ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปลัดแรงงาน บอกศาลฯ ประโยชน์ตกอยู่กับคน 5.4 ล้าน
“สมเกียรติ” ขอศาล ปค.ยกคำขอคุ้มครองค่าจ้าง 300 หวั่น แรงงาน 5.4 ล้านคนเดือดร้อน ปัดการเมืองแทรกแซง ด้านผู้ประกอบการ เผยหากศาลไม่ทุเลาคำสั่ง คาดทำโครงสร้างค่าจ้างเสียระบบ
วันที่ 15 มีนาคม ศาลปกครองกลาง กำหนดนัดไต่สวน คดีพิพาทระหว่าง บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัดและพวกอีก 42 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 18 กระทรวงแรงงาน (ผู้ถูกฟ้องคดี) เกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้การไต่สวนในวันนี้เพื่อเป็นการพิจารณาในการออกคำสั่งในการคุ้มครองชั่วคราวเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดี
โดยผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 18 กระทรวงแรงงานมีประกาศคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6 ) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 (ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555) โดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันที่ 300 บา ท เฉพาะใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ส่วนจังหวัดอื่นปรับจากเดิมประมาณร้อยละ 20) ซึ่งผลกระทบต่อดัชนีค่าครองชีพ และภาระเงินเฟ้อ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย
นายวาทิน หนูเกื้อ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี 42 คน กล่าวว่า การที่ขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก่อนการตัดสินคดีนั้น เนื่องจากคาดว่าจะส่งผลกระทบใน 4 ประการ ได้แก่
1. หากเริ่มการบังคับใช้ประกาศในวันที่ 1 เมษายน 2555 แล้วนั้นจะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งหากจะให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม ต้องมีการยื่นข้อเรียกร้อง และส่งผลกระทบต่อแรงงานสัมพันธ์ด้วย
2.หากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อันเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตนั้น จะส่งผลต่อการขึ้นราคาสินค้าให้แพงขึ้น และหากศาลมีคำสั่งเพิกถอนในภายหลัง การจะลดราคาสินค้าให้เท่าเดิมก็เป็นไปได้ยาก
3.การที่นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นให้กับลูกจ้างไปแล้วนั้น หากมีคำสั่งเพิกถอนจากศาล จะไม่สามารถเยียวยาในภายหลังได้
4.นอกจากการจ้างลูกจ้างใหม่แล้ว ยังต้องมีการปรับลูกจ้างเก่าด้วย โดยปรับขึ้นตามค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนด ซึ่งเหล่านี้จะส่งผลให้โครงสร้างค่าจ้างเสียระบบไปได้
ขณะที่ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดี กล่าวว่า ในการพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ได้มีการศึกษาถึงอัตราค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 79(3) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ขณะเดียวกันก็พิจารณาไปตามมาตรา 87 ของกฎหมายฉบับดังกล่าว
นอกจากนี้ มีการส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้สำรวจค่าใช้จ่ายของแรงงานในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีทั้งหมด 15 คน ในสัดส่วน ฝ่ายรัฐ 5 คน นายจ้าง 5 คน และลูกจ้าง 5 คน
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า การพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างนั้น ไม่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาล อีกทั้งไม่ได้นำนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรีมาประกอบการพิจารณา แต่ทว่าในการพิจารณาจำเป็นต้องมองไปถึงแนวนโยบายของรัฐในเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปด้วย เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้
“การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้จะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 โดยเพิ่มจากอัตรา 175.82 บาทต่อวัน ในปี 2554 เป็น 245.04 บาทต่อวันในปี 2555 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานถึง 5.4 ล้านคน แต่หากมีการทุเลาการบังคับใช้ จะทำให้แรงงานจำนวนดังกล่าว ไม่ได้รับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 1 เมษายน 2555 ทำให้ขาดรายได้เป็นจำนวนประมาณ 373 ล้านบาทต่อวัน คิดเป็นประมาณ 11,200 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 134,500 ล้านบาทต่อปี ทำให้แรงงานขาดโอกาสในการมีรายได้เพิ่มขึ้น เดือดร้อนในการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว เนื่องจากค่าครองชีพ ราคาสินค้าและบริการ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น”
นายสมเกียรติ กล่าวด้วยว่า การปรับอัตราค่าจ้างขึ้นในครั้งนี้ นายจ้างได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากต้นทุนในการประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นต้นทุนวัตถุดิบถึงร้อยละ 92.3 และทำให้ต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เท่านั้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการมาตรการลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 , การให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน, การลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในปี 2555 ดังนั้นจึงขอให้ศาลยกคำขอคุ้มครองดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ศาลได้ไต่สวนพยานคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแล้ว ทั้งนี้ศาลจะเร่งพิจารณาคำสั่งโดยด่วนต่อไป และจะแจ้งให้คู่กรณีทราบคำสั่งศาลต่อไป และเมื่อได้รับคำสั่งดังกล่าว ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การและสำนวนพยานหลักฐานที่รับรองสำนวนถูกต้องจำนวน 1 ชุด กลับมายังศาล