แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ระเบิดเวลาตั้ง“ศูนย์ HADR” “รัฐบาล” ต้องยอมถอยอีกก้าว
แม้เบื้องต้น ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเปิดไฟเขียวให้ “องค์การนาซ่า” ใช้พื้นที่อู่ตะเภาเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ แต่ต้องมาสะดุดหยุดลงเพราะข้อมูลจากฝ่ายค้าน และ ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เชื่อมโยงรัฐบาลเข้ากับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งกรณี ขอสหรัฐฯ ออกวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน พร้อมกับข้อมูลที่บอกว่า มีเจ้าหน้าที่ของ บริษัท เชฟรอน เข้าร่วมทีมนาซ่า ที่จะเดินทางเข้ามาด้วยกระแสเรื่อง “นาซ่า” จึงเริ่มเบาลงเมื่อรัฐบาลยอมให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือต่อสภาฯ ตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญ และ โอกาสที่โครงการนี้จะเกิดขึ้นในปีนี้ ถึงกลางปีหน้าคงเป็นไปได้ยาก เพราะเงื่อนไขเวลาที่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายอ้างมัดเป็นเงื่อนไขไว้ จะเหลือก็เรื่องภารกิจ HADR ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการบรรเทาสาธารณภัย ที่สหรัฐฯ ได้ขอเข้ามาตั้งศูนย์ ฯ HADR center ที่สนามบินอู่ตะเภา หลังจากที่หลายปีก่อนมีการริเริ่มแนวคิดจาก นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน จากเหตุการณ์ “พายุนากีซ” ในประเทศพม่า
ทว่าในการประชุม The Shangri-La Dialogue 2012 ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการหารือด้านความมั่นคง ระหว่างกระทรวงกลาโหมของประเทศในเอเชียแปซิฟิกทั้ง 28 ประเทศ ซึ่งแต่ละปีมีรัฐมนตรีกลาโหมของแต่ละประเทศเดินทางเข้าประชุมอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งตัวแทนจากอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียและสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งในปี 2012 มีการเตรียมวาระจาก นาย ลีออน เพนเนตต้า รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ที่จะนำเรื่องนี้มาหารือทวิภาคี กับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม แต่ก็เป็นการหารือเพียงสั้น ๆ
และในการพบกันระหว่างพล.อ.มาร์ติน อี เดมพ์ซี่ ประธานคณะเสนาธิการร่วม ของกองทัพสหรัฐฯ กับ นายกรัฐมนตรี และ ผู้นำทางทหารของไทย มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือเช่นกัน มีข้อมูลบางประการของสำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม ที่ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการทหารสภาผู้แทนราษฎรฯ ว่า มีการดำเนินการโดยลำดับในส่วนของกองทัพ และนำเรื่องดังกล่าวเข้ามาอยู่ในการฝึกร่วมผสม คอบร้าโกลด์ หลายครั้ง และ ในปี 2013 ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนการฝึก โดยกรมยุทธการทหารกองบัญชากองทัพไทย ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปร่วมวางแผนการฝึกที่เกาะฮาวาย โดยจะมีการจัดเรื่องดังกล่าวอยู่ในโปรแกรมการฝึกด้วย
นอกจากนั้น สหรัฐฯ ได้แจ้งมาที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยว่ามีแผนจะนำบุคลากรเข้ามาและ มาตั้งศูนย์ HADR อยู่ในไทย 5 ปี เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีการดำเนินการ ทั้งนี้แผนของสหรัฐฯ ที่เสนอมาเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2555 มีรายละเอียดครบถ้วนทั้งด้านอุปกรณ์ และเครื่องมือในการตั้งศูนย์ HADR มีทั้งการขอพื้นที่ในการจอดอากาศยาน การขอใช้ท่าเรือน้ำลึก อุปกรณ์ในการค้นหาและช่วยชีวิตผู้ประสบภัย และ กำลังพลซึ่งเป็นทหาร โดยหลักการที่เสนอมา คือการจัดศูนย์ในลักษณะของทวิภาคี 2 ชาติ คือไทย –สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย และ อาจจะมีกระแสต้านจากฝ่ายที่มองว่าสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซง และ ใช้ไทยเพื่อฐานต่อสู่กับจีน
อย่างไรก็ตาม การตั้งศูนย์ดังกล่าว เป็นคนละส่วนของการฝึก HADR ที่ทำในรูปแบบการฝึกร่วมผสมภายใต้รหัส “คอบร้าโกลด์” ที่มีหลายประเทศเข้าร่วมด้วย
จากเว็บไซต์ของกองบัญชาการกองทัพไทย ระบุว่า ในการฝึกร่วมผสมคอบร้าโกลด์ 2012 มีลักษณะของพหุภาคี มีประเทศเข้าร่วมฝึกภาคสนามนอกจากไทย และ สหรัฐฯ ยังประกอบด้วย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ในส่วนของประเทศในกลุ่ม MPAC ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ บังคลาเทศ ในขณะที่ประเทศผู้สังเกตุการณ์ ประกอบด้วย อินเดีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม ศรีลังกา มองโกลเลีย แอฟริกาใต้ มองโกลเลีย นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ติมอร์ตะวันออก สหรัฐฯ อาหรับเอมิเรตส์
โดยการฝึกปี 2012 และการฝึกปีก่อนหน้านั้น ก็มีการสอดแทรกโปรแกรมในเรื่องการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยไว้ด้วย โดยในส่วนของอาเซียน มีการจัดทำในส่วนที่เรียกว่า SOP : STANDARD OPERATING PROCEDURE ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติร่วมกันของประเทศที่เข้าร่วมการฝึกว่า ในช่วงที่จะเข้าไปในประเทศใดนั้น ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ตั้งแต่การขออนุญาตเข้าสถานที่ต่างๆ ข้อห้ามในการปฏิบัติของแต่ละประเทศ เปรียบเสมือนคู่มือ ให้กับเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำงานได้อย่างถูกต้อง ไม่เกิดปัญหากับเจ้าของพื้นที่ หรือประเทศที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจร่วมกัน เหมือนเช่นที่ผ่านมา
การฝึก และ การทำ SOP ดังกล่าว ก็เหมือนเป็นการซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อมีภัยพิบัติขนาดใหญ่เกิดขึ้นจริง โดยมีการจัดทำเป็นคู่มือที่เจ้าหน้าที่ทุกชาติติดตัวนำไปใช้ ซึ่งฝ่ายทหารไทยมองว่าไม่จำเป็นเร่งด่วนถึงขนาดต้องมีการจัดตั้งศูนย์ฯ HADR ในสถานการณ์ขณะนี้ ที่ความสัมพันธ์ระหว่าง จีน กับ สหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในภาวะที่เป็นปกติ เนื่องจากวิกฤตการณ์ในทะเลจีนใต้ที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะจีนย้ำท่าทีหลายครั้งคัดค้านการตั้งศูนย์ดังกล่าว หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศนโยบายเพิ่มกำลังทหารในภูมิภาคนี้ และ การกลับมาใช้ฐานทัพเก่าสมัยสงครามเย็น
“การตั้ง HADR center มีความอ่อนไหวในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เมื่อช่วงก่อนหน้านี้ การเสนอให้เข้ามาตั้งในประเทศไทยช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์เพราะมองว่า อู่ตะเภาเป็นจุดศูนย์กลางมีความพร้อมที่จะทำภารกิจนี้ ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ โดยอาจจะมีสมาชิก 10 ชาติเข้าร่วมด้วย แต่การที่สหรัฐฯ รุกหนักมากขึ้น เสนอทั้งเรื่องที่องค์การนาซ่าขอใช้สนามบินอู่ตะเภาสำรวจชั้นบรรยากาศ และ ตั้งศูนย์ เอชเอดีอาร์ ในไทยในช่วงนี้ ทำให้ไทยต้องเลือก และอยู่ในภาวะที่ลำบากใจ” แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าว ยังบอกว่า รายละเอียดที่สหรัฐฯ ได้แจ้งมา มีทั้งการจัดตั้งเป็นอาคารสำนักงาน คลังอุปกรณ์ ที่ประกอบด้วย รถยนต์ อุปกรณ์ช่วยชีวิต เรือยาง เหล็กตัดถ่าง ชุดป้องกันไฟ ชุดป้องกันสารพิษ รวมไปถึงซอฟแวร์ ต่างๆ ในการบริหารจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหา ที่สหรัฐฯ จะนำอุปกรณ์ที่ทันสมัยเหล่านี้มาไว้ที่ศูนย์ฯ ตามที่ได้มีการฝึกปฏิบัติของ Crisis manage centre และ ศูนย์ดังกล่าวไม่ได้ตั้งในสนามบินอู่ตะเภา แต่เป็นการจัดที่ในหน่วยของกองทัพเรือ ที่อ.สัตหีบ จ.ระยอง
“เป็นเรื่องใหญ่ของรัฐบาลและกองทัพเลยทีเดียว ในส่วนของทหารเรามองว่า อุปกรณ์ และเครื่องมือ การบริหารจัดการ เพื่อรับมือกับปัญหาภัยพิบัติในขณะนี้ ไม่มีใครทันสมัยเท่าสหรัฐฯ อยู่แล้ว แต่การตั้งศูนย์ฯ อาจมีผลกระทบต่อความไว้วางใจของจีนอย่างแน่นอน คุณเชื่อไหมว่าทูตจีนถามเรื่องพวกนี้เรามาหลายครั้ง ถามว่ายูจะให้เข้ามาหรือ จะให้ตั้งในไทยจริงเหรอ นี่คือท่าทีที่เราต้องฟัง คราวนี้เมื่อเรามาดูว่าเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นในภูมิภาค แล้วเราไม่มีศูนย์ฯ จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงหรือไม่ คำตอบคือ มี แต่อาจจะไม่ถึงกับมาก เมื่อเรามีการ SOP มีความร่วมมือในการฝึก การช่วยเหลือในลำดับต้น เพื่อรอการช่วยเหลือจากมิตรประเทศ น่าจะดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน แม้จะไม่ดีเท่ากับการตั้งศูนย์ฯ" แหล่งข่าว กล่าว
สอดคล้องกับท่าทีของกองทัพไทย ที่จะขอดูความจำเป็นและท่าทีของชาติสมาชิกใน การฝึกคอบร้าโกลด์ 2013 ก่อน ถ้ามีการฝึกและประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งศูนย์ HADR อย่างเร่งรีบ เพราะนอกจากจะต้องเสี่ยงกับการถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองภายในประเทศที่จุดไฟเรื่องชาตินิยม ยังเสี่ยงต่อการเป็นประเทศเลือกข้าง ในภาวะการเมืองระหว่างประเทศของมหาอำนาจสองชาติ ที่กำลังใช้เรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และ บรรเทาสาธารณภัยเป็นเครื่องมือ
เหลือเพียงว่า สหรัฐฯ จะรุกหนักในรูปแบบไหน และ รัฐบาลไทย จะต่อรองและเลือกใช้ทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงจากการเลือก”มหามิตร” สองชาติที่กำลังสัประยุทธ์ กันอย่างดุเดือดได้อย่างไร หรือเป็นไฟล์ทบังคับที่ “รัฐบาล” ต้องถอยอีกก้าว