ญาติวีรชนพฤษภาฯ วอนรัฐเร่งเยียวยาจิตใจ-สร้างอนุสรณ์สถาน
คกก.ญาติวีรชนพฤษภาทมิฬ หนุนมาตรฐานเยียวยาเหยื่อชุมนุมการเมือง แนะทบทวนผู้เสียหายก่อนปี 48 ด้วย แจงสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนฯ เสร็จทันงานรำลึก 20 ปี ในแนวคิด ขอโทษ-ให้อภัย-อโหสิ
วันที่ 18 มกราคม นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 ออกแถลงการณ์ต่อกรณีมติการเยียวยาของรัฐบาล ต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มาชุมนุมทางการเมือง นับตั้งแต่ปี 2548-2553 คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 ว่า คณะกรรมการญาติวีรชนฯ รู้สึกพอใจกับข้อเสนอดังกล่าว ที่เป็นการเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายจากความรุนแรงโดยรัฐ จนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่รัฐใช้มาตรการดูแลและควบคุมฝูงชน
“มาตรการการเยียวยาดังกล่าว แม้จะไม่มีรายละเอียดในการปฏิบัติ เนื่องจากยังไมได้คัดกรองตามกระบวนการยุติธรรม ถึงอย่างไร คณะกรรมการญาติฯ ขอให้รัฐบาลพิจารณาถึงเหตุการณ์อื่นๆ ที่เข้าข่ายในลักษณะเดียวกัน หมายรวมถึงเหตุการณ์ก่อนปี 2548 ด้วย ทั้งนี้ไม่อยากให้สังคมและทุกฝ่ายให้ความเมตตากรุณา โดยไม่ตีมูลค่าชีวิตเป็นตัวเงิน”
นายอดุลย์ กล่าวต่อว่า แม้มติ ครม.ในปี 2548 จะเคยออกมาตรการและหลักเกณฑ์การเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ไปแล้ว แต่รัฐบาลในขณะนั้นได้ใช้ พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543 มาใช้กับวีรชน
“คณะกรรมการญาติฯ เห็นว่าเป็นการลบหลู่เกียรติวีรชน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการเยียวยาอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งเรื่องที่เร่งด่วนที่สุด คือ การจัดสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนฯ ให้สิ้นสิ้นทันในวาระ 20 ปีที่จะถึงในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ โดยคณะกรรมการญาติฯ จะเร่งระดมทุนในการก่อสร้างจากทั้งในและต่างประเทศ และขณะนี้ได้เตรียมแบบของอนุสรณ์สถานวีรชนฯ ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีแนวคิด คือ ขอโทษ-ให้อภัย-อโหสิ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการจัดงานรำลึก 20 ปี”
นายอดุลย์ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากชีวิตมนุษย์ไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้ เรื่องการเยียวยาของรัฐบาลที่เป็นตัวเงินจึงเป็นเพียงเรื่องรอง แต่เรื่องหลักที่รัฐบาลยังขาดสำหรับการเยียวยากับทุกเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดมา คือ มาตรการในการเยียวยาทางจิตใจ
“อย่างน้อยๆ ควรมีการขอโทษ ซึ่งทางคณะกรรมการญาติฯ ยังถือว่าโชคดีที่กระทรวงกลาโหม ได้ออกมายอมรับและแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว อยากให้เห็นว่าการเยียวยาทางจิตใจมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบรรดาญาติของวีรชนที่ขณะนี้เหลือแต่คนแก่เฒ่า และล้มหายตายจากไปกว่าครึ่ง”
เอกสารประกอบ : แถลงการณ์คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35