม่เป็นธรรมจะเกิดขึ้น และเป็นที่มาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่เป็นความต้องการของศาลยุติธรรม”
นายสิทธิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในเมื่อสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองเกิดขึ้น เป็นบทบาทของศาลยุติธรรมจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและรักษาระบบรวมถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชน พร้อมทั้งมีหน้าที่ทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ได้ถือตนเองเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ เพียงแต่ระบบศาลต้องมีความเคารพในการบังคับการให้เป็นไปตามคำพิพากษา และมีระบบตรวจสอบดุลพินิจในแต่ละชั้นศาล แต่ทั้งนี้ ศาลก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ก็ขอให้ทำความเข้าใจเนื้อแท้ และประเด็นปัญหาที่แท้จริงของศาลเองด้วย