แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
"ซ่อมหรือสร้าง" รัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่ให้ผิดมนุษย์มนา ?
อุณหภูมิความร้อนแรงทางการเมืองลดวูบชั่วขณะ หลังองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68
เราเห็นกลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายต่างๆ เลือกเดินกลับฐานที่มั่น แต่ท่าทีหลังจากตั้งหลักได้ ดูเหมือนว่า จะเร่งเร้าให้เข้าสู่วังวนความขัดแย้งเดิมๆ ในเร็ววัน
โดยเฉพาะแรงกระเพื่อมตามมา ยังคงสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติ แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อน หรือรัฐสภาจะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ก็สอดคล้องตามเจตนารมณ์มาตรา 291 ซึ่งการเดินหน้าต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับการตีความ โดยเฉพาะของฝ่ายที่กุมอำนาจ
ล่าสุด สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับองค์กรภาคี จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น “รูปแบบและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม” ภายใต้โครงการศึกษารัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยขึ้น ณ สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการฯ งานนี้มีนักวิชาการ นักการเมืองรุ่นใหญ่ รวมถกแถลงถึงรูปแบบรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม ที่ขณะนี้ยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย
แย่งชิงกำหนดกติกาบริหารประเทศ
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เริ่มต้นเปิดประเด็นอธิบายปัญหาภาพรวมของรัฐธรรมนูญไทย โดยมองว่า การที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับเหลือเกิน และทำรัฐธรรมนูญกันบ่อยมากนั้น แสดงให้เห็นถึงการไม่มีพัฒนาทางการเมือง รวมถึงปัญหาที่จะมีต่อไปในอนาคต เมื่อบ้านเมืองยังหาความมั่นคงเกี่ยวกับกติกาในการบริหารประเทศไม่ได้ ตัวประเทศเองก็ยากที่จะมีเสถียรภาพ
ตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาแล้ว มักมีกติกาในการบริหารประเทศที่มั่นคงถาวร เช่น สหรัฐอเมริกา มีรัฐธรรมนูญฉบับเดียวใช้มากว่า 200 ปี ถึงแม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมไปตามยุคสมัย แต่ก็ไม่เคยยกเลิกเลย ต่างจากประเทศไทยในวันที่มีประชาธิปไตยครบ 80 ปี เรากำลังจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 กันอยู่
...ตรงนี้แสดงว่าบ้านเรายังมีการต่อสู้แย่งชิง ที่สำคัญไม่ใช่การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองธรรมดา แต่เป็นการแย่งชิงกำหนดกติกาในการบริหาร ศ.ดร.บวรศักดิ์ ระบุ
ทั้งนี้ สำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญหนนี้ เขาเห็นว่า จำเป็นต้องมีหลักการสำคัญกำกับอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ
1.ต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมการเมืองของไทย ที่มีรูปแบบหลากหลายและบางรูปแบบอาจขัดต่อหลักประชาธิปไตย ซึ่งต้องมีการสังเคราะห์ เลือก-รับ
2.ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญไทยกับต่างประเทศ เพื่อเหลียวดูว่าทั่วโลกปฏิบัติกันอย่างไร จะได้ไม่ผิดมนุษย์มนา
และ 3.ต้องมีหลักนิติศาสตร์กำกับ เพราะหลักการนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ไม่ใช่จะพูด คิด เขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้
"เมื่อยังมีผู้มองว่า ไทยไม่สามารถนำลักษณะรัฐธรรมนูญของต่างประเทศมาใช้ได้ทันที ต้องมีการปรับ และการเขียนรัฐธรรมนูญไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามอำเภอใจของผู้เขียน" การจัดทำรัฐธรรมนูญจึงต้องมีหลักการกำกับ" เลขาสถาบันพระปกเกล้า ย้ำเตือน
รธน.รกรุงรัง กลายเป็น กม. อาญาทางการเมือง
ขณะที่มุมมองต่อปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยต้องแก้รัฐธรรมนูญบ่อยครั้งนั้น นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา มองไปที่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย ทำให้มีรัฐธรรมนูญไว้เพื่อกำหนดการเข้าสู่อำนาจของผู้ใช้อำนาจ กำหนดอำนาจของประชาชนว่าควรจะมีมากน้อย ศักดิ์สิทธิ์เพียงใด แต่พอได้คนใช้อำนาจเข้ามาแล้วพบว่า มีการใช้อำนาจเกิดขอบเขต ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ จากนั้นจึงมีการปฏิวัติ อ้างเหตุผลความไม่สงบ แตกความสามัคคี โกงกิน
"และด้วยเหตุผลดังกล่าว การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมุ่งไปที่คนใช้อำนาจ ต้องอยู่ในขอบเขตอะไรบ้าง รัฐธรรมนูญเลยกลายเป็นกฎหมายกำหนด ลงโทษนักการเมือง พรรคการเมือง กลายเป็นเหมือนกฎหมายอาญาทางการเมืองของนักการเมือง ล้อมคอก วนอยู่แต่กับเรื่องนักการเมือง อำนาจแค่ไหน ควรตรวจสอบอย่างไร และที่สำคัญกลายเป็นเรื่องรกรุงรัง"
ที่จริงรัฐธรรมนูญ ควรเขียนให้สั้นๆ อดีตประธานรัฐสภา กล่าวย้ำ และว่า ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีสารพัดกฎหมาย คลุมกระทั่ง ‘หัวแม่เท้า’ ยัน ‘เส้นผม’
“ขายของแพง หาประโยชน์ก็ไปคุ้มครองผู้บริโภค ฟังวิทยุไม่ได้ก็ไปคุ้มครองเรื่องสื่อสาร แม้แต่ตายก็มีกฎหมายสัปเหร่อ บ้านเรามีกฎหมายหมดทุกอนุที่จะดูแลปกป้องสิทธิของประชาชน กฎหมายที่ใช้ปกติครอบคลุมทั่วหน้า...พูดไปเรียกได้ว่า แทบจะไม่ได้ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญเลย ส่วนที่จะมาใช้รัฐธรรมนูญบ้างก็ตอนเลือกตั้ง เรื่องของสภาฯ นักการการเมือง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของนักการเมืองทั้งนั้น"
รธน.ไม่ต้องเขียนมาก 3-4 มาตราพอ
และถ้ามองกันจริงๆ เขาเห็นว่า สิ่งที่นักประชาธิปไตย หรือคนที่สนใจการเมืองเป็นห่วงในการเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ชัดๆ มีอยู่ 2 เรื่องคือ
1.ห่วงเรื่องความไม่ชอบมาพากล การใช้อำนาจของนักการเมือง กลัวจะไปทำปู้ยี้ปู้ย้ำอะไรต่างๆ นานา จึงนำเรื่องนี้มาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ จนทำให้รัฐธรรมกลายเป็นกฎหมายอาญาทางการเมืองของนักการเมือง
และ 2.กลัวการปฏิวัติ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เขียนไว้ในเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อต่อสู้กับการปฏิวัติ และในเรื่องนี้ก็ถูกคัดลอกต่อมาในรัฐธรรมนูญปี 2550
"ผมมีความคิดว่า ถ้าเราห่วงแค่ 2 เรื่องนี้ รัฐธรรมนูญ ไม่ต้องเขียนมาก 3-4 มาตราก็พอ เขียนเลย...มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันผู้ใดจะแบ่งแยกมิได้ มาตรา 2 ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ประมุข การสืบราชสันตติวงศ์ให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา 3 ประเทศไทยปกครอง โดยประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากมีกรณีเป็นที่สงสัยให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัย"
ส่วนเรื่องสภาผู้แทนฯ คณะรัฐมนตรี การเลือกตั้ง องค์กรอิสระ รวมถึงของดีๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ที่เป็นของสำคัญ ของสูง นายอุทัย เปิดตำราสอนเป็นฉากๆ ว่า ก็เอาไปใส่ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พร้อมยกตัวอย่างสภาผู้แทนฯ ก็เอาไปเขียนใน พ.ร.บ.รัฐสภา แล้วก็ลอกเรื่องของสภาใน รธน.เอามาใส่ไว้ทั้งหมด รวมทั้งระบุไปว่ารัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทน วุฒิสภา แล้วมาขึ้นหมวด 1 ว่าด้วยสภาผู้แทน หมวด 2 วุฒิสภา ก็ว่าไป
"ต่อไปถ้ามีนักการเมืองสัปดน โกง ก็ไปใน พ.ร.บ.รัฐสภา"
สำหรับองค์กรอิสระ เขาบอกว่า ก็คงไว้ พ.ร.บ.ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอยู่แล้ว ถ้าอยากรักษาไว้ก็เขียนในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ให้กฎหมายเหล่านี้อยู่ต่อไป ถ้ากลัวว่าใครมีอำนาจ จะมาแก้เละตุ้มเป๊ะ ก็ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญให้ พ.ร.บ.มีศักดิ์เท่า รธน. หมายความว่า การเสนอขอแก้เปลี่ยนแปลง ต้องเสนอเช่นเดียวกับการขอแก้รัฐธรรมนูญ
ธงต้องชัด สร้างหรือซ่อม !
ส่วน ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ (มธ.) และอดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวยอมรับว่า แม้จะมีประสบการณ์ในการเรียนการสอนวิชารัฐธรรมนูญ รวมทั้งความจำทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่า บ้านเมืองเราทุกวันนี้ต้องการอะไร
สิ่งที่จะทำคือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแน่ !!
พร้อมแสดงความเห็นส่วนตัวว่า “สร้างบ้าน กับซ่อมบ้าน” ทั้งสองเรื่องมีวิธีคิดที่ต่างกัน เราต้องพูดให้ชัด เพราะนอกจากมีวิธีคิดต่างกันแล้ว ก็มีโจทย์ที่ต้องตอบต่างด้วย...
อีกทั้งเมื่อที่มาของรัฐธรรมนูญหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของไทย มีความซับซ้อนกว่าแต่ก่อน และพัฒนาไปไกลจนมีการลงประชามิติ ซึ่งไม่ว่าจะลงประชามติโดย "เทพ มาร ผี หรือคน"
และไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่นั่นเป็นความก้าวหน้าเป็นการใช้อำนาจทางตรงของประชาชน
" ผมคิดว่าก่อนที่มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการอภิปรายเกิดขึ้นก่อน เพราะรัฐธรรมนูญเหมือนกับ ภูเขาน้ำแข็ง จะตั้งมั่นอยู่ได้ต้องอาศัยองค์ประกอบแวดล้อม ความเข้าใจ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญใดๆ ในโลกนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ เราไม่สามารถถอยทุกอย่างไปสู่จุดศูนย์ แต่ต้องเริ่มจากสภาพที่มีอยู่"
โดยควรมีการอภิปรายถึงแนวคิดทางการเมืองและพัฒนาการทางการเมืองให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวาง
ควรมีการอภิปราย สรุปถึงข้อดี ข้อเสียของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งประเทศไทยร่ำรวยประสบการณ์เรื่องนี้มาก แต่ปัญหาคือไม่การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของเราเองเลย ทั้งนี้ ถ้าเราสามารถสรุปบทเรียนได้จะได้มองเห็นว่าจะแก้ไข หรือร่างใหม่อย่างไร
นอกจากนี้ควรมีการอภิปรายถึงสิ่งที่รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีการบัญญัติไว้ด้วย เนื่องจากกฎกติกาสูงสุดของประเทศบางเรื่องต้องตีความ เป็นเรื่องของประเพณีการปกครอง ขนบธรรมเนียม การปฏิบัติ ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเดียว ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม และฉบับสังคม เศรษฐกิจ ที่มีผลสำคัญต่อชีวิตของรัฐธรรมนูญด้วยว่า จะมีอายุสั้นหรือยาว มีการบิดเบี้ยว หรือผันแปรไปจากความตั้งใจเดิม
ส.ส.ร.ยุคนี้ต้องสง่างาม ไม่ใช่เสือมือเปล่า
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น อาจารย์นครินทร์ เห็นว่ามี 3 รูปแบบที่จะทำได้คือ
1.จัดทำโดยคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ซึ่งจะเป็นกรรมาธิการของรัฐสภาฝ่ายเดียว หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกก็ได้
2.จัดทำโดย ส.ส.ร. ซึ่งประสบการณ์ตรงของอาจารย์นครินทร์ ในฐานะ ส.ส.ร.50 เห็นว่า ส.ส.ร.จะต้องมีความสง่างาม ขอสมัครเป็น ส.ส.ร.ควรที่จะเขียนหนังสือ เอกสาร ซึ่งเป็นความคิดของตนเองในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เผยแพร่ให้รู้เสียก่อนว่า จะเป็นคนที่มีเกียรติ มีศักด์ศรีและปัญญาความรู้ที่จะช่วยเรา...ไม่ใช่ ส.ส.ร.เสือมือเป่ลา หรือไม่มีอะไรในตัว !!
"จะ “สร้างบ้าน” ต้องเลือกผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์จริงไหม" .
ส่วนแนวทางที่ 3 คือ จัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรา
สุดท้ายในฐานะมือร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เขามองจากประสบการณ์ว่า กระบวนการที่เหมาะสมในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ควรมีการเตรียมการเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ ปรับทัศนคติของประชาชนเสียก่อน
“ครั้งที่เคยเป็น ส.ส.ร.ปี 2550 ผมพบว่า ข้อเรียกร้องประชาชนหลั่งไหล พอกพูนขึ้นจนรัฐธรรมนูญยืดยาวไปตามลำดับ คนไทยต้องการให้รัฐมีอำนาจมากๆ ไม่เคยทำอะไรก็ต้องการให้รัฐทำ ทั้งเรื่องเกษตร ชลประทาน ซึ่งต้องทำความเข้าใจตรงจุดนี้”
สุดท้าย ศ.ดร.นครินทร์ เห็นว่า กระบวนการร่าง ไม่ควรรวบรัดมากนัก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทำด้วยความฉุกละหุก หลายเรื่องไม่มีการตกผลึกจริงๆ ถูกบีบคั้นด้วยเวลา และข้อจำกัดบางเรื่อง จนไม่มีเวลาร่างสบายๆ ไม่มีเวลาให้โต้เถียง...ทุกอย่างต้องจบ ฉะนั้นจึงเห็นว่า ถ้าจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่หนนี้ ต้องมีเวลาลงประชามติ ให้ความรู้ ด้านบวกลบแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้อำนาจของตนเอง ลงมติเห็นชอบ ไม่เห็นชอบด้วย
ชูโจทย์ รธน. ให้ถูกทาง
สำหรับ รศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงรูปแบบของรัฐธรรมนูญไทยนั้นมีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจริงๆ แล้วรูปแบบไม่ควรจะยาวมากนัก องค์กรตามรัฐธรรมนูญบางอย่าง ไม่ควรนำไปกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่องค์กรรัฐธรรมนูญโดยสภาพ เช่น อัยการ เพราะถึงจะมีการฉีก รัฐธรรมนูญทิ้ง อัยการก็ต้องอยู่คู่กับกระบวนการยุติธรรมไทย หลายเรื่องจึงควรตัดออกไป เพื่อย่นย่อ
โดยรูปการณ์ของประเทศไทย นักวิชาการท่านนี้ เห็นว่า เรามีปัญหาเรื่องการใช้การตีความอย่างมาก แม้ว่าจะเขียนยาว ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่พยายามเอาหลักการที่เป็นรากฐานมาช่วยในการตีความ จะให้ไปทางไหนต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไกด์ไว้อย่างเดียว
"สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ ผู้ใช้ผู้ตีความกฎหมาย"
ส่วนรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น อาจารย์นิติศาสตร์ผู้นี้มองว่า ควรกำหนดรูปแบบให้การแก้ไขสามารถทำได้โดยยาก ซึ่งโดยหลักแล้ว รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุด หลายประเทศถึงขนาดระบุให้มีการลงประชามติในกระบวนการแก้รัฐธรรมใช้มติ 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 เพื่อให้ฝ่ายต่างสมานฉันท์ เห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นต้องแก้ ไม่ใช่อาศัยเพียงเสียงข้างมากธรรมดา
ที่สำคัญเมื่อรูปแบบประชาธิปไตย ที่มีอยู่ 3-4 โมเดลในวันนี้ เขายังเห็นว่า ไม่ใช่สูตรสำเร็จ หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฉีกซองต้มกินได้ทันที แต่จะต้องนำปรับให้สอดคล้องสภาพสังคมวิทยาของประเทศนั้น ๆ เช่นเดียวกับกระบวนการจัดรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ตาม "ปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ทำใหม่ หรือแก้ไข" สิ่งสำคัญคือโจทย์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ
ซึ่ง "โจทย์" ของประเทศไทย 80 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ อำนาจการเมืองถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ ความเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองของไทยหลังปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งของกลุ่มชนชั้นนำในแต่ละช่วง เช่น ความขัดแย้งชนชั้นนำในคณะราษฎร ความขัดแย้งชนชั้นนำในฝ่ายทหาร ฝ่ายทหารกับฝ่ายการเมือง ขณะที่ประชาชนขาดพื้นที่กำหนดความเป็นความตายของบ้านเมือง
ดังนั้น การที่เขียนรัฐธรรมนูญ ในมุมมอง อาจารย์บรรเจิด จึงเห็นว่า ต้องสร้างให้ตัวแทนผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมเข้ามามีบทบาททางการเมือง มีโอกาสกำหนดทิศทางบ้านเมือง ใช้ยาเฉพาะนำไปสู่การแก้โจทย์นั้น ทำลายการผูกขาดของพรรคการเมืองอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำ หรือระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง โดยกระจายอำนาจให้กับองค์กรทางพื้นที่ในระดับต่างๆ และใช้ระบบงบประมาณเป็นเครื่องมือ...
.................................................................
คำต่อคำ:มุมมองต่อคำวินิจฉัย ศาลรธน.
คำถามต่อบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ มุมมองต่อคำวินิจฉัย รวมทั้งทางออกของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ควรจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หรือแก้ไขรายมาตราหรือไม่ อย่างไร
นายอุทัย: เมื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว มีความคิดเหมือนกับคำที่คนโบราณใช้ตำหนิคนบ้างคนว่า ทำผิดแล้วเลยไปกันใหญ่ หมายความว่า บ้างอย่างผิดแล้วจบลงที่ผิด แต่บางอย่างผิดแล้วผิดต่อเนื่องไปอีก เรียกว่า ผิดแล้วไปกันใหญ่
"ส่วนจะแก้อะไรอย่างไรนั้น ก็ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญชักจะรู้มากกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีความเห็นว่า ประเทศไทยมีสภาผู้แทนฯ ซึ่งมาจากกการเลือกตั้ง อะไรที่จบในสภาฯ มันจบ เพราะถ้าแพ้คือผู้แทนฯ แพ้ ทำให้มีความพยายามที่จะนำความขัดแย้งทั้งหลายเข้าสู่สภา"
“ผมไม่เห็นมีอะไรที่ไม่จบในสภา ไม่เช่นนั้นเราจะมีสภาเกิดขึ้นทั่วโลกทำไม ส่วนหลายเรื่องที่ไม่จบเพราะมีการลากออกมา ทั้งนี้ สภาจะชั่วจะเลว ผู้แทนก็คือเงาสะท้อนของประชาชน”
รศ.ดร.บรรเจิด:การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือบางมาตราไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เท่ากับการตั้งโจทย์ที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง สอดคล้อง
ศ.ดร.นครินทร์: เรื่องนี้คงต้องมีการวิเคราะห์ พูดคุยกันเสียก่อน ถ้ามีความจำเป็นมาก แก้ไขทั้งฉบับก็สามารถทำได้ ส่วนการแก้ไขรายมาตราสามารถทำได้อยู่แล้ว ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ได้ขัดข้องในประเด็นนี้