ดร.บรรเจิด แนะศาลปค. เร่งหาวิธีประสาน-บริหารความขัดแย้ง
ดร.บรรเจิด แนะศาลปกครองยึดหลัก ดุลยภาพ-คุณภาพ-ประสิทธิภาพ-เอกภาพ เพื่อความดำรงอยู่ในอนาคต ขณะที่ "สุภาพ คลี่ขจาย" เสนอแยกแผนกฟ้องโยกย้ายขรก.ไม่เป็นธรรม ออกมา เหมือนแผนกคดีสิ่งแวดล้อม
เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลปกครองจัดสัมมนาหัวข้อ“หลากหลายมุมมอง ศาลปกครอง 11 ปี ” เนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปีการเปิดทำการศาลปกครอง โดยมี ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการอิสระ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และอดีตปลัดกระทรวงการคลัง นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุภาพ คลี่ขจาย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะเนติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมเสวนา ณ ชั้น 11 ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ
ดร.สถิตย์ กล่าวว่า 11 ปีศาลปกครอง เป็น 11 ปีที่มีการต่อสู้ทางความคิดอันยาวนาน โดยศาลปกครองได้วางรากฐานของการใช้กฎหมายปกครองอย่างลึกลงไปในระบบกฎหมาย ลึกลงไปถึงการใช้กฎหมายปกครองในสังคมไทย และเป็นการใช้กฎหมายที่สามารถวางหลักกฎหมายปกครองได้อย่างชัดเจน นำไปสู่แนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายปกครอง
“ความจริงหลักศาลปกครองไม่ใช่หลักของการที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนที่มีต่อการปกครองเท่านั้น แต่เป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของข้าราชการด้วย โดยหลักสำคัญ คือ เป็นเรื่องของการคานอำนาจกันในระหว่างอำนาจบริหารกับอำนาจตุลาการ ซึ่งหากในระบอบประชาธิปไตยไม่มีการตรวจสอบและคานอำนาจซึ่งกันและกัน ก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย"
ดร.สถิต กล่าวว่า แม้ศาลปกครองจะมีมายาวนานแต่สำหรับข้าราชการแล้วยังไม่มีความรู้สึกผูกพัน ฉะนั้นการจะนำคำพิพากษาไปปฏิบัติจะต้องวางหลักให้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ทางปกครองต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา และหากไม่ปฏิบัติจะต้องได้รับบทลงโทษเช่นไร เพราะหากไม่มีการบังคับคงไม่มีการนำไปสู่การปฏิบัติได้
“จากนี้ไปต้องมีการพัฒนาความรู้เชิงวิชาการในเชิงลึกที่เกี่ยวกับกฎหมายปกครอง มีการเปรียบเทียบกับกฎหมายอื่นๆเพื่อเป็นตัวอย่างในการนำกฎหมายมาใช้ ที่สำคัญความอิสระในทางวิชาการหรือการวินิจฉัยนั้นต้องสอดคล้องกับการพัฒนาที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วในการตัดสินคดี ”
นายพยุงศักดิ์ กล่าวถึงความจำเป็นและความสำคัญในการมีศาลปกครอง เพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชน คอยดูแลความยุติธรรมในทางปกครอง ซึ่งหากศาลปกครองมีการดำเนินคดีที่รวดเร็ว จะเป็นเรื่องที่ดี ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้กลุ่มผลประโยชน์เข้ามากดดัน และนำเรื่องนี้ไปเป็นเครื่องต่อรองได้ และควรเร่งพัฒนาตุลาการให้มีความรู้รอบด้าน เพราขณะนี้มีการขยายขอบเขตของคดีไปในหลายด้าน รวมทั้งเร่งพัฒนากรอบการปฏิบัติ และเพิ่มเติมในส่วนของการเผยแพร่ไปยังผู้เกี่ยวข้อง
"แม้ศาลปกครองจะตั้งมา 11 ปี แต่ความรู้เรื่องศาลปกครองยังไม่กระจาย หรืออาจจะกระจายแต่ก็น้อยและไม่ลึกซึ้ง ดังนั้นต้องมีการเผยแพร่ให้ความรู้เพื่อให้เข้าถึงกระบวนการทางปกครองมากขึ้นด้วย”
ขณะที่ นายสุภาพ กล่าวถึงความล่าช้าของการพิจารณาคดี เป็นปัญหาที่แก้ไขยาก เนื่องจากหากต้องการความเป็นธรรมอย่างแท้จริงอาจต้องใช้เวลานาน จนกระทั่งมีคำพูดที่ว่าความยุติธรรมมาช้า แต่ก็มีกว่าไม่มา แต่บางกรณีถ้ามาช้าก็เหมือนไม่มาเช่นเดียวกัน
“ยกตัวอย่างคดีฟ้องร้องการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม เพราะหากมีความล่าช้า คู่ความอาจเกษียณราชการไปเสียก่อน หรืออาจจะเสียชีวิตได้ ฉะนั้นศาลปกครองต้องวิธีดำเนินการเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความเป็นธรรมด้วย จึงมีการเสนอว่า ให้แยกแผนกฟ้องเลื่อน โยกย้าย แต่งตั้งแผนกบุคคล เหมือนกับที่แยกแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนที่ถูกโยกย้ายแต่งตั้งไม่เป็นธรรม ต้องการคำพิพากษาเร็วกว่าคนที่ฟ้องร้องเรื่องอื่นๆ”
นายสุภาพ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อัตราของผู้พิพากษาคดีกับปริมาณของคดีที่เข้ามาห่างกันมาก ทั้งนี้ศาลไม่ใช่รถไฟที่เต็มแล้วจะรับเพิ่มไม่ได้ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ต้องรับ ฉะนั้นอาจต้องคิดหาวิธีในการสรรหาตุลาการให้ได้ปริมาณที่พอเหมาะและมีคุณภาพที่สามารถพิจารณาคดีได้อย่างเที่ยงธรรม
ด้าน รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวถึงความชอบธรรมที่มีการจัดตั้งศาลปกครอง เนื่องจากศาลยุติธรรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่เพียงพอ มีการจำกัดบทบาท ซึ่งหากศาลยุติธรรมไหวตัวทันคงไม่ต้องมีระบบศาลคู่เกิดขึ้น
สำหรับการดำรงอยู่ของศาลปกครองในอนาคตนั้น รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ต้องมีหลัก 4 ภาพ อันได้แก่ 1.ดุลยภาพ ที่ต้องมีการวินิจัยฉัยคดีให้เกิดดุลยภาพบนพื้นฐานของหลักความชอบโดยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามการพิจารณาคดีต้องไม่คุ้มครองสิทธิของประชาชนมากเกินไปโดยไม่คำนึงถึงการบริหารราชการแผ่นดิน ในทางกลับกันก็ต้องไม่ยึดเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินจนลืมสิทธิของประชาชนด้วย
“2.คุณภาพของการตัดสินคดี โดยจะสะท้อนผ่านคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งในบางเรื่องคุณภาพก็ยังมีปัญหา ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในแวดวงวิชาชีพ 3.ประสิทธิภาพ ที่ต้องคำนึงถึงเรื่องของระยะเวลาในการตัดสิน รวมทั้งการให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการของศาลปกครองได้ ทั้งนี้อาจต้องมีหน่วยแนะนำก่อนมาถึงศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการในการบังคับคดีก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะที่ผ่านมายังใช้ไม่ค่อยได้จริงในทางปฏิบัติ"
รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุดในภาวะที่ศาลปกครองมีภาวะคุกคาม คือ เอกภาพ เพราะเป็นเรื่องของความขัดแย้งกันในเรื่องขององค์กร ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายของการดำรงอยู่ ฉะนั้นต้องหาวิธีในการประสานและบริหารความขัดแย้ง เพื่อให้ศาลปกครองคงไว้ซึ่งหลักนิติราษฎร์