ศาล รธน. นัดฟังคำวินิจฉัย 2 พ.ร.ก. 22 ก.พ.นี้
'กรณ์-คำนูณ-กิตติรัตน์' เข้าชี้แจง ตอบข้อซักถามศาล รธน. ด้าน รมว.คลัง มั่นใจรัฐบาลปฏิบัติตาม ม.184-รับผิดชอบต่อการบริหารประเทศ ขณะที่อภิสิทธิ์ ระบุ หาก พ.ร.ก. ขัดต่อ รธน. รัฐบาลต้องแสดงมารยาททางการเมือง
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งพิจารณาฟังคำชี้แจ้งจากผู้ร้องและผู้ถูกร้อง กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 กรณีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่
โดยหลังจากที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ได้ระบุให้นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจงในลำดับแรก
รัฐบาลตรา พ.ร.ก. เลี่ยงตรวจสอบโดยรัฐสภา-ลิดรอนสิทธิ อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ
นายกรณ์ ได้ชี้แจ้งถึงกรณีการคัดค้าน พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ว่า ทุกรัฐบาลในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีภาระต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อที่มาชำระดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็ได้มีการจัดสรรงบประมาณ ประจำปี 2555 ที่จะนำมาชะระภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เป็นการยืนยันได้ว่า รัฐบาลไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องหาแหล่งเงินอื่นมารับภาระดอกเบี้ยเงินฟื้นฟูแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่รัฐบาลอธิบายว่ามีความจำเป็นต้องโอนภาระหนี้ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อที่จะลดหนี้สาธารณะลง รัฐบาลจะได้ก็เงินเพื่อเติมเพื่อนำเงินมาแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ไม่ได้เป็นไปตามข้อเท็จจริง เพราะอัตราหนี้สาธารณะของประเทศไทยในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 41% ซึ่งถือว่า อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับกับอีกหลายประเทศในปัจจุบันถือว่าต่ำมาก ทำให้รัฐบาลยังมีส่วนต่างที่สามารถกู้เงินได้อีก 20% ของอัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP เนื่องจากตามข้อกำหนดแล้ว เพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ไม่ เกิน 60% ต่อ GDP
ฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดภาระหนี้สาธารณะ ด้วยการโอนหนี้สาธารณะออกไป เพราะรัฐบาลสามารถกู้ยืมได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ภาระหนี้ต่องบประมาณได้มีการกำหนดไว้ที่ 15% ซึ่งภาระหนี้ต่องบประมาณปี 2555 อยู่ที่ 9.33% เพราะรัฐบาลจึงยังสามารถกู้ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดทางเพดานทางการคลังแต่อย่างใด
นายกรณ์ กล่าวถึงผลกระทบทางลบของ พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจว่า 1.ยังขาดความชัดเจนในส่วนของการบริหารจัดการภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ 2.การโอนอำนาจให้ ธปท.ไปจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งภาระที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็จะส่งกระทบไม่มากก็น้อยต่อผู้ใช้บริการ ทั้งผู้กู้เงินและผู้มีบัญชีเงินฝาก 3.ความไม่ชัดเจนในเรื่องสถานะของสถาบันเงินฝาก และ 4. มีภาพและความเป็นจริงเกี่ยวกับการแทรกแซงการทำงานของ ธปท. อย่างเห็นได้ชัด
“พ.ร.ก.ฉบับนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ และถ้ามีความจำเป็นต้องดำเนินการจริงๆ ยังสามารถออกในรูปพระราชบัญญัติได้ โดยไม่ได้มีผลต่อการบริหารประเทศแต่อย่างใด”
สำหรับ พ.ร.ก.ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน และความพร้อมในการใช้เงิน เพราะฉะนั้น จึงยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องกู้เงิน ทั้งนี้ รัฐบาลควรไปเร่งรัดในการเกิดแผนที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ เพราะหลักฐานความไม่ชัดเจนของแผนฯ การดำเนินงานเพื่อการบริหารจัดการน้ำนั้น ปรากฏผ่านบทสัมภาษณ์ของนักวิชาการที่มีส่วนรวมในการกำหนดแผนของรัฐบาล ฉะนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล จึงอยู่ที่การจัดทำแผน อีกทั้งบางโครงการในแผนระยะยาวต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการบริหารจัดการ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องกู้เงินโดยการออก พ.ร.ก. เพราะสามารถจัดสรรงบประมาณผ่านงบประมาณปกติได้
“รัฐบาลไม่ได้จริงใจต่อการจัดสรรเม็ดเงินเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม เพียงแต่ต้องออก พ.ร.ก.ที่ไม่มีการตรวจสอบ แทนที่จะใช้ที่ช่องทางในระบบงบประมาณ ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะช่วยรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจไว้ได้”นายกรณ์ กล่าวและว่า การที่รัฐบาลตรา พ.ร.ก.เช่นนี้ได้โดยไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน จะส่งผลทางลบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะเป็นการ หลีกเลี่ยงการตรวจสอบโดยรัฐสภา และเป็นการลิดรอนสิทธิ อำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
ตราพระราชบัญญัติ ก็สร้างความเชื่อมั่นได้
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับ พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ว่า ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคสอง เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีเหตุที่ถือได้ว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จนต้องรีบดำเนินการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยไม่ทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน เพราะปัจจุบัน ครม.มีวงเงินงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย ฟื้นฟู พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อยู่แล้ว หรือสามารถดำเนินการไปพรางก่อนได้ ทั้งจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 และเงินนอกรายจ่ายงบประมาณประจำปีจาก พ.ร.ก. 3 ฉบับอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงไม่มีเหตุฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วนในการตรา พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ แต่อย่างใด
“ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีเวลาเพียงพอที่จะเสนอแนวทางในการปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ในรูปแบบการเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.ต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาและให้ความเห็นชอบให้ทันต่อการจัดทำงบประมาณประจำปี 2556 ได้ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในระหว่างสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติของรัฐสภา และ พ.ร.ก.ฉบับนี้ก็มีเพียงแค่ 13 มาตราเท่านั้น ประกอบกับรัฐบาลมีเสียงข้างมาก จึงไม่ได้มีอุปสรรคหรือข้อขัดข้องในการดำเนิน”
ทั้งนี้ นายคำนูณ กล่าวต่อว่า การฟื้นฟูประเทศเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่อย่างก็ตาม ถ้ารัฐบาลเลือกที่จะตรา พ.ร.ก. 3 ฉบับและ พ.ร.บ.โอนหนี้ฯ อีก 1 ฉบับ ก็ยังเชื่อว่า สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศได้ไม่ต่างกัน ทั้งในสายตาของนักลงทุน สถาบันการเงินต่างประเทศ หรือสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของต่างประเทศ
"กิตติรัตน์" ยืนยัน พ.ร.ก.จำเป็น เลี่ยงไม่ได้
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับมอบหมายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชี้แจงว่า รัฐบาลตระหนักดีว่าหน้าที่ของฝ่ายบริหารต้องบริหารบ้านเมืองด้วยความรอบคอบ และการออก พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ ครม.ได้พิจารณาโดยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 เนื่องจากเป็นเรื่องฉุกเฉิน จำเป็นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
“รัฐมีความจำเป็นต้องกู้เงินมาใช้วางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 3.5 ล้านบาท ซึ่งถ้ารวมกับวงเงินการประกันภัยอีก 5 หมื่นล้านบาท การกู้ดังกล่าวทำให้หนี้สาธารณะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 50% จึงจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.ปรับปรุงหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อไม่ให้หนี้สาธารณะขยับเข้าใกล้เพดานมากนัก อีกทั้งการปรับปรุงหนี้กองทุนดังกล่าวจะยังเป็นช่วยให้ดอกเบี้ยจากกองทุนดังกล่าว ไม่เป็นภาระต่อการจัดสรรงบประมาณ ทั้งนี้ ยืนยันว่า การปรับปรุงหนี้กองทุนฟื้นฟูนั้น รัฐบาลไม่ได้ประสงค์จะยัดเยียดให้หน่วยงานใด หรือผู้ใดรับผิดชอบโดยลำพัง เพราะหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ของประเทศ”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายกิตติรัตน์ชี้แจงเป็นที่เรียบร้อย คณะตุลาการได้มีการซักถามนายกิตติรัตน์เพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนในการตรา พ.ร.ก.ปรับปรุงหนี้กองทุนฟื้นฟู และเมื่อหมดข้อซักถาม นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวรายงานการพิจารณาการชี้แจงว่า ศาลได้พิจารณารับฟังคำชี้แจงจากนายกรณ์ นายคำนูญและนายกิตติรัตน์แล้ว มีมติให้รับคำชี้แจงเพิ่มเติมของนายกรณ์ พร้อมเอกสารเพิ่มเติมประกอบไว้ในสำนวน
ส่วนคำขอให้ศาลเรียกพยานบุคคลเพิ่มเติม 3 ราย ได้แก่ นายปราโมทย์ ไม้กลัด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายบรรเจิด สิงคเนติ นั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีไม่ใช่ เป็นเรื่องการไต่สวนพยาน จึงไม่จำเป็นต้องเรียกพยานเพิ่มเติม แต่ให้รับบันทึกถ่อยคำชี้แจงของพยานทั้ง 3 ไว้แทน
เช่นเดียวกันรายนายคำนูญ ศาลได้มีมติให้รับคำชี้แจงเพิ่มเติม พร้อมเอกสารเพิ่มเติมประกอบไว้ในสำนวนแล้ว ส่วนที่ขอให้ศาลเรียกพยานบุคคลเพิ่มเติม 3 ราย ได้แก่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล นายธวัชชัย ยงกิตติคุณนั้น ศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็น แต่ให้รับบันทึกถ่อยคำชี้แจงของพยานทั้ง 3 ไว้
นอกจากนี้ศาลยังได้พิจารณารับคำชี้แจงของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไว้ในสำนวน ทั้งนี้ เมื่อมีการชี้แจงทั้ง 3 ปาก ตอบข้อซักถามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ศาลขอนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 14.00 น.
อย่างไรก็ตามภายหลังการชี้แจง ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายกิตติรัตน์ เกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐบาล หาก พ.ร.ก. ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญว่า จะดำเนินการเพื่อแสดงออกอะไรหรือไม่นั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ขออนุญาตไม่สมมุติ
เมื่อถามอีกว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต้องเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ก็รับผิดชอบด้วยกัน เพราะวันนี้มั่นใจว่ากระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบต่อการบริหารประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่ควรเป็น
ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องการแสดงความรับผิดชอบว่า เป็นมารยาททางการเมือง ถ้าคณะรัฐมนตรีมีมติออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีการแสดงความรับผิดชอบในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อรักษาระบบความรับผิดชอบทางการเมือง
เมื่อถามว่าถ้าไม่มีการแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง จะกระทบต่อบรรทัดฐานทางการเมืองของประเทศไทยบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต่อไปบ้านเราก็เข้าสู่สภาพที่ว่าคณะรัฐมนตรีออกกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำผิดทำใหม่ได้ ยิ่งเป็นการทำให้คณะรัฐมนตรีไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญ อันไหนผ่านไปได้ก็ผ่าน อันถูกจับได้ว่าผิดก็ไม่เป็นไร ก็ทำใหม่