แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
3 ทางแยกแก้รธน. เพื่อไทยเสี่ยง หลุมระเบิดบนทางขรุขระ
ในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปซึ่งจะเริ่มในวันพุธที่ 1 ส.ค.นี้ รวมระยะเวลา 4 เดือนจนถึงเดือน พ.ย. พรรคเพื่อไทยจะกลับมาเปิดเกมรุกใหญ่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอีกรอบหลังจากสะดุดไปจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ถึงแม้จะรอคำวินิจฉัยกลาง แต่แนวทางของพรรคเพื่อไทยก็หนีไม่พ้น 3 ทางที่มีการประเมินก่อนหน้านี้ ทิศทางของพรรคเพื่อไทยวันนี้ยังไม่เป็นเอกภาพ แกนนำระดับขุนพลยังเห็นขัดแย้งกันแตกต่างกันสุดขั้ว
แนวทางที่ 1 เดินหน้าลงมติวาระ 3 ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและทำประชามติหลังได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นทางเดิมที่พรรคเพื่อไทยเดินมา เนื่องจากการกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ของรัฐบาลเพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา โดยรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนาได้ เสนอเข้ารัฐสภา พิจารณาวาระ1 ตั้งแต่เดือน ก.พ. และผ่านการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญและแปรญัตติ แก้ไขเรียงมาตราในที่ประชุมร่วมรัฐสภาวาระสองเรียบร้อย เมื่อจะรอลงมติเห็นชอบทั้งมาตราในขั้นตอนสุดท้าย วาระสามกลับต้องติดขัดเพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยตามที่ผู้ร้องยื่นมา สรุปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงอาจไม่สามารถกระทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการประชามติมา ดังนั้น เมื่อจะยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ควรทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน
ระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 รอการลงมติวาระ 3 จากสมาชิกรัฐสภาอยู่ พรรคเพื่อไทยก็อาจเดินหน้านัดประชุมร่วมรัฐสภาในสมัยประชุมที่จะเริ่มขึ้นนี้ ไม่สนต่อคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยชัดเจน แต่แค่ "ชี้แนะ" เช่นเดียวกับ ที่ระบุว่า ควรทำประชามติถามประชาชนทั้งประเทศก่อน
พรรคเพื่อไทย ได้อธิบายแก้ต่างว่า จะทำประชามติตอนไหนก็เหมือนกัน ดีที่สุดคือ ทำประชามติหลัง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ
อุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงว่า การทำประชามติหลังได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญจะช่วยให้ประชาชนไม่สับสน เพราะมีข้อเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญ 2550 กับร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร. อีกทั้ง ถ้าทำประชามติถึงสองครั้ง คือ ก่อนแก้ และ ร่างแก้จะใช้งบประมาณสูงถึง 5 พันล้านบาท แต่หากทำประชามติครั้งเดียว คือ หลังร่างเสร็จ จะประหยัดได้ถึง 2,500 ล้านบาท
กลุ่มที่ออกมาอธิบายและสนับสนุนแนวทางนี้ คือ พงศ์เทพ เทพกาญจนา ภูมิธรรม เวชยชัย อุดมเดช รัตนเสถียร รวมถึงแกนนำนปช. และ คณะนิติราษฎร์ ที่ให้เดินหน้าชนศาลรัฐธรรมนูญด้วยการลงมติวาระสาม เพราะเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ ดังนั้น ต้องยืนอำนาจของรัฐสภาไว้ และ ผลักศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังกินแดนอำนาจมายังฝ่ายนิติบัญญัติออกไป
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีความเสี่ยงสูงในทางการเมือง เพราะจะถูกพรรคประชาธิปัตย์ สว. และ กลุ่มพันธมิตรฯ ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก และ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และ สว. ก็อาจเข้าข่ายมีความผิด ทั้งยังผลัก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าโซนอันตรายเพราะถ้ารัฐสภาลงมติเห็นชอบวาระ 3 นายกฯจะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าภายใน 20 วันเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
นักวิชาการบางส่วน เช่น ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ถึงกับเตือนว่า อย่าลงมติวาระ 3 เด็ดขาดเพราะจะเป็นการผลักภาระไปให้ในหลวง
นอกจากความเสี่ยงที่จะมีความผิดแล้ว เอาเข้าจริงยังเสี่ยงที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 นี้ จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย เพราะวันนี้ เริ่มมี สว. และ สส.พรรคร่วมรัฐบาล กังวลจะถูกยื่นถอดถอนซ้ำ และแนวทางนี้ ยังสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเผชิญหน้าอย่างแรงเพราะเท่ากับว่า พรรคเพื่อไทยไม่ฟังศาลรัฐธรรมนูญ
แนวทางที่สอง ทำประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้แนะ
เสียงส่วนใหญ่ในพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีท่าทีสนับสนุนเท่าที่ควร ที่หนุนสุดตัวดังเห็นจะเป็น บรรหาร ศิลปอาชา เสนาะ เทียนทอง รวมถึง จาตุรนต์ ฉายแสง เหตุที่พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มไม่เลือกประชามติก่อนแก้เพราะเห็นว่า จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้ากว่าเดิม แถมยังยุ่งยาก ซับซ้อนมากขึ้น โดยมองว่าเป็นแผนของศาลรัฐธรรมนูญที่สร้างหมากหลายชั้นเพื่อให้แก้รัฐธรรมนูญลำบาก
ประการสำคัญ คือ ความไม่ชัดเจนว่าต้องใช้เสียงเห็นชอบ จากผลประชามติเท่าไรกันแน่ถึงจะได้ข้อยุติ แกนนำพรรคเพื่อไทย กลุ่มหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะประชามติ ต้องยึดตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นมาตราเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การทำประชามติ ที่ระบุว่า การประชามติเพื่อหาข้อยุติในเรื่องใด จะต้องใช้เสียง “เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง” ทั้งหมด ในเรื่องนั้นๆ
ฝ่ายพรรคเพื่อไทยกังวลว่า หากยึดตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในปี 2554 ที่มี 46.9 ล้านคน เป็นผู้มีสิทธิออกเสียง ก็จะต้องใช้เสียงมากถึง 23.5 ล้านคน ถึงจะถือว่าได้รับความเห็นชอบจากประชาชนให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ.. ซึ่งเป็นได้ยาก!!
ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ในความเป็นจริงแทบเป็นไปไม่ได้ที่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมจะได้เสียงสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญจากการทำประชามติถึง 23 ล้านเสียง เพราะขนาดสมัยพรรคไทยรักไทยที่ได้ ส.ส. มากถึง 378 คน ยังได้แค่ 19 ล้านเสียง แต่ถ้าใช้แค่เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ อาจเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม สดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้งที่รับผิดชอบด้านการประชามติกลับระบุว่า ไม่ต้องใช้เสียงมากขนาดนั้น หลักเกณฑ์การประชามติไม่ได้ยึดตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องยึดตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2552 มาตรา 9 ที่ให้ใช้ “เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง”
สดศรี อธิบายว่า คะแนนเสียงในการลงประชามตินั้น ขั้นแรก คือ ต้องมีผู้มาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง หมายความว่าถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 46 ล้านคน ต้องมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่า 23 ล้านคน จากนั้นจึงต้องมาดูคะแนนของผู้ที่มาออกเสียงประชามติ ซึ่งจะต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาลงคะแนน
ในกรณีนี้ หมายความว่า ต้องมีผู้เห็นชอบให้แก้รัฐธรรมนูญอย่างต่ำ 11.7 ล้านคน คือ เกินกึ่งหนึ่ง ถึงจะช่วยให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้ายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากเนื่องจากคะแนนเสียงแบบปาร์ตี้ลิสต์ที่เลือกพรรคเพื่อไทยมี 15.7 ล้านคน เรียกว่า เหลือเฟือ
แต่ถึงแม้ กกต.จะออกมายืนยันว่า ต้องใช้หลักเกณฑ์ประชามติตามพรบ.ประชามติ ไม่ใช่ รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เข้าทางเพื่อไทย เพราะคาดว่าจะมีเสียงสนับสนุนเกิน แต่ฝ่ายคัดค้านอาจใช้ประเด็นนี้มายื่นตีความโดยอ้างว่า กฎหมายลูก คือ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ขัดกับกฎหมายแม่คือ รัฐธรรมนูญ แต่ทั้งหลายทั้งปวง เหตุสำคัญที่พรรคเพื่อไทยจะไม่เลือกวิธี นี้นอกจากสิ้นเปลืองงบประมาณในการทำประชามติแล้วยังไม่มั่นใจว่า 15.7 ล้านเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทย ที่สุดจะเหลือกี่เสียง เพราะวันนี้กระแสสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเริ่มพลิกผัน จากเดิมที่เห็นด้วย เป็น คัดค้านตามที่โพลหลายสำนักสรุปตรงกันว่า ประชาชนเริ่มไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับของรัฐบาล เพราะเกรงจะสร้างความวุ่นวายและความรุนแรงทางการเมืองตามมา
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ระบุว่า 63.5% ไม่สนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีเพียง19.5% ที่สนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขณะที่ 17% ไม่แสดงความเห็น แต่หากจะแก้ก็ให้เป็นรายมาตราไป
เช่นกันกับ เอแบคโพล สรุปว่า 62.9% เห็นว่า การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดความวุ่นวาย ความขัดแย้ง และความแตกแยกของคนในชาติ และเห็นว่า 52.7% เชื่อว่า ศาล จะช่วยลดความขัดแย้งลงได้ ที่น่าสนใจ 61.4 % ไม่เชื่อว่า รัฐสภา จะช่วยลดความขัดแย้งลงได้
กระแสวันนี้จึงพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกำลัง สร้างความวุ่นวาย ทำให้ประเทศไม่สงบ!!!
แนวทางที่สาม แก้รายมาตราโดยวิธีการปกติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเป็นแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ช่องไว้
รูปแบบนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นพดล ปัทมะ ออกมาสนับสนุนสุดตัว เพราะเป็นแนวทางที่ชอบธรรมที่สุด และรองรับอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 291 อยู่แล้ว โดยผู้ที่เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ 3 ช่องทาง คือ ครม. สส.- สว. หรือ ภาคประชาชน ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นชื่อ หลักการพิจารณามีสามวาระไม่ต่างจากการพิจารณาร่างกฎหมายทั่วไป เมื่อเสนอเข้ารัฐสภาเพื่อรับหลักการ ก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาในประเด็นหรือมาตราที่เสนอแก้ ก่อนจะนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้งในวาระ 2 และพิจารณาลงมติเห็นชอบในวาระ 3 โดยไม่ต้องมีการทำประชามติ
ประเด็นหลัก ๆ ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอแก้ล้วนเป็นเรื่องร้อน ๆ หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของพรรคและส่วนตัว บางเรื่องเป็นข้อสรุปที่ตกผลึกมาหลายคณะกรรมการที่ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 190 เพื่อให้การลงนามสัญญาระหว่างประเทศง่ายและสะดวกขึ้น ไม่ต้องมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีก มาตรา 237 แก้ให้การยุบพรรคการเมืองยากขึ้น หากกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้งก็ไม่ต้องลงโทษถึงขั้นยุบพรรค หรือ ตัดสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี
มาตรา 68 ตีกรอบศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้ผู้ยื่นคำร้องที่ต้องการใช้สิทธิ์และเสรีภาพ ตรวจสอบการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องผ่านอัยการสูงสุดช่องทางเดียว ไม่ต้องยื่นผ่านศาลรัฐธรรมนูญอีกแล้ว
มาตรา 309 หัวใจสำคัญ บทบัญญัติมาตรานี้ระบุว่า “บรรดาการใดๆ ที่ได้รองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง กับกรณีดังกล่าวไม่ว่า ก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้ถือว่าการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”
เป้าหมายของการยกเลิกมาตรานี้ก็เพื่อให้คดีต่าง ๆ ที่ คตส. ตรวจสอบการทุจริต รัฐบาลไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอันโมฆะทั้งหมด เปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กลับไทยโดยไม่ต้องมีความผิด
ยังรวมถึง การแก้ไขโครงสร้างองค์กรตรวจสอบอิสระในรัฐธรรมนูญใหม่หมด เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงที่มาของสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งหมด
การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานี้ ฝ่ายสนับสนุนในพรรคเพื่อไทยเห็นว่า มีความชอบธรรม และไม่ต้องเปิดศึกกับศาลรัฐธรรมนูญ หรือกลุ่มมวลชนนอกสภา ช่วยลดความขัดแย้งลง และช่วยประคับประคองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ต้องมาพะวงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากใช้การทำประชามติก่อน หรือ เดินหน้าชน ลงมติวาระสาม ก็จะเกิดกระแสคัดค้านรุนแรงลุกลามมายังรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ฝ่ายเพื่อไทยอีกกลุ่มไม่เห็นด้วยเพราะเชื่อว่า จะไม่ทันเกมในสภาของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะคัดค้าน หนักหน่วง และจะถูกตรวจสอบยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความและถอดถอนอีกว่ามีส่วนได้เสียกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวข้องกับประโยชน์ตัวเอง ที่สำคัญ ไม่ว่าจะแก้ไขในมาตราใดก็ย่อมส่งผลกระทบไปถึงมาตราอื่น ๆ ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรามีความโยงใยถึงกันหมด เช่น ถ้าลดหรือเพิ่มอำนาจของ ส.ว. ก็จะส่งผลกระทบไปถึงมาตราที่เกี่ยวข้องกับที่มาของ ส.ว. ถึงกับประเมินว่า ถ้าแก้รายมาตราหลายประเด็นอาจใช้เวลา 4 ปี ฝ่ายเพื่อไทยบางคนประชดด้วยว่า ชั่วลูกชั่วหลานก็ยังแก้ไม่เสร็จ
3 แนวทางเหล่านี้ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะเลือกแบบไหน ก็ล้วนถูกคัดค้านต่อเนื่อง การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดแล้ว