ดร.สุรินทร์ ชี้การมีศาลปค.คือหลักประกันการเข้าถึงความยุติธรรมของรัฐ
ดร.สุรินทร์ ยันศาลปกครองเป็นกลไกจรรโลงไว้ซึ่งความยุติธรรม คาน-สร้างดุลอำนาจให้ประชาชน แนะเร่งทำให้สถาบันนี้เป็นปึกแผ่น รับประกันให้เกิดความยุติธรรมในสังคมได้ คนหวงแหน รับรองยุบยาก
วันที่ 9 มีนาคม ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน บรรยายพิเศษเรื่อง AEC กับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ณ ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ โดยกล่าวถึงที่มาของประชาคมอาเซียน หรือ AEC ว่า เกิดจากความคิดของคนไทย เป็นมรดกและทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย ในยุคนายถนัด คอมันตร์ ตั้งแต่รวมตัวกันในภูมิภาคเล็กๆ 4-5 ประเทศ แล้วจึงขยายเพิ่มเป็น 10ประเทศ
"ในอนาคต. AEC จะเกิดการควบรวมทางธุรกิจทั้งจากภายนอก จากในอาเซียน และในประเทศเอง ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ สนับสนุนให้ธุรกิจขนาดย่อมหรือ SME ให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้ยังมีที่ว่างอยู่ เราจะโตเพียงแค่ในบ้านเราไม่ได้แล้ว ต้องออกไปใช้ปัจจัยทรัพยากรให้เป็นประโยชน์ เพราะใครช้าถือว่าตก"
ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงการปรับตัวและพัฒนาคนให้ทันว่า อยู่แค่ตรงนี้ไม่พออีกแล้ว หากสายเกินไปพื้นที่จะเต็มและส่งออกไปไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่อยากเห็น คือ จัดตั้งกองกำลังนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ และเครื่องมือที่พร้อม เพราะคนเหล่านี้พูดภาษาเดียวกัน เรียนมาจากสถาบันเดียวกัน และรู้จุดอ่อน จุดแข็งของกันและกัน เราต้องตื่นตัว และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับ AEC ที่กำลังมาถึง
ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับในการจัดการ อีกทั้งแรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่า ซึ่งน่ากลัวว่า วันหนึ่งพม่าอาจมีการเรียกแรงงานกลับ ฉะนั้นไทยควรเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น เป็นโรงงานไฮเทค
นอกจากนี้ การเตรียมพร้อมเศรษฐกิจ เลขาฯอาเซียน กล่าวด้วยว่า ยังมีเรื่องการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เรื่องกฎหมายด้วย เพราะในแบบพิมพ์เขียวของ AEC ว่าด้วยเรื่องการเมืองและความมั่นคง ค่านิยมประชาธิปไตยส่งเสริมความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกัน ฉะนั้นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายแบบเสมอภาคและเข้าถึงความยุติธรรมได้
"ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยจ๋า มีความเป็นประชาธิปไตยมากเกินไป มีหลากหลายความคิดและหลากหลายสี ซึ่งภาคภูมิใจได้อย่างหนึ่งว่ายากที่จะกลับสู่สังคมปิดได้อีก และเป็นสิ่งที่ท้าทายว่าเราจะทำอย่างไรให้สังคมที่เปิดอยู่นั้นเปิดกว้างมากขึ้น เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ไม่ใช่แค่ลอยๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง"
ทั้งนี้ ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงการมีศาลปกครองในไทยด้วยว่า เป็นความคิดที่เฉียบแหลมที่ต้องการให้มี เพราะนี้คือหลักประกันการเข้าถึงความยุติธรรมของรัฐ เป็นการคานอำนาจและสร้างดุลอำนาจของประชาชนที่บอกว่าเป็นเจ้าของอำนาจ แต่ถูกรัฐบาลและภาคราชการนำมาใช้ โดยไม่มีความโปร่งใสและไม่ยุติธรรม
"ศาลปกครองเป็นกลไกหนึ่งที่จะจรรโลงไว้ ซึ่งความยุติธรรม และถ้าเราจะสามารถทำให้สถาบันนี้ให้เป็นปึกแผ่น เป็นที่ยอมรับมีความชอบธรรมในตัวเอง เป็นสิ่งที่ประชาชนหวงแหน เราก็จะสามารถรับประกันให้เกิดความยุติธรรมในสังคมได้"
สำหรับกรณีที่มีกระแสการยุบศาลปกครองและองค์กรอิสระนั้น ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า ศาลปกครองจะไม่ถูกยุบพร้อมกับองค์กรอื่นๆ การที่ทำให้เกิดขึ้น คงอยู่ และหายไปคงจะมีเหตุผลในตัว แต่เหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะกลไกเหล่านี้เป็นความท้าทายอำนาจรัฐ และเป็นสัจธรรมของประชาธิปไตยที่ว่าอำนาจต้องจำกัด เพราะอำนาจเบ็ดเสร็จก็จะคอร์รัปชั่นเบ็ดเสร็จเช่นกัน
"ฉะนั้น ทุกวิธีคิดในการสร้างอำนาจต้องมีการถ่วงดุล เริ่มต้นตั้งแต่ 3 อำนาจใหญ่จนกระทั่งในสังคมที่ต้องมีการจัดตั้งศาลพิเศษ เพื่อครอบคลุมปัญหา รวมถึงศาลปกครองที่ในอาเซียนต้องการจะเรียนรู้ และเป็นจุดที่สะท้อนถึงการพัฒนาในเรื่องของประชาธิปไตยที่ทุกคนถือผูกพันในสนธิสัญญา เพื่อจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นใน 10 ประเทศ"
เลขาธิการอาเซียน กล่าวในช่วงท้ายว่า ประชาคมอาเซียนเป็นบ้านหลังใหม่โดยเฉพาะสำหรับลูกหลาน และเป็นการสร้างประชาคมใหม่ ที่มีพื้นที่ให้กับทุกคน และประกันความเสมอภาคให้กับทุกคน เพียงแต่ต้องไขว่คว้า ต้องเตรียมตัว ต้องมีคุณภาพ ต้องมีความสามารถในการแข่งขัน เพราะต่อไปนี้ต้องแข่งขันกับอีก 600 ร้อยล้านคน ถ้าไม่ดีจริงจะไม่รอดและเอาไม่่อยู่