นายกฯ เผยเตรียมพื้นที่รับน้ำแล้ว รอดูปริมาณน้ำก่อนกำหนดพื้นที่ชัดเจน
"ยิ่งลักษณ์" ยันรัฐบาลมีมาตรการในตรวจสอบการใช้งบประมาณไม่ให้ทุจริต ระบุการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกขั้นตอนเป็นไปตามระเบียบกรมบัญชีกลาง
วันที่13 มีนาคม นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง พื้นที่รับน้ำจำนวน 3 ล้านไร่ ที่มีการเสนอให้คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ได้รับทราบ และจะประกาศให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อเตรียมความพร้อม ณ บริเวณหน้าตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการเสนอว่าสามารถหาพื้นที่รับน้ำได้ประมาณ 3 ล้านไร่ ส่วนจะใช้พื้นที่ในการรับน้ำเท่าไหร่นั้น ต้องคำนวณปริมาณน้ำก่อนว่ามีปริมาณเท่าไหร่ ทั้งนี้ ต้องคำนวณปริมาณน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประมวลผลและทำการทดลองโดยสมมุติสถานการณ์จำลองปริมาณน้ำ ว่าหากปริมาณน้ำมีจำนวนเท่านี้ จะไหลลงคูคลองเท่าไหร่ และจะต้องเตรียมพื้นที่รับน้ำจำนวนเท่าไหร่
"จะยังคงไม่ประกาศหาพื้นที่รับน้ำในทันที เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ดำเนินการเป็นงบประมาณทั้งสิ้น ต้องดูก่อนว่ามีปริมาณน้ำเท่าไหร่จึงจะกำหนดพื้นที่รับน้ำ ณ วันนี้มีพื้นที่ในการรับน้ำแล้วประมาณ 3 ล้านไร่ โดยจะต้องไปดูในรายละเอียดและทำการวางพิกัดติดตั้งระบบ GPS เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่แต่ละพื้นที่เป็นพื้นที่รับน้ำจริงๆ ซึ่งคณะกรรมการ กนอช.ให้กลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ จึงยังไม่ประกาศพื้นที่รับน้ำให้ประชาชนทราบ"
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องดูการพยากรณ์ปริมาณน้ำในภาพรวมทั้งหมดก่อน เพื่อให้มีความสัมพันธ์กับพื้นที่รับน้ำ และต้องดูปริมาณต้นน้ำว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เขื่อนรับน้ำได้เท่าไหร่ ไหลผ่านตามคูคลองได้เท่าไหร่ ซึ่งส่วนที่เกินจะเป็นส่วนที่ไหลลงพื้นที่รับน้ำ สำหรับหลักเกณฑ์ในการใช้พื้นที่รับน้ำคงจะต้องทยอยให้หลักเกณฑ์ ทั้งนี้ ต้องการให้หารือกับประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อน เพื่อทำความเข้าใจและเกิดการยอมรับ คาดว่าไม่เกินเดือนพฤษภาคมได้ข้อสรุปแน่นอน ทั้งนี้ ในหลักการทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอมาแล้วแต่เพื่อความรอบคอบ ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยลงไปทำงานในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนหลักเกณฑ์การเยียวยาพื้นที่รับน้ำนั้นยังไม่มีการพิจารณา
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในส่วนของการลงพื้นที่ตรวจพื้นที่ปลายน้ำยังไม่มีการกำหนดวันและเวลาในการลงพื้นที่ ซึ่งต้องมีการติดตามงานจากผู้ตรวจราชการในแต่ละพื้นที่ก่อน ซึ่งจะมีการจ้างนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยของแต่ละจังหวัด ให้ทำงานติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ และรายงานกลับมาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง ในส่วนกรอบงบประมาณการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเร่งด่วนปี 2555 นั้น เป็นการขออนุมัติกรอบในการกู้เงิน โดยหลักการต้องให้กระทรวงการคลังพิจารณา เพราะทุกอย่างต้องไปเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง
สำหรับมาตรการการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความเป็นห่วงมาก มาตรการทั้งหมดที่มีการอนุมัติได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และ คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ในเบื้องต้น และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะมีการใช้งบประมาณได้ สำหรับขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้างต้องเป็นไปตามระเบียบของสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง โดยให้คณะกรรมการ กบอ. ร่วมกับ คณะกรรมการ กนอช.ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการตรวจสอบงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ในการดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่างบประมาณถูกนำไปใช้ในการดำเนินการเพื่อป้องกันอุทกภัยน้ำท่วมจริง ๆ